xs
xsm
sm
md
lg

เปิดฤดูผลไม้! ปีนี้มี 6.765 ล้านตัน “พาณิชย์” โชว์ความพร้อมอัปราคา เร่งระบายผลผลิต-กระตุ้นบริโภค-ดันส่งออก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปีนี้ผลผลิตผลไม้ทั่วประเทศมีปริมาณ 6.765 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ที่ผ่านมา 1.1 แสนตัน หรือเพิ่มขึ้น 2% และนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 นี้เป็นต้นไปจะเข้าสู่ฤดูกาลผลไม้อย่างเป็นทางการ หรือพูดได้ว่าได้ฤกษ์เปิดฤดูผลไม้แล้วก็ไม่ผิด เพราะจะมีผลไม้หลากหลายชนิดออกสู่ตลาดมาให้ลิ้มลอง ทั้งทุเรียน มังคุด เงาะ ลิ้นจี่ ลำไย ลองกอง รวมถึงมะม่วง ส้มเขียวหวาน ส้มโอ ที่ทยอยออกมาก่อนหน้านี้แล้ว

ทั้งนี้ ผลไม้ตัวแรกที่ได้ออกสู่ตลาด คือ ส้มเขียวหวานภาคเหนือ ออกช่วง ม.ค.-ก.พ. ตามด้วยส้มโอภาคเหนือ ก.พ.-มี.ค. ส่วนภาคกลางและใต้จะออกช่วง ส.ค.-ก.ย. มะม่วงภาคกลาง อีสาน และเหนือ เริ่มออก เม.ย.-มิ.ย. ทุเรียน มังคุด เงาะ ของภาคตะวันออก เริ่มออก เม.ย.-มิ.ย. และต่อด้วยภาคใต้ มิ.ย.-ส.ค. ลิ้นจี่ เริ่มออก พ.ค.-มิ.ย. สับปะรด ภาคตะวันออกและกลาง พ.ค.-มิ.ย. ลำไย ภาคเหนือ ก.ค.-ส.ค. ลองกอง ภาคตะวันออก เหนือและใต้ ก.ค.-ต.ค.

จากผลผลิตผลไม้ทั้งหมด แบ่งเป็นการบริโภคในประเทศ แบบสดประมาณ 1.29 ล้านตัน และแปรรูปประมาณ 4.7 แสนตัน รวม 1.76 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วน 26% ของผลไม้ทั้งหมด อีก 74% เป็นการส่งออกไปขายต่างประเทศ เป็นแบบสดประมาณ 3.11 ล้านตัน และแปรรูป 1.9 ล้านตัน รวม 5.01 ล้านตัน

หากแยกเป็นสัดส่วนการบริโภคในประเทศเป็นรายผลไม้ พบว่า ทุเรียนบริโภคในประเทศ 24% ส่งออก 76% มังคุด บริโภคในประเทศ 9% ส่งออก 91% ลำไย บริโภคในประเทศ 20% ส่งออก 80% เงาะ บริโภคในประเทศ 96% ส่งออก 4% ลองกอง บริโภคในประเทศ 96% ส่งออก 4% ลิ้นจี่ บริโภคในประเทศ 81% ส่งออก 19% มะม่วง บริโภคในประเทศ 84% ส่งออก 16% สับปะรด บริโภคในประเทศ 22% ส่งออก 88% ส้มเขียวหวาน บริโภคในประเทศ 99% ส่งออก 1% และส้มโอ บริโภคในประเทศ 82% ส่งออก 18%


เปิด 6 มาตรการ 25 แผน ดูแลผลไม้

ในปีนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เตรียมมาตรการบริหารจัดการผลไม้ ปี 2567 ไว้ล่วงหน้าก่อนที่ผลผลิตจะออกสู่ตลาดมาตั้งแต่ช่วงเดือน ธ.ค.2566 มีจำนวน 6 มาตรการ 25 แผนงาน ได้แก่ 1. มาตรการส่งเสริมการผลิต-แปรรูป 2 แผนงาน ได้แก่ 1. เร่งรัดตรวจรับรองแปลง GAP 1.2 แสนแปลง 2. ส่งเสริมการแปรรูปทุเรียน ลำไย มะม่วง รวม 3.2 แสนตัน

2. มาตรการส่งเสริมตลาดในประเทศ 7 แผนงาน ได้แก่ 1. จัดทำเกษตรพันธสัญญา ทุเรียน มังคุด ลำไย สับปะรด ลองกอง มะม่วง เงาะ ส้ม ลิ้นจี่ มะพร้าว ส้มโอ เป็นต้น เป้าหมาย 1 แสนตัน 2. กระจายออกนอกแหล่งผลิต 9 หมื่นตัน โดยผู้รวบรวมซื้อผลไม้กระจายออกนอกแหล่งผลิต รัฐช่วยค่าบริหารจัดการ 3 บาท/กิโลกรัม (กก.) 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการผลไม้ตามมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ 1.5 แสนตัน โดยผู้ประกอบการรับซื้อ คัดแยก และบริหารจัดการคุณภาพผลไม้ตามมาตรฐานการค้าระหว่างประเทศ ช่วยค่าบริหารจัดการ 4 บาท/กก. 4. จัดรณรงค์บริโภคผลไม้ เป้าหมาย 2.37 แสนตัน โดยส่งเสริมการขายช่องทางใหม่ให้เกษตรกร ทั้งจำหน่ายออนไลน์ ออฟไลน์ ผ่านสถานีโทรทัศน์ 10 แห่ง ประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลไม้โดย KOL ที่มีชื่อเสียงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Tiktok และ IG ประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางการจำหน่ายผลไม้ในโครงการเพื่อกระตุ้นการซื้อให้ทั่วถึง ประกวดเมนูอาหารที่ทำจากผลไม้สดและนวัตกรรมแปรรูปโดยเชฟที่มีชื่อเสียง และจัดพาณิชย์ Fruit Festival 2024 จำหน่ายผลไม้ในห้างค้าปลีก-ค้าส่ง ห้างท้องถิ่น สถานีบริการน้ำมัน รถเร่ รถโมบายล์ แหล่งชุมชน หมู่บ้านจัดสรร คอนโดฯ หน่วยงานรัฐและเอกชน 5. สนับสนุนกล่องไปรษณีย์ 3,000 ตัน หรือแจกกล่อง 10 กก./กล่อง จำนวน 3 แสนกล่อง และไปรษณีย์ไทยจัดส่งฟรี 6. โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องฟรี 20 กก. ปริมาณ 100 ตัน โดยโหลดผลไม้ขึ้น 4 สายการบิน ได้แก่ Air Asia , Thai smile , NOK Air และ Thai Lion Air ไม่เสียค่ารับบรรทุก โดยใช้กล่อง DIT 5 กก./กล่อง จำนวน 20,000 กล่อง ให้บริการทุกสนามบินในประเทศ และ 7. เสริมสภาพคล่องการบริหารจัดการผลไม้ วงเงินกู้ 3,340 ล้านบาท ช่วยดอกเบี้ยผู้ประกอบการในการรับซื้อผลไม้ 3% ต่อปี ไม่เกิน 6 เดือน

