“พาณิชย์-แรงงาน” ผนึกกำลังช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับแรงงาน ม.33 ผ่านธุรกิจแฟรนไชส์ เตรียมนำเงินกองทุนประกันสังคม 2,000 ล้านค้ำประกันเงินกู้ให้กับแรงงานที่จะกู้ไปซื้อแฟรนไชส์มาทำธุรกิจ คิดดอกเบี้ยอัตราพิเศษ พร้อมเดินหน้าจัดมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย เดือน มิ.ย.นี้ คาดสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ 140 ล้าน
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะอนุกรรมการส่งเสริมและยกระดับ SMEs ไทย ที่กระทรวงพาณิชย์ ว่า ได้หารือกับสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคาร SME D Bank และธนาคารออมสิน ในการจัดทำโครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ ให้กับแรงงานในกลุ่ม ม.33 ที่มาขึ้นทะเบียน โดยจะนำเงินจากกองทุนประกันสังคมประมาณ 2,000 ล้านบาท มาใช้ค้ำประกันเงินกู้ และทั้ง 3 สถาบันการเงิน จะเป็นผู้พิจารณาปล่อยกู้ให้กับแรงงานในอัตราดอกเบี้ยพิเศษ เพื่อนำไปซื้อแฟรนไชส์มาใช้ประกอบอาชีพและเพิ่มรายได้
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะรวบรวมข้อมูลรายชื่อธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในการส่งเสริมของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ที่แรงงานสามารถซื้อไปประกอบอาชีพ และสถาบันการเงิน จะจัดทำรายละเอียดการปล่อยกู้ เงื่อนไขต่าง ๆ และอัตราดอกเบี้ย จากนั้นจะมีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป
ส่วนกลุ่มอื่น ๆ นอกเหนือจากแรงงาน ม.33 ได้ช่วยสร้างอาชีพผ่านแฟรนไชส์ โดยได้มีการเจรจากับห้างค้าปลีกชั้นนำ ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ได้แก่ เชลล์ บางจาก โออาร์ และพีที รวมถึงตลาดนัดชุมชน อาทิ ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดเยสบางพลี เพื่อนำเสนอพื้นที่ทำเลทองให้กับผู้ที่สนใจ ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งได้ดำเนินการไปแล้ว และได้ผลตอบรับเป็นอย่างดี
นายนภินทรกล่าวว่า ที่ประชุมยังได้ติดตามความคืบหน้าการเตรียมจัดงานมหกรรมรวมพลัง SMEs ไทย เพื่อช่วยขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ SMEs โดยกำหนดจัดปลายเดือน มิ.ย.2567 ที่ศูนย์แสดงสินค้าชั้นนำในกรุงเทพฯ มีกิจกรรม รวม 7 โซน ได้แก่ 1.โซนให้ความรู้ผ่านการสัมมนาหัวข้อที่ SMEs จำเป็นต้องรู้เพื่อใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น กฎระเบียบด้านการค้าระหว่างประเทศ สิทธิประโยชน์ FTA และแนวทางการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น 2.โซนแสดงและจำหน่ายสินค้าและบริการของ SMEs เช่น ธุรกิจแฟรนไชส์ ธุรกิจอาหาร ผลิตภัณฑ์ชุมชน เป็นต้น 3.โซนเจรจาจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างคู่ค้าทางธุรกิจและหน่วยงานพันธมิตร 4.โซนพื้นที่การค้าราคาพิเศษ เช่น พื้นที่ในตลาดชุมชน สถานีบริการน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า 5.โซนการให้สินเชื่ออัตราพิเศษจากสถาบันการเงินเพื่อช่วยให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น 6.โซนแสดงเทคโนโลยีและบริการด้านดิจิทัล (Digital Business Solution) และ 7.โซนจัดแสดงนิทรรศการและพื้นที่สำหรับหน่วยงานพันธมิตรที่เข้าร่วม ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 10,000 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 140 ล้านบาท
สำหรับความคืบหน้าการดำเนินงานตามโรดแมปในการส่งเสริมและแก้ปัญหาให้กับ SMEs ประสบความสำเร็จด้วยดี ทั้งการจัดทำหลักสูตรการทำธุรกิจให้ SMEs ได้เรียนรู้ การผลักดันการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ ซึ่งมีการขึ้นทะเบียนได้แล้ว 9 รายการ จากเป้าหมาย 20 รายการจาก 15 จังหวัด การพัฒนาร้านโชห่วยด้วยระบบการค้าสมัยใหม่ ให้เป็นสมาร์ทโชห่วย มีการส่งเสริม SMEs สามารถเข้ามาแข่งขันในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (THAI SME-GP) ผลักดันให้ SMEs มีช่องทางขายออนไลน์เพิ่มขึ้น และส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