สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) หรือ “บอร์ด กสว.” ครั้งที่ 1/2567 ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแต่งตั้ง กสว.ชุดใหม่ เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2567 นำโดย ศาสตราจารย์ นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธานกรรมการ พร้อมด้วยคณะกรรมการ กสว.ร่วมประชุมนัดแรก โดยประเด็นสำคัญของการประชุมในวันนี้คือ การหารือแนวทางการดำเนินงานทำงานแบบบูรณาการแบบไร้รอยต่อ มุ่งเน้นการขับเคลื่อนงานวิจัยตอบโจทย์การพัฒนาประเทศพร้อมหนุนเสริมงานวิจัยพื้นฐานและประยุกต์ เสริมแกร่งเพื่อให้เกิดความยั่งยืน
ศาสตราจารย์ นพ.ดร.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ประธาน กสว. กล่าวว่า การทำงานของ กสว.ชุดปัจจุบันเป็นการดำเนินงานบนฐานที่เกิดขึ้นแล้ว โดยใน 4 ปีนับจากนี้ กสว.จะปั้นให้ชัดคมมากขึ้น มีการพัฒนาที่ต่อเนื่อง จากการหารือกับ Stakeholder ด้าน ววน. ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่าจะทำให้ระบบวิจัยของประเทศเกิดผลกระทบที่สำคัญและพัฒนาต่อไปได้ จุดนี้ต้องอาศัยโมเมนตัมระบบวิจัยของประเทศที่ต้องตั้งเป้าให้ชัดเจนว่าในการปฏิบัติหน้าที่ของ กสว.ชุดนี้จะเกิดอะไรขึ้น เห็นผลอย่างไร ภายใต้การกำหนดเป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานของหลักคิด ความเชื่อในวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ ววน. ที่เป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
เป้าหมายสำคัญที่สุด คือ ทำให้สังคมเชื่อถือระบบวิจัย นักวิจัยเชื่อมั่นระบบขับเคลื่อนการวิจัย เกิดประโยชน์จากงานวิจัย กองทุน ววน.ใช้ทรัพยากรราว 1.7-1.9 หมื่นล้านบาท/ปี ใน 5 ปีนี้ กสว.ได้มองเห็นภาพบริหารจัดการ การดูแลทิศทางงบประมาณของประเทศในภาพรวม ขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางตามที่ประเทศต้องการ ประกอบด้วย
1. กำหนดเป้าหมายที่ชัดเจน มีกลไกขับเคลื่อนและสร้างความสำเร็จเห็นผลสัมฤทธิ์ ประชาคมวิจัยมีความเชื่อมั่นในระบบ ววน. เน้นการร่วมหารืออย่างต่อเนื่องกับทุกภาคส่วน การมีส่วนร่วมของเครือข่ายและประชาคมที่เพิ่มเติมจากที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง
2. กำหนดสัดส่วนงบประมาณที่เหมาะสม เกิดการใช้ประโยชน์ทั้งในระยะสั้น กลาง และยาว ผสานการสร้างประโยชน์และเสริมสร้างความเข้มแข็ง มีความโปร่งใส อยู่บนพื้นฐานสร้างความเสมอภาค แม้อยู่ในสภาวะงบประมาณจำกัด มุ่งให้ทุกภาคส่วนที่เป็นการลงทุนของระบบ ววน. ทั้งประชาชน ประเทศ อุตสาหกรรมได้ประโยชน์ และเห็นความสำเร็จของโครงการสำคัญของประเทศ เช่น แก้ปัญหาสภาพแวดล้อม การสร้างความมั่นคงทางสุขภาพ สนับสนุนให้เกิดรายได้ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเกษตรสมัยใหม่ เป็นต้น
3. สร้างการเจริญเติบโตและความเสถียรของกองทุน ววน. ด้วยกลไกของการกำหนดทรัพยากรส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนกิจกรรมที่สำคัญ เป็นชุดโครงการขนาดใหญ่ที่ขับเคลื่อนทั้งห่วงโซ่อุปทาน อาศัยการมีส่วนร่วม demand side approach เช่น แก้ปัญหาเรื่องฝุ่น PM 2.5 ยาและเคมีภัณฑ์ มีวัคซีนเพียงพอ น้ำท่วมน้ำแล้ง โดยระบุระยะเวลาความสำเร็จที่ชัดเจน
4. มุ่งสร้างการยอมรับให้กับกองทุน ววน.ให้เป็นที่ประจักษ์ด้วย เข้าถึงและจับต้องได้ ด้วยการมีกลยุทธ์การสื่อสารที่ชัดเจน มีการสื่อสารแบบสองทางที่พร้อมตอบคำถามสำคัญ
5. ทำให้เกิดความร่วมมือกับกลไกอื่นของประเทศ เช่น ความร่วมมือโดยตรงระหว่างกองทุน ววน.กับกองทุนอื่นๆ ราชบัณฑิตยสภา มหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดผลกระทบที่มากขึ้น รวมถึงมีแนวทางที่ชัดเจนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วยการทำแผนการปฏิบัติงานที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลง ครบถ้วน และเหมาะสมทั้งกรอบของกระบวนการ กรอบเวลาที่แน่นอน เพื่อให้มหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง
6. การปรับปรุง/แก้ไข กฎระเบียบสำคัญเพื่อให้มีความคล่องตัว มุ่งเน้นการดำเนินงานเป็นสำคัญ และการมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