3. มาตรการส่งเสริมตลาดต่างประเทศ 6 แผนงาน ได้แก่ 1. มหกรรมการค้าชายแดน 3 ภาค จำหน่ายผลไม้ไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 2. จับคู่ธุรกิจ (Business Matching) เป้าหมาย 650 ล้านบาท โดยทูตพาณิชย์เชื่อมโยงผู้นำเข้าทั่วโลกมาซื้อขายในงาน การเจรจาการค้า Onsite-Online สินค้าผลไม้สด-แห้ง แปรรูป-นวัตกรรม ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วเมื่อเดือน ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา 3. ส่งเสริมการขายในต่างประเทศ (Trade Promotion) จัดเอง 3 กิจกรรม เป้าหมาย 340 ล้านบาท ช่วง ต.ค. 2566-ก.ย. 2567 ได้แก่ In-Store Promotion ในตลาดศักยภาพ 7 ตลาด ตลาดส่งเสริมภาพลักษณ์ 2 ภูมิภาค ตลาดที่สะดวกต่อการขนส่ง 4 ประเทศ (CLMV) จัด Thai Fruits Golden Months 9 โครงการ จัด Top Thai Store 9 ประเทศ (สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา ไต้หวัน จีน อินเดีย อินโดนีเซีย สหรัฐฯ) 4. ร่วมงานแสดงสินค้านานาชาติ (Trade Fairs) ต่างประเทศ 6 โครงการ จัดเองในประเทศ 1 โครงการ เป้าหมาย 34,040 ล้านบาท ตั้งแต่ ต.ค. 2566-ก.ย. 2567 ได้แก่ ANUGA (เยอรมนี) 7-11 ต.ค. 2566 BIOFACH (เยอรมนี) 13-16 ก.พ. 2567 GULFOOD (สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) 19-23 ก.พ. 2567 FOODEX Japan (ญี่ปุ่น) 5-8 มี.ค. 2567 THAIFEX-ANUGA Asia (ไทย) 28 พ.ค.-1 มิ.ย. 2567 SEOUL Food & Hotel (เกาหลีใต้) 11-14 มิ.ย. 2567 Fine Food Australia (ออสเตรเลีย) 2-5 ก.ย. 2567 5. ส่งเสริมเมนูผลไม้ไทยตามฤดูกาล ในร้านอาหาร Thai Select ทั่วโลก โดยทูตพาณิชย์จัดกิจกรรมร่วมกับร้านอาหาร Thai Select ทำเมนูของหวานจากผลไม้ไทยตามฤดูกาล 6. คณะผู้แทนการค้าสินค้าเกษตรเยือนต่างประเทศ 2 โครงการ เป้าหมาย 80 ล้านบาท ตั้งแต่ต.ค. 2566-ก.ย. 2567 โดยภูมิภาคแอฟริกา ก.ค. 2567 ผู้ส่งออกไทย 15 ราย อินโดนีเซีย มิ.ย.-ก.ย. 2567 ผู้ส่งออก 28 ราย


4. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพทางการค้า 5 แผนงาน ได้แก่ 1. คณะทำงานผลักดันการส่งออกผลไม้ไทย รัฐร่วมเอกชน ติดตามสถานการณ์ ประสานงาน แก้ไขปัญหาการส่งออกผลไม้ 2. ผลักดันการใช้ประโยชน์การค้าจาก FTA เป้าหมาย 95 ล้านบาททุกความตกลง ส่งเสริมส่งออกสินค้าที่ได้รับโควตาตาม FTA เน้นสินค้ากล้วยไปตลาดญี่ปุ่น 3. สื่อประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย สร้างการรับรู้ในตลาดจีนและตลาดศักยภาพ โดยจัดโครงการประชาสัมพันธ์ผลไม้ไทย (Country Brand) ปีที่ 2 จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ ใช้ KOL (Key Opinion Leader) ใช้ Character ในการสร้างภาพลักษณ์ 4. เจรจาผ่อนคลายมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศ โดยลดภาษีประเทศคู่ค้า เน้นเกาหลีใต้ สินค้ามะม่วง ทุเรียน และลดอุปสรรคการค้าส่งออกผลไม้ 5. อบรมการตลาด เพื่อการค้าในประเทศและส่งออก 150 คน อบรมโครงการนักการตลาดมืออาชีพ

5. มาตรการอำนวยความสะดวกการค้า 3 แผนงาน ได้แก่ 1. ผ่อนปรนเคลื่อนย้ายแรงงาน 2. สนับสนุนการคัดแยก-ขนย้าย ซึ่งแผนงานที่ 1 และ 2 จะดำเนินการเมื่อมีความจำเป็น และ 3. ทีมเซลส์แมนจังหวัด-ประเทศ โดยเชื่อมโยงจังหวัดต้นทาง-ปลายทาง และเชื่อมโยงในประเทศ-ต่างประเทศ


