สนค.ติดตามการใช้หุ่นยนต์บริการในภาคธุรกิจทั่วโลก พบมีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัญหาการขาดแคลนแรงงานจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย และผลจากโควิด-19 ที่มีการเว้นระยะห่าง เผยในสหรัฐฯ มีการใช้หุ่นยนต์ในร้านอาหาร ใช้เช็กสต๊อก แจ้งโปรโมชัน รับคำสั่งซื้อออนไลน์ ส่วนในไทยก็เริ่มมีการใช้ในการส่งของ ทำความสะอาด ต้อนรับ แนะผู้ประกอบการเรียนรู้และปรับตัวใช้หุ่นยนต์บริการ เพิ่มโอกาสในการทำธุรกิจ
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สนค.ได้ติดตามสถานการณ์ความต้องการใช้หุ่นยนต์บริการ (Service Robots) ในภาคธุรกิจทั่วโลก พบว่า กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญมาจากปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งเป็นผลจากการที่หลายประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ส่งผลให้สัดส่วนวัยทำงานลดลง ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การดำเนินชีวิตแบบใหม่ มีการเว้นระยะห่างทางสังคมและลดการสัมผัสมากขึ้น
ทั้งนี้ จากรายงาน World Robotics 2023 - Service Robots ของสหพันธ์หุ่นยนต์นานาชาติ (International Federation of Robotics : IFR) พบว่า ในปี 2565 หุ่นยนต์บริการสำหรับมืออาชีพ (Professional Service Robot) มียอดขายทั่วโลก 158,000 ตัว เพิ่มขึ้น 48% โดยหุ่นยนต์บริการสำหรับมืออาชีพ ปฏิบัติงานครอบคลุมตั้งแต่การขนส่งและโลจิสติกส์ เกษตรกรรม การทำความสะอาด การตรวจสอบและบำรุงรักษา การก่อสร้างและรื้อถอน การแพทย์ การต้อนรับ การค้นหา การช่วยเหลือ ตลอดจนความปลอดภัย และอื่น ๆ
โดยหุ่นยนต์บริการสำหรับภาคธุรกิจที่สร้างยอดขายสูงสุด 3 อันดับแรกของโลก ในปี 2565 ได้แก่ 1.หุ่นยนต์ขนส่งและโลจิสติกส์ (Transportation and Logistics) ยอดขาย 86,000 ตัว เพิ่มขึ้น 44% ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ที่ใช้ในอาคาร มียอดขายมากถึง 37,300 ตัว เพิ่มขึ้น 78% ส่วนใหญ่ใช้เพื่อการส่งอาหารและเครื่องดื่มในร้านอาหาร 2.หุ่นยนต์ต้อนรับ (Hospitality) ยอดขาย 24,500 ตัว เพิ่มขึ้น 125% เป็นหุ่นยนต์ใช้สำหรับตอบโต้กับผู้มาติดต่อ ผู้รับบริการ ในการแนะนำหรือให้ข้อมูลต่าง ๆ และ 3.หุ่นยนต์ทางการแพทย์ (Medical Robot) ยอดขาย 9,300 ตัว ลดลง 4% โดยเป็นหุ่นยนต์ผ่าตัด 4,900 ตัว และหุ่นยนต์สำหรับการฟื้นฟูและบำบัด 3,200 ตัว
นายพูนพงษ์กล่าวว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจในต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ มีการนำหุ่นยนต์บริการมาเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน อาทิ ร้านอาหารละติน La Duni ใช้หุ่นยนต์เข้ามาช่วยให้บริการทั้งการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่ม จัดโต๊ะ และต้อนรับลูกค้า ซึ่งสามารถลดภาระงานให้กับพนักงาน ลดความเสี่ยงในการสูญเสียต้นทุนจากการเกิดอุบัติเหตุในการยกถาดอาหารที่มีน้ำหนักมาก (ถาดอาหารในการเสิร์ฟแต่ละครั้งมีมูลค่าประมาณ 150-300 ดอลลาร์สหรัฐต่อถาด) และยังเพิ่มความเร็วในการให้บริการได้ถึง 4 เท่า ร้านอาหาร Chipotle Mexican Grill ใช้หุ่นยนต์ Autocado ที่สามารถตัด คว้าน และปอกเปลือกอะโวคาโดเพื่อใช้ทำ Guacamole (เมนูอาหารเม็กซิกัน เป็นอาหารประเภทเครื่องจิ้ม) ซึ่งเดิมใช้เวลาทำเฉลี่ย 50 นาที/ชุด แต่เมื่อใช้ Autocado สามารถลดเวลาลงได้ถึงครึ่งหนึ่ง และความแม่นยำของหุ่นยนต์ยังช่วยให้ปริมาณขยะอาหารลดลงด้วย