รศ.ดร.วีระพงษ์ แพสุวรณ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสว. กล่าวว่า การใช้งบประมาณการวิจัยที่เป็นเครื่องมือสำคัญของการพัฒนา คือ การสร้างภูเขา ไม่ใช่การเทพื้นในแนวราบ จะเห็นความชัดเจนต้องมีการปักหมุดแบบ Top Down แต่ในขณะเดียวกันก็มีแบบ Bottom Up ได้ด้วย มุ่งที่ผลลัพธ์ผลสัมฤทธิ์มากกว่าการจัดกิจกรรม ผลของการดำเนินงานต้องระบุได้ว่า เกิดผลอย่างไร มากกว่าที่จะระบุว่า ทำอะไรไปแล้ว ที่สำคัญคือ มุ่งการทำงานแบบเชื่อมต่อกับสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) และหน่วยบริหารและจัดการทุน (PMU) ซึ่งทุกหน่วยมีบอร์ดเสนอว่าให้ทำงานแบบใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
ศาสตราจารย์ ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กสว.กล่าวว่า ภายหลังจากที่รับทราบแนวทางการดำเนินงานสภานโยบายฯ แล้ว กสว.มีหน้าที่ทำให้มีภาพของการวิจัยที่ชัดเจนขึ้น และทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องพึงพอใจ ในปัจจุบันเรามีพื้นฐานมาดีในระดับหนึ่งแล้ว สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อคือการโฟกัส เพื่อให้ฉายภาพได้ว่าจะช่วยสร้างความเข้มแข็งของชาติได้อย่างไร
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ กรรมการผู้แทนหน่วยงาน กล่าวว่า ประเด็นสำคัญของ สกสว.คือการร่วมงานกับ สอวช. อย่างไร้ร้อยต่อ เสนอให้ สกสว.ทำงานอย่างใกล้ชิด เชื่อมการทำงานกับบอร์ด สอวช.เป็นระยะๆ รวมถึงเสนอให้มีกลไกการทำงานขาขึ้นและขาลงเพื่อรับลูกต่อจากสภานโยบาย โดยมี กสว.ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนโยบายตามที่สภานโยบายได้มอบหมาย
รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ในฐานะกรรมการและเลขานุการ กสว. ให้ข้อมูลว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 รวมจำนวน 19,033,6729 ล้านบาท เป็นงบประมาณที่จัดสรรให้แก่หน่วยรับงบประมาณ 186 หน่วยงาน
จำแนกเป็นงบประมาณด้านวิจัยและนวัตกรรม 18,300 ล้านบาท โดยเป็นงบการวิจัยและนวัตกรรม 16,219.14 ล้านบาท ที่สนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) 9,943.41 ล้านบาท และงบประมาณเพื่อสนับสนุนงานมูลฐาน (Fundamental Fund) 6,275.72 ล้านบาท และงบการนำงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ประโยชน์ (RU) 2,160.86 ล้านบาท ทั้งนี้ ในส่วนของงบประมาณโครงการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ได้รับการจัดสรร 653.67 ล้านบาท
ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล กรรมการผู้แทนหน่วยงาน เสนอว่า การจัดการงบประมาณในปี 2567 ควรขับเคลื่อนให้ PMU ทำให้ครบตั้งแต่ต้นจนถึงปลาย เป็นเรื่องท้าทาย สิ่งที่อยากให้มุ่งเน้นทำ 15 แผน ให้มีโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากอาจเสนอเป็น Multiyear งบผูกพันโดยเริ่มตั้งแต่ปีนี้เลย ซึ่งน่าจะมีความเป็นไปได้ ในส่วนของการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ (RU) ควรเสนอโครงการที่ใกล้เคียงความจริงเชื่อมโยงโดยตรงกับการวิจัยเชิงกลยุทธ์ (SF) พร้อมเสนอโมเดลรวม RU กับโครงการ SF ทั้งหมด โครงการไหนที่ควรต่อยอดกับยุทธศาสตร์ประเทศได้ เช่นในปี 2567 ถ้าชุดโครงการไหนพร้อมใช้ ก็มีความคุ้มค่าที่จะลงทุนต่อ แต่หากยังอยู่ในห้องแล็บก็อาจยังไม่คุ้มค่านัก และเสนอว่าในปีถัดไปควรมีการติดตามประเมินผลเพิ่มเติมให้คมชัดขึ้นอีก
ทั้งนี้ จากการประชุมวันนี้ คณะกรรมการ กสว.มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินงานตามที่ได้เสนอต่อสภาฯ โดยมีข้อสังเกตตามที่คณะกรรมการ กสว.ได้ให้แนวทางไว้ ทั้งนี้เพื่อการขับเคลื่อนทิศทางตาม Flagship สำคัญ ขอให้มุ่งเน้น 5-10 เรื่องเป็นสำคัญ โดยปรับให้เริ่มดำเนินการได้เลย และเตรียมการสำหรับปี 2568 ในขั้น pre-ceiling ต่อไป
กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์และวิจัยของประเทศ ทำให้เกิดการวิจัยที่ตรงเป้าตรงกับความต้องการของประเทศทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยมีคณะกรรมการ กสว.ดูแลกำกับทิศทางการขับเคลื่อนที่ทำให้เกิดระบบ เกิดกลไกต่างๆในการจัดสรรทรัพยากรการวิจัย เพื่อที่จะสามารถตอบสนองต่อการพัฒนาประเทศได้อย่างรวดเร็วและยั่งยืนในขณะเดียวกันก็ทำให้นักวิจัยต่างๆ มีความคล่องตัวในการปฏิบัติงานรวมทั้งการสร้างฐานวิชาการและการใช้ประโยชน์ โดยต้องทำทั้งในการกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนให้เกิดผล ตลอดจนติดตามและประเมินผลได้ทั้งระบบ รวมทั้งให้ดำเนินการในแต่ละส่วนให้เกิดประโยชน์สูงสุด