กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ปรับนโยบายหนุนงบประมาณการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์ สอดรับกับนโยบายชาติที่มีเป้าหมายสร้างความก้าวหน้า พร้อมยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันเน้น “พัฒนาบุคลากรวิจัยและนวัตกรรม”
ศาสตราจารย์กิตติคุณ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) กล่าวว่า นโยบายด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณเพื่อการวิจัยและนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผลเป็นปีที่ 4 แล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มีการปรับปรุงพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผลการวิจัยถูกนำไปใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม
“ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เราสามารถแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ด้านการให้งบประมาณเพื่อการวิจัยได้ว่า เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบกลับที่มหาศาลในเชิงมูลค่าหลังจากที่งานวิจัยชิ้นนั้นถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นงานวิจัยด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น รากฟันเทียม อุปกรณ์ช่วยฟัง ที่นวัตกรรมจากงานวิจัยคนไทยมีต้นทุนในการผลิตที่ไม่สูงมากนักส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มีราคาต่อชิ้นที่ถูกกว่าการนำเข้าแต่ให้คุณภาพมีมาตรฐานระดับเดียวกับสากล ส่งผลดีอย่างชัดเจนต่อประชาชนที่ใช้สิทธิตามหลักประกันสุขภาพของประเทศ”
ทั้งนี้ เป้าหมายสำคัญคือต้องการให้ประเทศไทยก้าวหน้า มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงและสามารถพึ่งพาตนเองในด้านที่จำเป็นและส่งผลไปยังประชาชนกินดี อยู่ดี มีความสุข รวมถึงดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาสภาพแวดล้อมสามารถผลิตสินค้าและบริการที่เสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศและมีการพัฒนาเพื่อพร้อมรับอนาคต
สำหรับผลงานวิจัยในปี 2563-2565 ที่ผ่านมานั้น หลังจากมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการให้ทุนวิจัยพบว่าสามารถสร้างงานวิจัยจำนวน 12,379 เรื่อง ซึ่งเกิดจากงานวิจัยที่ทำร่วมกับอุตสาหกรรม ธุรกิจ งานวิจัยเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม ธุรกิจ งานวิจัยที่ทำกับชุมชน ทำเพื่อชุมชน งานวิจัยเพื่อรักษา ทำนุบำรุง สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ งานวิจัยพื้นฐาน งานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ รายประเด็นและงานวิจัยเพื่อนโยบาย
ส่วนกรอบนโยบายของ อววน. ในปี 2566-2570 นั้น มีเป้าหมายสำคัญที่มุ่งหวังให้มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัยมีผลผลิตด้านการวิจัยและการพัฒนานวัตกรรมเป็นที่ยอมรับ ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ทั้งจากทุกภาคส่วน รัฐ ภาคการผลิต ผู้ประกอบการ ชุมชน หมู่นักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ สามารถแก้ปัญหาหรือพัฒนาในภารกิจของหน่วยงานได้อย่างถูกต้องและได้รับผลสำเร็จที่ดี
ทั้งนี้ ววน. ได้วางนโยบายปี 2566 นี้ เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายหลักของ อววน. คือจะต้องมีการรายงานผลผลิต ผลลัพธ์และผลกระทบเมื่อสิ้นสุดโครงการและรายงานผลดังกล่าวต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปี รวมทั้งมีกระบวนการประเมินผลจากข้อมูลเชิงประจักษ์ในระบบ NRIIS ได้แก่ ประเมินผลผลิตเชิง content ประเมินผลผลิตและผลลัพธ์ตาม OKR และประเมิน output outcome และ impact อีกทั้งมีกระบวนการประเมินผลการดำเนินการของหน่วยงาน และในส่วน Negative Reinforcement ได้แก่ นักวิจัยค้างส่งผลงาน หน่วยวิจัยขาดประสิทธิภาพและการขาดวินัยการใช้จ่ายงบประมาณ