นอกจากนี้ ร้านขายของชำ SpartanNash และ Schnucks ใช้หุ่นยนต์ Tally ลดภาระพนักงานในการเดินเก็บข้อมูลสถานะสต็อกสินค้าตลอดวัน ช่วยในการเก็บข้อมูลสต็อกสินค้า การสั่งซื้อสินค้า และการจัดวางสินค้า ซึ่งนอกจากจะช่วยสร้างความมั่นใจให้พนักงานว่าจะมีสต็อกสินค้าเพียงพอให้บริการแล้ว ยังช่วยลดความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมสินค้าอีกด้วย และหุ่นยนต์ Tally ยังช่วยลดข้อผิดพลาดด้านการแจ้งราคาและโปรโมชันได้ 90% ลดปัญหาสินค้าหมดสต็อกลงได้ 60% และทำให้พนักงานมีเวลาเพิ่มขึ้น 30 ชั่วโมง/สัปดาห์ ในการไปดูแลลูกค้าเพิ่มขึ้น และบริษัทค้าปลีกอุปกรณ์กีฬา evo ใช้หุ่นยนต์ LocusBots ทำงานร่วมกับมนุษย์ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในส่วน e-Commerce ให้สามารถตอบสนองต่อคำสั่งซื้อในส่วนร้านค้าออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลที่มียอดคำสั่งซื้อสูง โดย LocusBots ช่วยเพิ่มความเร็วในการหยิบสินค้าของพนักงานจากสต็อกสินค้า จากเดิมที่มีความเร็วเฉลี่ย 35 หน่วยต่อชั่วโมง เพิ่มขึ้นได้สูงถึง 125 หน่วยต่อชั่วโมง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 3.5 เท่า
สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมหุ่นยนต์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ภาครัฐมีนโยบายให้การสนับสนุน ซึ่งไทยมีศักยภาพทั้งด้านการเป็นผู้ออกแบบและผู้ผลิต โดยในส่วนของหุ่นยนต์บริการ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) ให้ข้อมูลว่าในปี 2565 ตลาดหุ่นยนต์บริการในประเทศไทยเติบโตกว่า 147.8% มีหุ่นยนต์บริการที่ใช้งานจริงในประเทศกว่า 1,660 ตัว เป็นมูลค่ายอดขายกว่า 398 ล้านบาท และคาดการณ์ว่า ปี 2567 การใช้งานหุ่นยนต์บริการในประเทศจะอยู่ที่ 2,270 ตัว หรือเพิ่มขึ้น 36.7% โดยหุ่นยนต์ส่งของและหุ่นยนต์ทำความสะอาด มียอดการใช้งานในประเทศรวมกันประมาณ 1,300 ตัว และหุ่นยนต์ต้อนรับ ประมาณ 360 ตัว สำหรับผู้ประกอบการหุ่นยนต์บริการของไทย มีประมาณ 31 ราย ซึ่งมีเพียง 3-5 ราย ที่เป็นกลุ่มผู้ผลิตและพัฒนาหุ่นยนต์บริการ ขณะที่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าจากต่างประเทศเพื่อจำหน่ายและให้บริการ
ส่วนรูปแบบการใช้งานหุ่นยนต์บริการในภาคธุรกิจมีทั้งการซื้อขาด และการเช่าซื้อ โดยราคาตลาดของหุ่นยนต์ส่งของ (Delivery Robots) ที่ส่วนใหญ่ใช้ในการเสิร์ฟอาหาร มีราคาเช่าตั้งแต่ 11,000-18,000 บาท/เดือน ซึ่งใกล้เคียงกับต้นทุนในการจ้างพนักงาน 1 คน แต่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการฝึกฝนพนักงาน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อผิดพลาดจากการปฏิบัติงานโดยมนุษย์ลงได้
“การนำใช้หุ่นยนต์บริการมาช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจ ถือเป็นทางเลือกที่จะช่วยลดภาระต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้ในระยะยาว เพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้ทันต่อความต้องการของลูกค้าในกรณีเร่งด่วน และยังสร้างโอกาสในการปรับตัวสู่การทำธุรกิจในยุคใหม่ ตลอดจนรองรับภาวะการขาดแคลนแรงงานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเร่งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการถึงความสำคัญและแนวทางการนำหุ่นยนต์บริการมาปรับใช้ในภาคธุรกิจ และสามารถเข้าถึงการใช้งานเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้ประกอบการภาคเอกชนสามารถศึกษารูปแบบการใช้งานหุ่นยนต์บริการจากทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นโอกาสในการนำเทคโนโลยีมาปรับเปลี่ยนและยกระดับศักยภาพของธุรกิจต่อไป”นายพูนพงษ์กล่าว