xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” ตรวจร้านต้องสงสัย พบ 30 รายเสี่ยงเป็นต่างด้าว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ภาพประกอบ
“พาณิชย์” ตรวจร้านขายของต้องสงสัยเป็นต่างด้าวในเขตสัมพันธวงศ์ ทั้งย่านเยาวราช คลองถม เสือป่า พบ 30 รายมีความเสี่ยง เหตุคนขายพูดไทยไม่ชัด แต่มีบัตรประชาชนไทย สอบต่อมีการให้คนไทยถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือไม่ พร้อมขอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบการมีบัตรประชาชน เผยหากเจอความผิดปกติด้านอื่นๆ จะส่งดีเอสไอสอบเชิงลึกต่อ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบธุรกิจที่มีคนต่างด้าวดำเนินการ และอาจเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ตามที่ได้รับการร้องเรียนในย่านเยาวราช คลองถม ถนนเสือป่า ส่วนใหญ่เป็นร้านขายอาหารและเครื่องดื่ม กวยจั๊บ รังนก ของที่ระลึก รวมถึงเสื้อผ้า รวมกว่า 30 ร้าน พบว่าส่วนมากมีคนขายสินค้าเป็นคนต่างด้าว พูดภาษาไทยไม่ชัด แต่กลับมีบัตรประจำตัวประชาชนไทย จึงถือว่าเป็นคนไทย ซึ่งได้ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาตรวจสอบถึงการได้มาของบัตรประจำตัวประชาชนไทยแล้ว

“ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตรวจสอบว่าทั้ง 30 รายมีเจ้าของเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว หรือมีคนไทยถือหุ้นร่วมกับคนต่างด้าวหรือไม่ หากมีเจ้าของเป็นคนไทย หรือเคยเป็นคนต่างด้าวมาก่อนแล้วเปลี่ยนสัญชาติเป็นคนไทย มีบัตรประจำตัวประชาชนไทย ก็ไม่ถือว่าทำธุรกิจขัดต่อกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว แต่หากมีคนไทยถือหุ้นร่วมกับคนต่างด้าว ก็ต้องดูต่ออีกว่าถือหุ้นในสัดส่วนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ คือ คนไทยมากกว่า 51% และต่างด้าวไม่เกิน 49% หรือมีการถือหุ้นในลักษณะคนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) เพื่อให้คนต่างด้าวทำธุรกิจในไทยโดยเลี่ยงการปฏิบัติตามกฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวหรือไม่”

ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้วพบว่ามีคนไทยเป็นเจ้าของก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ถ้ามีเจ้าของเป็นคนต่างด้าว และทำธุรกิจที่คนต่างด้าวต้องขออนุญาต โดยไม่ขออนุญาตผ่านช่องทางใดๆ ตามที่กำหนดไว้ตามกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ก็จะมีความผิด เพราะกฎหมายนี้คนต่างด้าวที่จะทำธุรกิจตามบัญชีแนบท้าย 3 ทั้งขายอาหารหรือเครื่องดื่ม การขายผลิตภัณฑ์หรือผลผลิตทางการเกษตรพื้นเมือง ค้าปลีกค้าส่งสินค้าทุกประเภทที่มีทุนขั้นต่ำรวมทั้งสิ้นน้อยกว่า 100 ล้านบาท หรือทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านน้อยกว่า 20 ล้านบาท จะต้องขออนุญาตก่อนดำเนินธุรกิจ หรือหากพบนอมินี ก็จะมีความผิดตามกฎหมายเช่นกัน รวมทั้งหากพบความผิดปกติด้านอื่นๆ ก็จะส่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป

สำหรับกรณีนอมินี จะมีความผิดทั้งนิติบุคคล ผู้ให้ความช่วยเหลือ และผู้ถือหุ้นแทนคนต่างด้าว โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับ 1 แสนถึง 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 1-5 หมื่นบาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน ส่วนกรณีคนต่างด้าวทำธุรกิจในบัญชีแนบท้าย 3 ซึ่งเป็นธุรกิจบริการที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน โดยไม่ขออนุญาต ก็จะมีความผิดเช่นเดียวกัน

ภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้กำหนดประเภทของธุรกิจที่คนต่างด้าวห้ามดำเนินการ หรือต้องขออนุญาตก่อนดำเนินการไว้ 3 บัญชี โดยบัญชี 1 เป็นธุรกิจที่ห้ามคนต่างด้าวประกอบธุรกิจด้วยเหตผลพิเศษ เช่น หนังสือพิมพ์ สถานีวิทยกระจายเสียงหรือโทรทัศน์, ทํานา ทําไร่ ทําสวน, เลี้ยงสัตว์, ป่าไม้, การทําการประมง, สกัดสมุนไพรไทย, ค้าที่ดิน

บัญชี 2 ต้องขออนุญาตจาก รมว.พาณิชย์ โดยการอนุมัติของคณะรัฐมนตรีมี 3 หมวด คือ หมวดเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย เช่น ผลิต จำหน่าย ซ่อมบำรุงอาวุธ, ขนส่งทางบก น้ำ อากาศ กิจการการบิน, หมวดที่มีผลกระทบต่อศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี และหัตถกรรมพื้นบ้าน และหมวดที่มีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ หรือสิ่งแวดล้อม เช่น ผลิตน้ำตาลจาก้อน ทำนาเกลือ

บัญชี 3 เป็นธุรกิจที่คนไทยยังไม่พร้อมแข่งขัน และต้องขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เช่น ขายอาหารหรือเครื่องดื่ม กิจการโรงแรม นำเที่ยว ค้าปลีกค้าส่งทุกประเภท ที่มีทุนขั้นต่ำรวมน้อยกว่า 100 ล้านบาท หรือมีทุนขั้นต่ำของแต่ละร้านน้อยกว่า 20 ล้านบาท เป็นต้น


กำลังโหลดความคิดเห็น