6. มาตรการกฎหมาย 2 แผนงาน ได้แก่ 1. ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ เวลา 08.00 น. หรือทันทีที่เปิดรับซื้อ รับซื้อตามราคาที่ปิดป้าย 2. การป้องปรามและปราบปราม 5 กฎหมาย คือ พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ กรณีกดราคารับซื้อ จำคุก 7 ปี ปรับ 1.4 แสนบาท กรณีไม่ปิดป้ายแสดงราคารับซื้อ ปรับ 1 หมื่นบาท พ.ร.บ.ชั่งตวงวัด กรณีดัดแปลงแก้ไข จำคุก 7 ปี ปรับ 2.8 แสนบาท ใช้เครื่องชั่งไม่ตรง ไม่มีคำรับรอง จำคุก 6 เดือน ปรับ 2 หมื่นบาท พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า กรณีฮั๊วราคาซื้อ จำคุก 2 ปี ปรับ 10% ของรายได้ปีที่กระทำผิด ประมวลกฎหมายอาญา กรณีหลอกลวง ซื้อ-ขาย-ส่งออกทุเรียนอ่อน จำคุก 3 ปี ปรับ 6,000 บาท และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค กรณีหลอกลวง ซื้อ-ขาย-ส่งออกทุเรียนอ่อน จำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท

มะม่วงปีนี้ราคาฉลุย

นายกรนิจ โนนจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ฤดูกาลผลไม้เริ่มแล้ว เริ่มจากมะม่วงภาคกลางที่ผลผลิตออกมาตั้งแต่เดือน ก.พ.-มี.ค. ส่วนใหญ่เป็นมะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงฟ้าลั่น ออกมาแล้วประมาณ 95% ถือว่าราคาปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก โดยน้ำดอกไม้เกรดส่งออกราคา 60 บาท/กก. ปีที่แล้ว 50 บาท/กก. เกรด A ราคา 35-40 บาท/กก. ปีที่แล้ว 25-30 บาท/กก. เกรดคละ 20 บาท/กก. ปีที่แล้ว 10-12 บาท/กก. ส่วนฟ้าลั่น เกรด 1 ราคา 25 บาท/กก. ปีที่แล้ว 20 บาท/กก. เกรดคละ 10-15 บาท/กก. ปีที่แล้ว 5-7 บาท/กก. และโชคอนันต์ ราคา 10-15 บาท/กก. ปีที่แล้ว 7-9 บาท/กก. ซึ่งได้อานิสงค์จากการท่องเที่ยวฟื้นตัว มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามาก

ทั้งนี้ ต่อไปจะเป็นมะม่วงภาคเหนือ เป็นมะม่วงแฟนซี ที่ผลผลิตจะออกมา ซึ่งกรมได้ติดตามใกล้ชิด และมีมาตรการที่จะเข้าไปดูแลแล้ว ทั้งการเชื่อมโยงผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ การเร่งกระจายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต โดยมีพันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยมากมาย ทั้งห้างสรรพสินค้า ห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างท้องถิ่น โมบายล์ธงฟ้า และมีแผนที่จะระบายผ่านหมู่บ้าน คอนโดมิเนียม


ทุเรียน-มังคุดภาคตะวันออกเริ่มออก

นายกรนิจกล่าวว่า ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 เป็นต้นไปเป็นฤดูผลไม้ของภาคตะวันออก จันทบุรี ระยอง ตราด โดยทุเรียน ทั้งประเทศมีปริมาณ 1.526 ล้านตัน เพิ่ม 3% มังคุด 2.81 แสนตัน เพิ่ม 4% เฉพาะภาคตะวันออก ทุเรียนมีปริมาณ 8.23 แสนตัน เพิ่ม 6% มังคุด 1.39 แสนตัน เพิ่ม 15% ตอนนี้ทุเรียนออกแล้วประมาณ 10% ราคาอยู่ในเกณฑ์ดี เกรด AB 195-205 บาท/กก. ปีที่แล้ว 166 บาท/กก. เกรด C ราคา 130-140 บาท/กก. ปีที่แล้ว 120 บาท/กก. เกรด D ราคา 100-125 บาท/กก. ปีที่แล้ว 100 บาท/กก.

