xs
xsm
sm
md
lg

ก.พลังงานจ่อผุดนิวเคลียร์ SMR ในแผน PDP ใหม่ เล็งเปิดประชาพิจารณ์เร็วๆ นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กระทรวงพลังงานแย้มแผน PDP ใหม่คาดว่าจะเปิดประชาพิจารณ์ได้ในปลาย ก.พ.หรือต้น มี.ค.นี้ โดยหนึ่งในทางเลือกจะเป็นโรงไฟฟ้าเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็ก หรือ SMR ให้ประชาชนเลือก พร้อมเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดเต็มสูบรับ Net Zero ย้ำค่าไฟไทยปี 67 แนวโน้มจะต่ำลงแต่จะให้ต่ำเท่าเวียดนามและอินโดฯ จำเป็นต้องมีแหล่งก๊าซจากไทย-กัมพูชาเข้ามาเพิ่ม

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน
กล่าวเสวนา "ทิศทางพลังงานไทยปี 2567" ในงานสัมมนา THAILAND ENERGY EXECUTIVE FORUM ว่า แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP ฉบับใหม่ขณะนี้มีการปรับปรุงเล็กน้อยคาดว่าจะสามารถเปิดรับฟังความคิดเห็น (ประชาพิจารณ์) จากทุกภาคส่วนได้ภายในปลายเดือน ก.พ.นี้หรือราวต้นเดือน มี.ค. 67 โดยแผนดังกล่าวจะวางกรอบทางเลือกไว้ 7 แนวทาง (Scenario) เช่น ราคา ก๊าซ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) การเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดทั้งไฟจากแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และลม และหนึ่งในนั้นจะมีทางเลือกคือเทคโนโลยีนิวเคลียร์ที่ปัจจุบันเป็นเจน 4-5 เป็นลักษณะเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบโมดูลาร์ขนาดเล็กหรือ SMR ที่จะนำมารับฟังความเห็น

“คงจะต้องปรึกษาท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานก่อนว่าท่านจะเลือกในการประชาพิจารณ์ในเรื่องใด แต่ผมเตรียมไว้หนึ่งในนั้นคือ SMR ซึ่งยอมรับว่าเราจะได้ค่าไฟราคาถูก สะอาด เทคโนโลยีตอนนี้เองก็ปลอดภัยมากขึ้น แต่การยอมรับของประชาชนไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกันเพราะเขาเคยเห็นเหตุการณ์เชอร์โนบิล ฟุกุชิมะ แต่ PDP เราเองยังมองเรื่องการปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงก๊าซฯเก่า ดูค่าไฟระยะยาวจะพยายามบริหารตลอดแผนให้ได้ 3 บาท/หน่วย ก็ยอมรับว่าคงต้องดูเทคโนโลยีด้วยแต่สุดท้ายก็ต้องตอบโจทย์ความต้องการของภาคการผลิตและการส่งออกที่กำลังต้องการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามเทรนด์ของโลกและเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจุกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของไทยปี ค.ศ. 2065 เพื่อการค้าและส่งออกของไทยที่ทั่วโลกกำลังมองหาพลังงานสะอาด” นายประเสริฐกล่าว

ทั้งนี้ นโยบายด้านพลังงานจะให้ความสำคัญต่อ 1. ความมั่นคง 2. ราคาที่เป็นธรรม 3. พลังงานสะอาด ซึ่งทั้งหมดต้องให้เกิดสมดุล โดยแนวโน้มราคาพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าในปี 2567 มีทิศทางที่ดีขึ้นแน่นอนเนื่องจากแหล่งก๊าซเอราวัณจะกลับมาเพิ่มการผลิตก๊าซฯ เป็น 800 ล้านลูกบาศฟุต/วัน 1 เม.ย.นี้ที่จะช่วยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ขณะเดียวกันราคา Spot LNG ลดลงจากอดีตที่สูงระดับ 80 เหรียญ/ล้านบีทียูเหลือขณะนี้เพียงกว่า 9 เหรียญ/ล้านบีทียูจะทำให้ให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอของภาคเอกชนที่ต้องการเห็นค่าไฟฟ้าของไทยที่ขณะนี้เฉลี่ยที่ 4.18 บาท/หน่วยใกล้เคียงกับเวียดนามอยู่ที่ 2.67 บาท/หน่วย และอินโดนีเซีย 2.52 บาท/หน่วยนั้น เวียดนามและอินโดฯ มีโรงไฟฟ้าถ่านหิน และเวียดนามมีพลังน้ำส่วนหนึ่งแต่ก็มีปัญหาความมั่นคง ไทยเองยังต้องผสมผสานเชื้อเพลิงและพึ่งพิงก๊าซฯ เป็นหลัก หากจะทำให้ราคาลงได้ระดับนั้นจำเป็นต้องมีแหล่งก๊าซฯ จากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา (OCA) เข้ามา

ทั้งนี้ ในปี 2566 ไทยใช้น้ำมัน ไฟฟ้าราว 2 แสนล้านหน่วยสูงสุดสะท้อนให้เห็นว่าการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นก่อนเกิดโควิด-19 ยกเว้นน้ำมันเครื่องบินที่เริ่มจะมากขึ้นทั้งการใช้ไฟฟ้าทั้งอุตสาหกรรมและครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นโดยจากอากาศที่ร้อน ขณะเดียวกันเกิดยอดใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ช่วง 3 ทุ่มซึ่งส่วนหนึ่งพบจากการส่งเสริมใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่มียอดจดทะเบียนราว 1 แสนคันหันมาชาร์จไฟในช่วงกลางคืน และประชาชน โรงงาน หันมาติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพราะค่าไฟที่สูงทำให้เกิดการหันมาใช้ไฟในระบบในช่วงกลางคืนแทนเพราะผลิตได้เฉพาะกลางวัน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมประกาศการยกเว้นการขออนุญาตติดตั้งทุกขนาดจะมีส่วนทำให้โซลาร์ฯ เติบโตอย่างมากในปี 2567 โดยเฉพาะโรงงานจะขยายการติดตั้งเพิ่มขึ้น

“พลังงานหมุนเวียนแน่นอนว่าเราเปิดรับซื้อบิ๊กล็อต 5,000 เมกะวัตต์ก็กำลังทยอยเข้ามา และยังมีเรื่องราคาค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวที่อาจจะต้องจ่ายพรีเมียมเพื่อให้ได้พลังงานสะอาดก็พบว่ามีคนสนใจเยอะมาก ต่อไปผมตั้งใจจะมองในเรื่องของโครงข่ายไฟฟ้าให้แก่บุคคลที่สามหรือ TPA ให้ซื้อขาย หรือเทรดระหว่างกันเบื้องต้นมองที่ 500-1,000 เมกะวัตต์ โดยอาจเป็นพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ก่อน อีกส่วนหนึ่งก็มองไฮโดรเจนแต่ราคายังคงแพงมองไปที่อีอีซีก่อน” ปลัดกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น