xs
xsm
sm
md
lg

“คมนาคม” ถก 'แอปฯ เรียกรถ' ยื่นร้องผ่อนปรนเงื่อนไข ขีดเส้น 90 วันเร่งขึ้นทะเบียนรถป้ายดำให้ถูกกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุรพงษ์” ถกผู้ให้บริการขีดเส้นแอปฯ เรียกรถ 11 รายเร่งขึ้นทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ป้ายดำ ใน 90 วัน ด้านแอปฯ ยื่น 6 ข้อ ขอผ่อนปรนแก้ข้อจำกัด 1 คนต่อ 1 คัน และคุยไฟแนนซ์ลดค่าภาษีและประกัน เผยรถป้ายดำจดทะเบียนแค่ 3,315 คัน หากพบไม่จดทะเบียนรับผ่านแอปฯ โทษปรับ 2 พันบาท

วันที่ 29 เม.ย. 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้ให้บริการแอปพลิเคชันสำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อพิจารณาปัญหาและข้อจำกัดในการดำเนินการทางทะเบียนของผู้ประกอบการฯ ว่า ผู้ให้บริการแอปฯ เสนอปัญหาอุปสรรคให้ภาครัฐช่วยเหลือและแก้ไขปรับปรุงกฎระเบียบข้อกฎหมายเพื่อให้มีความทันสมัยและการให้บริการที่สะดวกมากขึ้น ซึ่งผู้ประกอบการแอปฯ ขอผ่อนปรนเงื่อนไขเพื่อให้เกิดความสะดวกและคนขับไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มมากเกินไปในการนำรถยนต์ส่วนบุคคล (รถป้ายดำ) มาจดทะเบียนให้บริการผ่านแอปฯ ซึ่งขณะนี้ กรมขนส่งทางบก (ขบ.) ให้การรับรองผู้ให้บริการแอปพลิเคชันจำนวน 11 ราย แต่มีรถยนต์ส่วนบุคคลที่ขึ้นทะเบียนเป็นรถยนต์สาธาราณะให้บริการผ่านแอปฯจำนวน 3,315 คันเท่านั้น โดยได้มอบหมายให้นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เร่งหารือร่วมกับผู้ประกอบการและให้ดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคลที่ให้บริการผ่านแอปฯ ให้ครบถ้วนตามกฎหมายภายใน 90 วัน

ทั้งนี้ รัฐบาลสนับสนุนการให้บริการรถยนต์สาธารณะผ่านแอปฯ ทั้งแท็กซี่ป้ายเหลืองในระบบ และการนำรถป้ายดำมาให้บริการ แต่ต้องอยู่ภายใต้พื้นฐานของกฎระเบียบที่ ขบ.ประกาศ โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนในระบบ เพื่อให้มีข้อมูลคนขับและรถยนต์ สามารถตรวจสอบย้อนหลังได้ ทำให้ผู้โดยสารมีความมั่นใจในบริการและความปลอดภัย และบริการสาธารณะที่สะดวก ทันสมัยและมีความปลอดภัยจะส่งเสริมนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยว ซึ่งนโยบายวีซ่าฟรีทำให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นและเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวของประเทศทางหนึ่ง ซึ่งขณะนี้รถป้ายดำที่ยังไม่จดทะเบียนตามประกาศขบ.ยังเป็นรถผิดกฎหมายและห้ามให้บริการ โดยหากพบมีบทลงโทษปรับ 2,000 บาท

“กระทรวงคมนาคมและ ขบ.เชิญผู้ประกอบการแอปฯ มาทำความเข้าใจเพื่อให้รถทุกคันขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่า ขบ.ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่จะบริหารจัดการ นอกจากนี้ ยังให้ผู้ประกอบการให้ความสำคัญต่อรถแท็กซี่ป้ายเหลืองที่มี 78,000 คันเข้าระบบและให้เรียกบริการเป็นลำดับแรกด้วย” นายสุรพงษ์กล่าว


นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ยื่นขอให้แก้ปัญหาอุปสรรค 6 ข้อ ได้แก่ 1. กฎกระทรวงกำหนดเงื่อนไขการจดทะเบียนรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้เพียงคนละหนึ่งคัน และการกำหนดให้ผู้ขับรถผ่านแอปฯ ต้องเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์หรือผู้ครอบครอง ซึ่งความเป็นจริงผู้ขับรถอาจใช้รถที่เป็นชื่อของบิดา มารดา ภรรยา บุตรหรือเพื่อนในการขับรถ จึงเป็นข้อจำกัดในการจดทะเบียน นั้น ที่ประชุมได้มอบให้ ขบ.รับไปพิจารณาและดำเนินการตามข้อกฎหมาย และข้อกำหนด นอกจากนี้ ได้มอบให้ ขบ.จัดทำมาตรฐานกลางแอปพลิเคชันเพื่อให้สามารถใช้กำกับดูแลได้อย่างเท่าเทียม