ส่วนมังคุด ผลผลิตออกแล้วประมาณ 6% ซึ่งปีนี้ผลผลิตสุกเร็วเพราะร้อนจัด และก่อนหน้าอยู่ในช่วงสงกรานต์ ทำให้สถานการณ์ด้านราคาอ่อนตัวลง แต่หลังจากสงกรานต์ ผู้ประกอบการ และล้งได้เปิดรับซื้อเต็มที่ ทำให้ราคาปรับตัวดีขึ้น โดยราคาเมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2567 เกรดมันรวม 79.89 บาท/กก. เกรดกาก 61.89 บาท/กก. ตกไซส์ 38.20 บาท/กก. เกรดดำ 27.39 บาท/กก. และแตก 16 บาท/กก. และราคาที่ลานประมูล เกรดมันรวม 82.60 บาท/กก. เกรดมันรอง 65.89 บาท/กก. เกรดกาก 58.85 บาท/กก. และเกรดตกไซส์ 33.67 บาท/กก.

“กรณีที่มีข่าวราคามังคุดจาก 300 บาท/กก. ลดเหลือ 50 บาท/กก. เป็นมังคุดผิวมันเกรดส่งออก ซึ่งเป็นราคารับซื้อช่วงเปิดฤดูกาลประมาณ 1-2 วันแรกเท่านั้น เกษตรกรขายได้อย่างมากคนละ 50-100 กก. เพราะผลผลิตมีน้อย แต่ตลาดที่ซื้อไปส่งออกมีมาก ทำให้เกิดการแย่งกันซื้อ ราคาเปิดรับซื้อมังคุดจึงค่อนข้างสูง ซึ่งเป็นระยะเวลาสั้นๆ ต่อมาเมื่อปริมาณผลผลิตมังคุดเริ่มทยอยออกมา ราคาก็ปรับลดลงตามภาวะตลาด” นายกรนิจกล่าว

ทั้งนี้ เมื่อผลไม้ภาคตะวันออกหมดก็จะเป็นผลไม้ภาคใต้ แต่ระหว่างนี้ก็จะมีลิ้นจี่ภาคเหนือ ลำไยภาคเหนือ สับปะรด มะม่วง ส้มโอ ที่จะแทรกเข้ามา และปิดท้ายด้วยลองกอง ก็จะจบฤดูกาลผลไม้


เปิดแผนรับมือช่วงผลผลิตมาก

นายกรนิจกล่าวว่า ปีนี้ผลผลิตผลไม้มี 6.765 ล้านตัน คาดการณ์การบริโภคในประเทศประมาณ 26% หรือประมาณ 1.76 ล้านตัน ที่เหลือส่งออก 74% หรือประมาณ 5.01 ล้านตัน โดยกระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2567 ไว้ที่ปริมาณ 4.27 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 4% มูลค่า 9,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4% หรือประมาณ 3.12 แสนล้านบาท เพิ่ม 4% โดยในช่วงที่ผลผลิตออกมาก นายภูมิธรรมได้สั่งการให้ใช้มาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 อย่างเข้มข้นทุกมาตรการ ซึ่งกรมได้เตรียมมาตรการเอาไว้พร้อมแล้ว และได้นำร่องดำเนินการไปแล้วในส่วนของมะม่วง ที่ได้นำผู้ประกอบการไปเชื่อมโยงรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร ทำให้ราคามะม่วงปีนี้อยู่ในเกณฑ์ดีมาก

ส่วนแผนรับมืออื่นๆ จะเป็นการดำเนินการตามมาตรการบริหารจัดการผลไม้ โดยจะใช้มาตรการที่ดำเนินการได้เร็วและรุกก่อน เริ่มจากการประสานผู้ประกอบการเข้าไปรับซื้อ และเร่งระบายผลผลิตออกจากแหล่งผลิตโดยเร็ว ด้วยการกระจายผ่านห้างค้าส่งค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ห้างท้องถิ่น ปั๊มน้ำมัน โมบายล์พาณิชย์ และกำลังจะคุยกับหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม เพื่อให้เปิดจุดจำหน่ายผลไม้ ซึ่งเคยทำมาปีที่แล้ว ได้รับการตอบรับเป็นอย่างมาก ประชาชนให้ความสนใจ เพราะมีผลไม้มาให้ซื้อถึงที่

