BAFS เปิดตัว E-VELOX 3400 รถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า 100%ที่เติมน้ำมันได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ลดระยะเวลาการทำงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากรถ EV แบบเดิม เริ่มใช้จริงที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
ม.ล.ณัฐสิทธิ์ ดิศกุล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บริการเชื้อเพลิงการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บาฟส์ (BAFS) เปิดเผยว่า
บาฟส์ได้นำรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า EV Hydrant Dispenser แบบ High Flow รุ่น E-VELOX 3400 ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้า 100% ที่บริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด (BI) จากกลุ่มบริษัท BAFS group เป็นผู้ผลิต มาให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานเป็นครั้งแรกที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ช่วยยกระดับการเติมน้ำมันอากาศยานให้รวดเร็วขึ้นเมื่อเทียบกับรถเติมน้ำมันอากาศยานพลังงานไฟฟ้า EV Hydrant Dispenser ระบบ Low Flow รุ่น E-VELOX 1300 แบบเดิม
ทั้งนี้รถเติมน้ำมันอากาศยาน E-VELOX 3400 ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า 100% จึงไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากเครื่องยนต์ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้วยอัตราการไหลของน้ำมันแบบ High Flow 3,400 ลิตรต่อนาที ทำให้เป็นรถเติมน้ำมันอากาศยาน EV ที่สามารถให้บริการเติมน้ำมันอากาศยานได้รวดเร็ว ด้วยขนาดกะทัดรัด คล่องตัว สามารถเติมน้ำมันด้วยระบบแรงดันแบบใต้ปีก (Underwing Refueling) ให้บริการกับเครื่องบินโดยสารทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และด้วยอัตราการไหลที่รวดเร็วยังทำให้ตอบโจทย์การเติมน้ำมันเครื่องบินลำใหญ่ รวมถึงเที่ยวบินระยะไกลที่ต้องใช้น้ำมันปริมาณมาก โดยสามารถให้บริการได้เฉลี่ย 15-20 เที่ยวบินต่อการชาร์จไฟฟ้าเต็ม 1 ครั้ง และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 2.08 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ต่อการเติมน้ำมัน 10,000 ลิตร หรือ 85-90% เมื่อเทียบกับรถเติมน้ำมันอากาศยานที่ขับเคลื่อนด้วยน้ำมันดีเซล
บาฟส์ พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมการบิน สนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบินระดับโลก (Aviation Hub) และสนับสนุนท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ สู่การเป็นสนามบินต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Airport) โดย บริษัท บาฟส์ อินเทค จำกัด มีแผนนำรถเติมน้ำมันอากาศยาน และรถให้บริการภาคพื้นภายในสนามบิน ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า รุ่นต่างๆเสริมทัพให้บริการในสนามบินสุวรรณภูมิจำนวน 6 คันภายในปีนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าทุกขั้นตอนในการให้บริการสอดรับกับ มาตรการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคการบิน สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผลักดันให้อุตสาหกรรมการบินก้าวเข้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ต่อไป