2. กรณีผู้ขับรถยนต์ที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่างวดตามสัญญาเช่าซื้อไม่สามารถใช้สำเนาใบคู่มือจดทะเบียนรถในการจดทะเบียนได้ และผู้ขับรถที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระค่างวดตามสัญญาเช่า ยังต้องขอเอกสารจากไฟแนนซ์เพิ่มเติม (หนังสือรับรองและหนังสือมอบอำนาจจากบริษัทไฟแนนซ์) นั้น ที่ประชุมมอบให้ ขบ.เชิญไฟแนนซ์มาเจรจาเรื่องการผ่อนปรนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าประกันภัยและค่าภาษีเพื่อลดภาระให้ผู้ขับรถยนต์ เนื่องจากเห็นว่าการนำรถมาวิ่งบริการจะเพิ่มรายได้ให้เจ้าของรถซึ่งจะเป็นผลดีต่อไฟแนนซ์มากกว่า

3. ขอให้เปิดยื่นคำขอและดำเนินการลงทะเบียน รย.18 ผ่านระบบออนไลน์ โดยเมื่อผู้ขับรถยื่นคำขอและตรวจคุณสมบัติเบื้องต้นแล้วให้มีการออกใบอนุญาตชั่วคราวสำหรับให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งขณะนี้ ขบ.ให้สามารถยื่นคำขอและเอกสารได้ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น อีเมล จากนั้นจะจัดอบรมให้เป็นกลุ่ม ในวันเสาร์-อาทิตย์ หลังจากผ่านการอบรมแล้ว ขบ.จะออกใบแทนให้สามารถนำมาจดทะเบียนเพื่อนำไปประกอบอาชีพได้ต่อไป

4. ขอให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีของรถจักรยานยนต์สาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้สอดคล้องกับรูปแบบการให้บริการปัจจุบัน โดยในส่วนของกรุงเทพฯ ขบ.จะเร่งรัดดำเนินการให้ไม่เกิน 10 วัน ส่วนต่างจังหวัด ขบ.จะพิจารณาแนวทางให้มีความรวดเร็วยิ่งขึ้นต่อไป

5. ขอให้พิจารณาเชิญผู้แทนจากผู้ให้บริการแอปฯ สำหรับรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการบูรณาการเพื่อแก้ไขปัญหาการขนส่งสาธารณะ โดย ขบ.แนะนำให้กลุ่มผู้ให้บริการแอปฯ จัดตั้งกลุ่มในรูปแบบของสมาคม จึงจะสามารถเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการฯ ได้ ซึ่งทางกลุ่มผู้ให้บริการแอปฯ อยู่ระหว่างดำเนินการ

6. การยกระดับกฎหมายสำหรับแท็กซี่ วินมอเตอร์ไซค์ รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และจักรยานยนต์สาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งที่ประชุมได้มอบให้ ขบ.พิจารณาและดำเนินการยกระดับกฎหมายให้มีความทันสมัย ภายใต้ความเสมอภาค เท่าเทียม และเป็นธรรม


ปัจจุบันกรมขนส่งทางบกให้การรับรองผู้ให้บริการแอปพลิเคชันตามกฎกระทรวงรถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2564 จำนวน 11 ราย ได้แก่ 1. บริษัท แกร็บแท็กซี่ (ประเทศไทย) จำกัด 2. บริษัท โบลท์ ซัพพอร์ต เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด 3. บริษัท เพอร์เพิล เวนเจอร์ส จำกัด 4. บริษัท ดอยดู ดิจิทัล (ประเทศไทย) จำกัด 5. บริษัท แท็กซ์สี (ไทยแลนด์) จำกัด 6. บริษัท ทาดา โมบิลิตี้ (ไทยแลนด์) จำกัด 7. บริษัท บอนกุ เทคโนโลจีส์ จำกัด 8. บริษัท ฮัลโหลภูเก็ต เซอร์วิส จำกัด 9. บริษัท แอร์เอเชีย ซูเปอร์แอพ (ประเทศไทย) จำกัด 10. บริษัท ไลน์แมน (ประเทศไทย) จำกัด 11. บริษัท เอเชีย เค็บ จำกัด

โดยข้อมูลเดือน มี.ค. 2567 มีรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเป็นรถสาธารณะ (รย.18) จำนวน 3,315 คัน และมีรถจักรยานยนต์จดทะเบียนเป็นรถจักรยานยนต์สาธารณะ (รย.17) จำนวน 232 คัน


กำลังโหลดความคิดเห็น