ปีที่แล้วกรมได้ร่วมมือกับผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ 7 ราย เปิดพื้นที่ให้นำผลไม้และสินค้าอุปโภคบริโภคราคาถูกมาจำหน่ายให้กับลูกบ้านจำนวน 67 หมู่บ้าน และคอนโดมิเนียม 35 แห่ง มีผู้พักอาศัยกว่า 52,000 ครัวเรือน


นอกจากนี้ ยังมีมาตรการอื่นๆ ที่จะดำเนินการ เช่น การส่งเสริมการแปรรูป หากผลผลิตออกมา ก็จะผลักดันให้มีการนำไปแปรรูป ทั้งทุเรียน ลำไย มะม่วง จัดรณรงค์บริโภคผลไม้ ด้วยช่องทางการค้าใหม่ โดยจำหน่ายผ่านสถานีโทรทัศน์ 10 แห่ง ประชาสัมพันธ์และจำหน่ายผลไม้โดย KOL และอินฟลูเอนเซอร์ที่มีชื่อเสียงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Tiktok และ IG และจัดประกวดเมนูอาหารที่ทำจากผลไม้สดและนวัตกรรมแปรรูปโดยเชฟที่มีชื่อเสียง รวมทั้งจะจัดพาณิชย์ Fruit Festival 2024 เพื่อกระตุ้นการบริโภคผลไม้ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้วช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา นำผลไม้สด ผลไม้แปรรูป ขนมหวานทำจากผลไม้ ไอศกรีมผลไม้ รวม 75 รายการ ไปจำหน่ายที่ท้องสนามหลวง ปรากฏว่าได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ และช่วยกระตุ้นการบริโภคผลไม้ได้เป็นอย่างมาก ซึ่งกรมมีแผนที่จะจัดต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่เหมาะสม

ขณะเดียวกัน จะสนับสนุนกล่องไปรษณีย์ให้เกษตรกรจำนวน 3 แสนกล่อง และไปรษณีย์จะจัดส่งให้ฟรีเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร มีช่องทางในการขายผลไม้ได้เพิ่มขึ้น และยังได้ประสาน 4 สายการบิน ได้แก่ แอร์เอเชีย ไทยสมายล์ นกแอร์ และไทยไลอ้อนแอร์ ให้โหลดผลไม้ขึ้นเครื่องได้ฟรี 20 กก. โดยกรมจะสนับสนุนกล่อง และให้บริการในสนามบินที่เป็นแหล่งปลูกผลไม้ รวมทั้งมีมาตรการช่วยเสริมสภาพคล่องการบริหารจัดการผลไม้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยจะช่วยลดภาระดอกเบี้ย 3% ไม่เกิน 6 เดือน เป็นต้น

กรมมั่นใจว่าจากมาตรการบริหารจัดการผลไม้ปี 2567 ที่นายภูมิธรรมได้วางแผนรับมือเอาไว้ล่วงหน้า 6 มาตรการ 25 แผนงาน จะสามารถดูแลราคาผลไม้ในปีนี้ให้อยู่ในเกณฑ์ดีได้ตลอดทั้งฤดูกาล เพราะมีมาตรการครอบคลุมทั้งด้านการผลิต การตลาด โดยด้านตลาดได้เร่งระบายผลผลิตออกจากแหล่งผลิต เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อราคา การกระตุ้นการบริโภคในประเทศผ่านวิธีการใหม่ๆ โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ และการจัดพาณิชย์ Fruit Festival 2024 และการกระตุ้นการส่งออก และผลักดันผ่านการค้าชายแดน ซึ่งกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ และกรมการค้าต่างประเทศ ได้มีการดำเนินการอย่างเต็มที่ ทำให้ปีนี้น่าจะเป็นปีที่ดีสำหรับชาวสวนผลไม้อีกปีหนึ่ง” นายกรนิจกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น