“พาณิชย์” ลงพื้นที่พบปะผู้ประกอบการกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านต๊ำน้ำล้อม “ลินชวา” และกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง ยันมีแผนช่วยเสริมแกร่งการทำธุรกิจ สร้างแบรนด์ เพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมถกผู้ประกอบการรุ่นใหม่ หอการค้า และกลุ่ม MOC Biz Club ติดตามประเด็นปัญหาเพื่อหาทางช่วยเหลือ
นายกองตรี พิสิษฏ์ พิพัฒน์วิไลกุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้ตน และนายกฤษฎา ตันเทอดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางไปตรวจเยี่ยมพบปะพูดคุยกับผู้ประกอบการ ได้แก่ ผู้ประกอบการกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านต๊ำน้ำล้อม “ลินชวา” อ.บ้านต๊ำ อ.เมือง จ.พะเยา ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์งานหัตถกรรมชุมชน “จักสาน” สู่สากล และผู้ประกอบการกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง อ.ภูกามยาว จ.พะเยา ซึ่งอยู่ภายใต้โครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ซึ่งเป็นโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา
สำหรับกลุ่มจักสานผักตบชวาบ้านต๊ำน้ำล้อม “ลินชวา” พบว่ามีการพัฒนาสินค้าโดยการนำผักตบชวามาสร้างผลิตภัณฑ์จักสาน เช่น กระเป๋า พวงกุญแจ ตะกร้า แจกัน กระถางต้นไม้ และของใช้จากผักตบชวาต่างๆ ถือเป็นการสร้างผลิตภัณฑ์ตามแนวทางและหลักการของสินค้า BCG ที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ เป็นการใช้ทรัพยากรหมุนเวียน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นำนวัตกรรมมาใช้ และมีการออกแบบที่ทันสมัย สวยงาม ซึ่งเป็นผลจากการเข้าร่วมโครงการในพระราชดำริ โดยกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนให้มีการใช้ทรัพย์สินทางปัญญาในการเพิ่มมูลค่าและสร้างแบรนด์ เช่น การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า การสนับสนุนองค์ความรู้ด้านระบบบัญชี การวางแผนธุรกิจ การบริหารจัดการที่ทันสมัย และการให้ความรู้และคำปรึกษากลยุทธการเจรจาธุรกิจระหว่างประเทศ รวมทั้งจะนำเข้าร่วมงาน Thai Festival Tokyo วันที่ 11-12 พ.ค. 2567 โดยผู้นำเข้าญี่ปุ่นจะเดินทางมาไทย เพื่อคัดเลือกสินค้าในวันที่ 21 มี.ค. 2567 นี้
ส่วนกลุ่มผ้ามัดย้อมแม่อิงชิโบริและวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผ้ามัดย้อมชิโบริสีธรรมชาติแม่อิง พบว่ากลุ่มมีการใช้เทคนิคการย้อมผ้าเป็นศิลปะแบบญี่ปุ่นที่นำมาสร้างงานหัตถศิลป์ พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น แม้จะทำด้วยวิธีเดียวกันแต่ผลงานที่ได้จะไม่ซ้ำกัน สร้างสรรค์ผลงานโดยใช้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติที่อยู่รอบตัว เช่น แสงอาทิตย์ที่สาดส่องบนผิวน้ำกว๊านพะเยา ผสานศิลปะเทคนิคแบบญี่ปุ่น กับองค์ความรู้และนวัตกรรมเรื่องสีย้อมจากธรรมชาติในการสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น กระเป๋ารูปแบบต่างๆ ผ้าคลุม ซึ่งกลุ่มมีโมเดลทางธุรกิจที่นำเสนอคุณค่าของผลิตภัณฑ์ที่เน้นธรรมชาติและความยั่งยืน โดยใช้สีย้อมจากธรรมชาติ และวิธีการย้อมที่ประหยัดพลังงาน โดยกระทรวงพาณิชย์จะสนับสนุนการจดอนุสิทธิบัตร และการสร้างความเข้มแข็งให้แบรนด์สินค้า ช่วยหาช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ได้นำเข้าร่วมงานแสดงสินค้า Local BCG+ ณ เชียงใหม่ เดือน ก.พ. 2567 งาน STYLE Bangkok 20-24 มี.ค. 2567 และ Thai Festival Tokyo 11-12 พ.ค. 2567 ซึ่งผู้นำเข้าญี่ปุ่นจะเดินทางมาไทย เพื่อคัดเลือกสินค้าในวันที่ 21 มี.ค.2567 เช่นเดียวกัน และหากสินค้าตรงตามความต้องการของตลาดญี่ปุ่น อาจจะได้นำไปขายในห้าง MUJI โตเกียวด้วย
นอกจากนี้ ยังได้เข้าร่วมการประชุมร่วมกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่หอการค้า (YEC) และ MOC Biz Club จ.พะเยา เพื่อแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นร่วมกับนายกมลสันต์ ศรีวิราช ประธานหอการค้าจังหวัดพะเยา นายณัทกร พรหมทอง ประธาน YEC จังหวัดพะเยา รวมถึงรองประธานและที่ปรึกษา YEC จังหวัดพะเยา โดยได้รับทราบประเด็นปัญหา อุปสรรค เช่น เรื่องเงินทุน และการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกในจำนวนมากไม่ได้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ เช่น ขั้นตอนการส่งออกที่ซับซ้อน เป็นต้น ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้รับที่จะช่วยประสานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือ รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาแบรนด์ การผลักดันให้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นต้น เพื่อช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด