“สนพ.” เผยปีนี้ร้อนจัดคาดไฟพีกทะลุ 35,000 MW โต 10-15% เกิดขึ้นช่วงกลางคืนเหตุติดตั้งโซลาร์ กดสำรองไฟต่ำกว่า 25% จาก 30% ขณะที่เตรียมเปิดประชาพิจารณ์ร่างแผนพลังงานชาติ ฉบับใหม่ต้น เม.ย. นี้เผย PDP ดันสัดส่วน RE 50% วางนิวเคลียร์ SMR ไว้ปลายแผนปี 80 เป็นทางเลือกขึ้นอยู่กับประชาชนจะตัดสินใจ แนวโน้มปี 67 การใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นจะเพิ่มขึ้น 3.1% จากศก.ฟื้นตัว
นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)เปิดเผยว่า จากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในปีนี้แนวโน้มการใช้ไฟฟ้าในช่วงหน้าร้อนคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) จะมากกว่า 35,000 เมกะวัตต์เติบโตจากปีก่อน 10-15% จากปี 2566 พีกอยู่ที่ 34,827 เมกะวัตต์ อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าไฟพีกปีนี้เกิดขึ้นเร็วและอยู่ในช่วงระยะเวลากลางคืนมากกว่ากลางวัน อาจมีผลทำให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าต่ำกว่า 25% จาก 30% เนื่องจากในช่วงกลางวันกำลังผลิตไฟฟ้าจะมีพลังงานหมุนเวียนมาทดแทนจากการติดตั้งโซลาร์เซลล์ ในขณะที่กลางคืนจะมีเฉพาะโรงไฟฟ้าหลักที่จ่ายเข้าระบบเท่านั้น
“พีกไฟฟ้าเริ่มไปเกิดขึ้นในช่วงกลางคืน เนื่องจากช่วงกลางวันมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นและมาตัดยอดพีกไฟฟ้าช่วงกลางวันได้ แต่ตอนกลางคืนไม่สามารถผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทำให้ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงอื่นๆ เต็มที่ ดังนั้น สนพ.คาดว่าในอีก 1-2 ปีข้างหน้า กระทรวงพลังงานจะต้องบริหารจัดการกับการผลิตไฟฟ้ารองรับพีกไฟฟ้าใหม่ โดยต้องพิจารณาว่าในช่วงกลางคืนจะมีพลังงานทดแทนชนิดใดที่พึ่งพาได้มาช่วยเสริมระบบ เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานลม และไฟฟ้าส่วนเกิน เพราะยังมีในเรื่องของการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย” นายวีรพัฒน์กล่าว
ท้ังนี้สนพ.อยู่ระหว่างการจัดทำร่างแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ฉบับใหม่ ซึ่งจะประกอบด้วย 5 แผนสำคัญ ได้แก่ 1.แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) 2.แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP) 3.แผนอนุรักษ์พลังงาน (EEP) 4.แผนบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติ (Gas Plan) และ 5. แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) โดยคาดว่า ทั้ง 5 แผน จะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสียในช่วงต้นเดือนเม.ย.นี้ เพื่อนำประกอบเข้าสู่แผนพลังงานชาติ และเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ก่อนนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานห่งชาติ(กพช.) พิจารณาก่อนนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)อนุมัติต่อไป
ส่วนร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP ฉบับใหม่มองใน 3 ประเด็น คือ ความมั่นคง ราคา และการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้มีพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วน 50% พลังงานใหม่ อย่าง นิวเคลียร์ ขนาดเล็ก (Small Modular ReactorsX ขนาด70 เมกะวัตต์ไว้ช่วงปลายแผนปี 2580 ซึ่งขึ้นอยู่กับการรับฟังความเห็นที่จะเกิด มีโอกาสทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็ได้เป็นการเสนอไว้เป็นทางเลือก นอกจากนี้ ในส่วนของเชื้อเพลิงหลักยังคงเป็นก๊าซธรรมชาติราว 30-40% ส่วนไฮโดรเจน 5-20% เป็นต้น
นายวีรพัฒน์ยังกล่าวถึงยอดใช้พลังงานขั้นต้นปี 2566 เพิ่มขึ้น 0.8 เทียบกับปีก่อน อยู่ที่ระดับ 2,007 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับคาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นในปี 2567 จะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.1 อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ ต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ
สำหรับประมาณการความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2567 นั้น มีการพิจารณาสมมติฐานสำหรับการประมาณการที่สำคัญ ได้แก่ แนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ (GDP) ปี 2567 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 2.2-3.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญจากการขยายตัวของภาคการส่งออกสินค้าตามการฟื้นตัวของการค้าโลก อีกทั้งการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าความต้องการใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ขั้นต้นปี 2567 จะเพิ่มขึ้น 3.1% อยู่ที่ระดับ 2,063 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน จากการเพิ่มขึ้นของการใช้พลังงานทุกประเภท สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในประเทศ โดยการใช้น้ำมันจะเพิ่มขึ้น 3.1% การใช้น้ำมันก๊าซธรรมชาติคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.5% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์จะเพิ่มขึ้น 2.4% การใช้น้ำมันสำเร็จรูปปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.3% และประมาณการความต้องการไฟฟ้าปี 2567 จะมีการใช้เพิ่มขึ้น 3.1% ตามสภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นตามที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดว่าอุณหภูมิปี 2567 จะสูงขึ้นประมาณ 1.2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับปีก่อน