“คมนาคม”คาดสงกรานต์ 7 วันประชาชนใช้ขนส่งสาธารณะเดินทางรวม 2.05 ล้านคน-เที่ยว รถบขส. 772,730 คน รถไฟ645,600 คน สนามบิน 629,365 คน เพิ่มขึ้น 23.95% “สุรพงษ์”ย้ำอุบัติเหตุเป็นศูนย์ รถสองชั้นทุกคันต้องผ่านตรวจสภาพก่อนวิ่งเสริม รถสาธารณะตรวจเข้มจุด Checklist ทั่วประเทศ
วันที่ 5 เมษายน 2567 นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มอบนโยบายและเปิดกิจกรรมรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2567 ภายใต้ชื่อ “Smart Seamless เชื่อมรถ ต่อราง สะดวกเดินทาง สร้างความปลอดภัยในช่วงสงกรานต์” พร้อมด้วย นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง นายอวิรุทธ์ ทองเนตร รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายอรรถวิท รักจำรูญ กรรมการ รักษาการแทน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ขนส่ง จำกัด เข้าร่วมงาน โดยกิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์แผนการดำเนินมาตรการของการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในช่วงเทศกาลฯ ของกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัด
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า เทศกาลสงกรานต์เป็นช่วงวันหยุดยาวที่ประชาชนนิยมเดินทางกลับภูมิลำเนาและมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางไปพักผ่อนท่องเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ จำนวนมาก โดยในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 คาดการณ์การว่าการเดินทางของประชาชน ด้วยขนส่งสาธารณะระหว่างจังหวัด ระหว่างวันที่ 11 - 17 เมษายน 2567 รวม 7 วัน มีปริมาณผู้โดยสาร 2.05 ล้านคน-เที่ยว รถบขส. 772,730 คน รถไฟระหว่างเมือง 645,600 คน ท่าอากาศยาน 629,365 คน เพิ่มจากเทศกาลสงกรานต์ ปี 66 23.95%
รัฐบาล นำโดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบนโยบายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินมาตรการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยของประชาชนเพื่อให้เดินทางถึงที่หมายได้อย่างปลอดภัยและลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุในช่วง 7 วันอันตราย โดย “อุบัติเหตุ ต้องเป็น “ศูนย์” บริการระบบขนส่งสาธารณะให้เข้าถึงง่าย เพียงพอไม่ล่าช้า ไม่มีผู้โดยสารตกค้าง ไม่โก่งราคา ไม่ทิ้งผู้โดยสาร และทันกับเหตุการณ์ รวมถึงบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเชื่อโยงระบบการขนส่งสธารณะ เพื่อตอบโจทย์นโยบาย “สะดวก สบาย ปลอดภัย ไร้รอยต่อ”
โดยบขส. และ ขสมก. กำหนดจุดจอดและปรับปรุงทางเชื่อมที่มีความสะดวก สบายมากขึ้น จัดพื้นที่จอดรถแท็กซี่ (TAXI) และระบบการบริหารจัดการเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของประชาชนในแต่ละช่วงเวลาลดปัญหาการจราจรติดขัดภายในและภายนอกสถานี อีกทั้ง เตรียมการให้รถโดยสารสาธารณะทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สนับสนุนการทำหน้าที่ Feeder เชื่อมสถานีรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ ได้อย่างไร้รอยต่อทั่วประเทศ การพัฒนาระบบการบริหารจัดการและระบบการจราจรภายในสถานีขนส่งผู้โดยสาร ได้มีการปรับรูปแบบการจราจร พื้นที่จอดรถ ชานชาลาสำหรับรถขาเข้า ขาออก ในสถานีขนส่งผู้โดยสารให้มีระบบการจราจรที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ การบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานเพื่อยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชนประกอบด้วย ผู้ตรวจการกรมการขนส่งทางบก เจ้าหน้าที่ตรวจการ บขส. เจ้าหน้าที่สายตรวจพิเศษ ขสมก. และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ดำเนินมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันมิให้มิจฉาชีพเข้ามาหลอกลวง สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนภายในสถานนีขนส่งผู้โดยสาร
การยกระดับความปลอดภัยให้กับประชาชน ตรวจเข้มความพร้อมของรถโดยสารและพนักงานขับรถแบบ 100% ตาม Checklist ณ สถานีขนส่งผู้โดยสาร 123 แห่ง จุดจอด จำนวน 55 แห่ง จุดตรวจความปลอดภัย (Rest Area) จำนวน 13 จังหวัด 16 จุด และจุด Checking Point จำนวน 26 จังหวัด 28 จุด ทั้งก่อนให้บริการและระหว่างเส้นทางการเดินทางผ่านจุด Checking Point ทั่วประเทศ ตรวจสอบความเร็วสถานะการเดินทางของรถทุกคันผ่านศูนย์ GPS ของกรมการขนส่งทางบกตลอด 24 ชั่วโมง และหากพบการกระทำผิดให้มีการพิจารณาลงโทษตามกฎหมายทันที
ทั้งนี้ กรณีรถโดยสารประจำทางที่เป็นรถสองชั้นทุกคัน รวมถึงรถโดยสารไม่ประจำทางที่นำมาขออนุญาตกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อวิ่งร่วมกับเส้นทางรถโดยสารประจำทาง (รถเสริม) ต้องนำรถเข้าตรวจสภาพตามหลักเกณฑ์ของกรมการขนส่งทางบก ภายในวันที่ 7 เมษายน 2567 หากพบรถไม่พร้อมให้สั่งพ่น “ห้ามใช้” ทันทีเพื่อความปลอดภัยในการเดินทางสูงสุดของประชาชน
นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบกได้บูรณาการกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาและสถานศึกษาในเขตพื้นที่ เพื่อร่วมกันจัดตั้งศูนย์อาชีวะอาสา ร่วมด้วยช่วยประชาชน (Fix it Center) ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 จำนวน 104 จุดทั่วประเทศ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนสายหลักที่มีการจราจรหนาแน่นและสายรอง โดยจุดบริการดังกล่าวจะให้บริการตรวจเช็คสภาพรถเบื้องต้นเพื่อความปลอดภัย ให้ความช่วยเหลือผู้เดินทางกรณีฉุกเฉิน บริการรถยก (บางพื้นที่) บริการนวดผ่อนคลาย บริการผ้าเย็น น้ำดื่ม ข้อมูลเส้นทางแหล่งท่องเที่ยว และรายชื่ออู่รถที่เปิดให้บริการ เป็นต้น ซึ่งบริการเหล่านี้เป็นการให้บริการ “ฟรี” ไม่คิดค่าใช้จ่าย โดยจะให้บริการระหว่างวันที่ 11 – 17 เมษายน 2567 รวมทั้งตั้งศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะชั่วคราว ดำเนินงานศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อรับเรื่องร้องเรียนและป้องกันมิให้ผู้โดยสารถูกเอารัดเอาเปรียบจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
ขณะที่ มีการบูรณาการร่วมระหว่าง กรมการขนส่งทางราง (ขร.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท. หรือรถไฟสายสีแดง) ติดตามและประเมินผลการเดินทางโดยระบบรางอย่างใกล้ชิด ทั้งในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และในต่างจังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาได้มอบหมายให้ รฟท. เพิ่มจำนวนเที่ยวรถให้สอดรับกับปริมาณความต้องการใช้บริการของประชาชน เปิดให้มีการจองตั๋วล่วงหน้า 90 วันเพื่อให้ประชาชน มีเวลาวางแผนการเดินทางได้เพิ่มมากขึ้น และให้ รฟม. รฟฟท. พิจารณาตารางเวลาการให้บริการให้สอดรับกับการเดินทางของประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่คาดว่าจะมีประชาชนเดินทางโดยใช้ระบบสาธารณะเพิ่มสูงขึ้น