xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด รฟท.เคาะซื้อรถตรวจทางกว่า 279 ล้านบาท ไฟเขียวขยายเวลาสัญญา 3-2 "ไทย-จีน" สร้างอุโมงค์คลองไผ่ ลำตะคอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด รฟท.อนุมัติซื้อรถตรวจสภาพทาง วงเงินกว่า 279 ล้านบาทเทคโนโลยีใหม่ ประสิทธิภาพสูง คาดรับรถ เม.ย. 69 และไฟเขียวขยายเวลาก่อสร้าง "รถไฟไทย-จีน" สัญญา 3-2 (อุโมงค์ มวกเหล็กและลำตะคอง) อีก 431 วัน ไปสิ้นสุด 7 มิ.ย. 68 ชดเชยเหตุส่งมอบพื้นที่กรมป่าไม้ล่าช้า

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฯ ที่มีนายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2567 มีมติอนุมัติซื้อรถตรวจสภาพทางจำนวน 1 คัน จากบริษัท บรอดแคส ดีพอท (ไทยแลนด์) จำกัด เป็นเงิน 279.140 ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แล้ว) ซึ่ง รฟท.ใช้วิธีคัดเลือกในการจัดหา ใช้งบลงทุนปี 2567 จากรายได้ของ รฟท.ในการจัดซื้อ โดยถือเป็นการจัดซื้อคันแรก จากที่ รฟท.มีรถตรวจสภาพทาง 2 คัน โดยคันแรกอายุใช้งานกว่า 30 ปี อีกคันเป็นรถมือสอง ได้มาเมื่อปี 2557 ซึ่งเทคโนโลยีเก่าและไม่เพียงพอต่อการทำงานและระยะทางรถไฟที่เพิ่มขึ้น

โดยรถตรวจสภาพทางที่จัดซื้อนี้มีเทคโนโลยีทันสมัย เป็นระบบเลเซอร์ สามารถตรวจรางทุกมิติ และตรวจองค์ประกอบ ความสมบูรณ์ของโครงสร้างทาง เช่น หมอนคอนกรีต สปริงคลิปยึดราง เป็นต้น โดยมีขีดความสามารถตรวจทางได้ระยะทางกว่า 700 กม.ต่อเดือน เร็วกว่าวิธีตรวจทางแบบเดิมที่ใช้คนเดินตรวจสภาพ กว่า 4 เท่า และมีความเร็วในการรับส่งข้อมูล ระบบการถ่ายโอนข้อมูลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตบอกพิกัดตำแหน่งราง หรือทางที่มีปัญหาชำรุดได้รวดเร็ว จึงมีประสิทธิภาพสูงและแม่นยำกว่าคน ที่ใช้สายตาและประสบการณ์ในการตรวจสภาพทาง เนื่องจากรถตรวจสภาพจะจำลองการมีขบวนรถไฟวิ่งผ่านทาง มีน้ำหนักกดทับจริง จะแสดงความมั่นคงแข็งแรงของทางและสภาพราง โดยมีคนขับ 1 คน และเจ้าหน้าที่ดูข้อมูล 2 คน ซึ่งได้วางเกณฑ์ความถี่ของการตรวจสภาพทางไว้ ที่ 4 รอบต่อปี ดังนั้น การมีรถตรวจสภาพทางใหม่และใช้เทคโนโลยีทันสมัยจะทำให้เกิดความปลอดภัยสูงสุดในการเดินรถ

หลังจากนี้จะเป็นการผลิตโดยเครื่องมือผลิตที่สหรัฐอเมริกา ส่วนตัวรถผลิตที่จีน ใช้ระยะเวลา 750 วัน หรือได้รับรถประมาณเดือน เม.ย. 2569


@ไฟเขียวขยายเวลา "รถไฟไทย-จีน" สัญญา 3-2 สร้างอุโมงค์คลองไผ่ ลำตะคอง อีก 431 วัน

นายนิรุฒกล่าวว่า นอกจากนี้บอร์ด รฟท.มีมติอนุมัติขยายเวลาทำการตามสัญญาและแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค ช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย (ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา) งานสัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับงานอุโมงค์ (มวกเหล็กและลำตะคอง) ออกไปอีก 431 วัน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 3 เม.ย. 2567 ไปสิ้นสุดวันที่ 7 มิ.ย. 2568 เนื่องจากการส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างล่าช้า ในส่วนของอุโมงค์คลองไผ่ บริเวณลำตะคอง

นายกำพล บุญชม รองวิศวกรใหญ่ด้านโครงการพิเศษ การรถไฟฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า งานสัญญาที่ 3-2 มีงานก่อสร้างอุโมงค์ จำนวน 4 อุโมงค์ ได้แก่ 1. อุโมงค์คลองไผ่บริเวณลำตะคอง ซึ่งมีความยาวมากที่สุด 4.25 กม. 2. อุโมงค์มวกเหล็ก 3. อุโมงค์ผาเสด็จ 4. อุโมงค์หินลับ ที่ผ่านมาได้ทยอยส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง โดยอุโมงค์คลองไผ่เป็นพื้นที่สุดท้ายที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจากกรมป่าไม้ในการให้ใช้พื้นที่

สำหรับสัญญา 3-2 งานอุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง ระยะทาง 12.23 กม. วงเงิน 4,279 ล้านบาท มี บมจ.เนาวรัตน์ พัฒนาการ เป็นผู้ก่อสร้าง ระยะเวลาสัญญา 1,080 วัน บวกกับที่ได้รับการต่อขยายอีก 431 วันรวมเป็น 1,511 วัน โดยผลงาน ณ เดือน ก.พ. 2567 มีความคืบหน้า 56.84% ล่าช้า 42.63% (แผนงาน 99.47%) 


กำลังโหลดความคิดเห็น