xs
xsm
sm
md
lg

GIT กางแผนดัน Soft Power บูมสินค้าอัตลักษณ์ท้องถิ่น ดันแหล่งผลิตเป็นที่เที่ยวเพิ่มรายได้ชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีแรงงานในอุตสาหกรรมเกือบ 800,000 ราย มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นสินค้าส่งออกลำดับที่ 3 ของการส่งออกโดยรวม รองจากรถยนต์และคอมพิวเตอร์ ซึ่งปี 2566 ที่ผ่านมา การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) มีมูลค่ากว่า 8,658.11 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้น 8.40% หรือคิดเป็นเงินบาทมูลค่าสูงถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท หากรวมทองคำ จะมีมูลค่า 14,636.88 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเกือบ 5 แสนล้านบาท

ในปีนี้ รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อน Soft Power ให้เป็นแรงผลักดันสำคัญในการนำสินค้า บริการ และวัฒนธรรมไทยออกสู่ตลาดโลก โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงพาณิชย์ ก็มีการจัดทำแผนงานในการขับเคลื่อนไว้เช่นเดียวกัน ส่วนจะใช้วิธีการไหน ขับเคลื่อนรูปแบบใด เรามาติดตามรายละเอียดจาก “นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT” กันได้เลย

เปิดแผนงานขับเคลื่อน

นายสุเมธกล่าวว่า GIT มีนโยบายในการสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาศักยภาพของช่างฝีมือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และผลักดันการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ จึงได้กำหนดแผนการทำงาน โดยจะเข้าไปพัฒนาสินค้าที่มาจากภูมิปัญญาท้องถิ่นและใช้วัสดุจากท้องถิ่น ให้สามารถต่อยอดเกิดเอกลักษณ์เรื่องราวทางวัฒนธรรม รวมไปถึงการสนับสนุน ส่งเสริมช่างฝีมือ หรือผู้ประกอบการในพื้นที่ ๆ มีศักยภาพในด้านการผลิต การออกแบบ การพัฒนารูปแบบสินค้า การสร้างแบรนด์ รวมถึงการทำกลยุทธ์ การตลาด จะทำให้สามารถสร้างรายได้ สร้างความเข็มแข็งแก่ภาคอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และยังสามารถส่งเสริมให้เกิดเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว เพื่อสร้างแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โดยมีสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าหลักในการสร้างรายได้

“ในปี 2567 จะดำเนินงานการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นในพื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพด้านอัญมณีและเครื่องประดับของไทย โดยมีแผนจะพัฒนาครอบคลุมช่างฝีมือ ผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้งรายใหญ่และรายย่อย ตลอดจนวิสาหกิจชุมชน และระดับครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคม”นายสุเมธกล่าว

ทั้งนี้ แนวทางการดำเนินงานโครงการ ยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (หมุดหมายที่ 7 ไทยมีวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่เข้มแข็ง มีศักยภาพสูง และสามารถแข่งขันได้)


ผลงานปีที่ผ่าน ๆ มา

สำหรับผลการดำเนินการในปีที่ผ่านมา GIT ได้จัดทำโครงการเริ่มตั้งแต่โครงการพัฒนาอัตลักษณ์ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ก้าวไกลโกอินเตอร์ หรืออีสานมอร์เดิ้น ลงพื้นที่ไปพัฒนาผู้ประกอบการในส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย จ.นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี

ถัดมาได้จัดโครงการพัฒนาผู้ประกอบการเครื่องประดับเงินภาคเหนือ หรือโครงการมาเหนือ เพื่อช่วยพัฒนาผู้ประกอบการเครื่องประดับเงิน โดยมีพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จ.เชียงใหม่ ลำพูน น่าน แพร่ และสุโขทัย

จากนั้นได้จัดทำโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว หรือล่องใต้ โดยได้ลงพื้นที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการและสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในภาคใต้จำนวน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.นครศรีธรรมราช พังงา สตูล และภูเก็ต

ผลการดำเนินการ สามารถช่วยพัฒนาสินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่น ให้มีคุณภาพ มาตรฐาน มีอัตลักษณ์ท้องถิ่นชัดเจนขึ้น และปัจจุบันหลาย ๆ สินค้า สามารถขายได้มากขึ้น ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขณะเดียวกัน แหล่งผลิตยังได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้ไปเยี่ยมชม ซื้อสินค้า ซึ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

เป้าหมายการดำเนินงานในปีนี้

นายสุเมธกล่าวว่า GIT ยังมีเป้าหมายเพื่อพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์และการผลิตเครื่องประดับ ในพื้นที่เป้าหมายให้สามารถออกแบบ และผลิตสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ต้องการยกระดับการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับกับการท่องเที่ยว โดยชูอัตลักษณ์เครื่องประดับท้องถิ่นของชุมชนมาเป็นจุดขาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อเศรษฐกิจ ต้องการขยายโอกาสในการดำเนินธุรกิจและต่อยอดให้กับผู้ประกอบการเครื่องประดับในภูมิภาค เกิดการกระจายรายได้ และสร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนให้ผู้ประกอบการในพื้นที่ และต้องการผลักดันสนับสนุนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลก (World’s Gems & Jewelry Hub) ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2560

โดยประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ จะทำให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในพื้นที่เป้าหมาย มีมาตรฐาน ได้รับการยอมรับทั้งในระดับประเทศและสากล สร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ซื้อทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ทำให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่อง และช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาคได้อย่างต่อเนื่อง


ลงพื้นที่ 3 ภาค

สำหรับพื้นที่เป้าหมาย ที่ได้วางแผนการดำเนินการในปีนี้ คือ ภาคกลาง (จ.เพชรบุรี จ.กาญจนบุรี) ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ จ.เชียงราย จ.ลำพูน จ.แพร่ จ.สุโขทัย จ.น่าน และภาคตะวันออก (จ.จันทบุรี)

ส่วนวิธีการดำเนินการ จะลงพื้นที่จัดประชุมหารือแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ในจังหวัดเป้าหมาย จัดอบรมเชิงปฏิบัติการในพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้ความรู้แก่ช่างฝีมือ และผู้ประกอบการโดยเน้นกลุ่มคน ในพื้นที่เป้าหมาย โดยจัดอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้เกี่ยวกับเอกลักษณ์ทางศิลปวัฒนธรรม ความรู้เกี่ยวอัญมณี โลหะมีค่าและวัสดุทดแทน หลังจากอบรมเชิงปฏิบัติการเรียบร้อยแล้วจะคัดเลือกผู้ที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 20 รายเพื่อเข้าร่วมอบรมเชิงลึก

โดยการจัดอบรมเชิงลึกและให้คำปรึกษาแก่ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้รับการคัดเลือก จะเน้นการให้ความรู้ด้านการออกแบบ และพัฒนารูปแบบเครื่องประดับเชิงสร้างสรรค์ พาไปศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ในด้านกระบวนการผลิตเครื่องประดับด้วยเทคโนโลยี และจัดเวิร์กชอปการนำเสนอแนวคิด การสร้างแบรนด์ และผลิตภัณฑ์แนวใหม่ที่สะท้อนอัตลักษณ์ ของผู้เข้าร่วมอบรม

“หลังจากอบรมเชิงลึกแล้ว จะคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ จำนวน 10 ราย (10 แบรนด์) เพื่อรับการปรึกษาพัฒนาผลิตภัณฑ์และผลิตต้นแบบเครื่องประดับร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบ รวมทั้งให้คำปรึกษา เกี่ยวกับกลยุทธ์การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การต่อยอดการออกแบบ Box Set สำหรับเครื่องประดับเพื่อนำไปจัดแสดงและจำหน่ายในงานแสดงสินค้า”นายสุเมธกล่าว

เจาะรายละเอียดแผนงาน จ.จันทบุรี

ทั้งนี้ แผนงานเฉพาะ จ.จันทบุรี จะเน้นการยกระดับมาตรฐานการผลิตเครื่องประดับในภาคตะวันออก โดยสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าผ่านการออกร้านจำหน่ายสินค้า การจัดงานเทศกาลนานาชาติ “พลอยและเครื่องประดับ” ในพื้นที่ จ.จันทบุรี ในรูปแบบผสมผสาน Onsite และ Online การจัดกิจกรรมเจรจาธุรกิจ Business Matching โดยเชิญผู้ซื้อมาร่วมเจรจาธุรกิจ กับผู้ประกอบการ ภายในงานในรูปแบบ Onsite และ Online การรณรงค์สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคในการซื้อเครื่องประดับผ่านโครงการซื้อด้วยความมั่นใจผ่านใบรับรองของ GIT (Buy with confidence by GIT) และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเห็นความสำคัญของการมีใบรับรองสินค้า การอบรมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเพื่อต่อยอดการผลิต และการขายผ่าน Onsite และ Online และจัดกิจกรรมตรวจรับรองมาตรฐานในพื้นที่ Mobile Lab เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่


แผนงานพื้นที่กรุงเทพฯ

ส่วนแผนงานเฉพาะพื้นที่กรุงเทพฯ จะจัดทำโครงการพัฒนาต่อยอดเครื่องประดับเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนเก่าแก่เชิงสร้างสรรค์บนถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับ โดยได้ทำการคัดเลือกพื้นที่ชุมชนเก่าแก่บนถนนสายอัญมณีและเครื่องประดับในย่านบางรัก ย่านสัมพันธวงศ์ และย่านพระนคร เป็นเป้าหมายหลักในการดำเนินการ

โดยมีปัจจัยสนับสนุน เนื่องจากถนนสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ เป็นแหล่งรวมทางเศรษฐกิจที่สำคัญ อีกทั้งยังเป็นถนนสายหลักที่เป็นแหล่งการค้าส่งและค้าปลีกอัญมณีและเครื่องประดับมากมาย เริ่มตั้งแต่ย่านถนนมเหสักข์ สีลม สุริยวงศ์ และเจริญกรุง ถือเป็นศูนย์กลางทางการค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับที่มีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็นทองคำ เพชร เครื่องเงิน ธุรกิจพลอยสังเคราะห์ มาตั้งแต่อดีต นับว่าเป็นสัญลักษณ์ของการเติบโตของชุมชนเศรษฐกิจไทยมาอย่างเก่าแก่และยาวนานจนถึงปัจจุบัน อันเป็นศูนย์กลางโครงข่ายใหญ่ในการเชื่อมโยงไปยังพื้นที่และภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย

สำหรับกิจกรรมการดำเนินงานจะบูรณาการความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และหน่วยความร่วมมือกลุ่มภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลักดันให้เกิดเส้นทางสายอัญมณีและเครื่องประดับที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในพื้นที่เป้าหมายมากยิ่งขึ้น เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยวชม และซื้อขายสินค้า เพื่อเป็นที่ระลึกก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจจากระดับจุลภาคสู่ระดับมหภาค

สร้างเรื่องราวให้สินค้า

นายสุเมธกล่าวว่า แผนการดำเนินงาน จะช่วยสร้างเรื่องราวให้กับผลิตภัณฑ์ภายในชุมชนเป้าหมาย ทั้งย่านบางรัก ย่านสัมพันธวงศ์ และย่านพระนคร เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงกับแหล่งการท่องเที่ยวชุมชนบนถนนสายอัญมณีและครื่องประดับของกรุงเทพฯ โดยย่านบางรัก มีสินค้าเป้าหมาย คือ เศษกระเบื้องลายคราม , เครื่องเงินและมุก , หยก , หินและลูกปัด และของสะสมโบราณ ย่านสัมพันธวงศ์ สินค้าโลหะ และย่านพระนคร สินค้านาก , เครื่องทอง และเครื่องราชอิสริยาภรณ์

วิธีการดำเนินการ จะเข้าไปอบรมเชิงปฏิบัติการ โดยคัดเลือกตัวแทนแต่ละชุมชนมาพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ โดยการเสนอเรื่องราวอัตลักษณ์ของชุมชนผ่านผลิตภัณฑ์ที่เข้าร่วมโครงการ

ทั้งนี้ หลังจากคัดเลือกและพัฒนาสินค้าได้แล้ว ก็จะเข้าไปช่วยเพิ่มช่องทางการตลาด ทั้งการนำเข้าร่วมในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ช่วยจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์แหล่งการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ทั้ง Online และ Onsite ในย่านการค้าที่สำคัญ โดยย่านบางรัก อาทิ House of Gems Eastern Antiques & Ek Thongprasert ย่านสัมพันธวงศ์ อาทิ บ้านช่างทอง กรุช่างทองโบราณ ลำตัดเงินโบราณ และย่านพระนคร อาทิ ชุมชนตรอกวิสูตร ชุมชนตรอกเฟื่องทอง เป็นต้น

“ได้ตั้งเป้าไว้พัฒนาสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์ในท้องถิ่น ให้มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้น ทั้งการผลิต การพัฒนา การเพิ่มช่องทางการตลาด สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวชุมชนกับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ทำให้เกิดรายได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน เกิดการสร้างชื่อเสียงให้แก่ช่างฝีมือในพื้นที่ ทำให้สินค้าเกิดมูลค่าเพิ่มและความต้องการในตลาดเพิ่มมากขึ้น สร้างมูลค่าและคุณค่าของผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับ โดยการเสนอเรื่องราวอัตลักษณ์ของชุมชน สามารถรวบรวมข้อมูลช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ ร้านค้าในพื้นที่ นำมาเป็นส่วนหนึ่งของฐานข้อมูลกลุ่มเครื่องประดับ และที่สำคัญ จะเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยผลักดัน Soft Power ในส่วนสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับจากท้องถิ่นออกสู่ตลาดทั้งในประเทศและตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น”นายสุเมธกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น