xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”จับมือเจโทร ติวเข้มผู้ประกอบการ ใช้ประโยชน์จาก FTA 3 กรอบที่มีกับญี่ปุ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“พาณิชย์” ร่วมมือกับเจโทร กรุงเทพฯ และศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการเชิงลึกให้ผู้ประกอบการเอ็มเอ็สเอ็มอีไทยและญี่ปุ่น แนะแนวทางการขอใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอที่ไทยและญี่ปุ่นมีร่วมกัน เพื่อเร่งการใช้สิทธิประโยชน์ และช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุน

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำกรุงเทพฯ หรือเจโทร กรุงเทพฯ และศูนย์อาเซียน-ญี่ปุ่น (ASEAN -Japan Centre) โตเกียว จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ (Workshop) เรื่อง “โอกาส MSMEs ไทยและญี่ปุ่น: เจาะลึกการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ภายใต้ความตกลง JTEPA AJCEP และ RCEP” เมื่อวันที่ 5 มี.ค.2567 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท กรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ทั้งชาวไทยและญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยให้ข้อมูลการค้าเชิงลึกเกี่ยวกับเกณฑ์การขอใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ขั้นตอนการออกหลักฐานการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยและญี่ปุ่นเป็นภาคีร่วมกันทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจอาเซียน-ญี่ปุ่น (AJCEP) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เพื่อให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์กับธุรกิจของตนอย่างเต็มที่

สำหรับผลการจัดงาน Workshop ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ได้รับความสนใจล้นหลามจากเอ็มเอ็สเอ็มอีทั้งไทยและญี่ปุ่นที่ดำเนินธุรกิจในไทยและใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพื่อใช้สิทธิ์ประโยชน์จากเอฟทีเอนี้ จึงส่งผลให้มีผู้เข้าร่วมงานเกินเป้าหมายกว่า 100 ราย ซึ่งสอดรับกับนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งและติดอาวุธให้กับผู้ประกอบธุรกิจเอ็มเอ็สเอ็มอีไทย โดยเฉพาะเรื่องการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลงเอฟทีเอของไทยมากขึ้น

“งานวันนี้เป็นกิจกรรมความร่วมมือที่สำคัญมาก เพราะถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีเอฟทีเอมากหรือดีแค่ไหนก็ตาม หากไม่มีผู้ประกอบการทราบและรู้จักวิธีการใช้ก็ไม่สามารถเพิ่มพูนศักยภาพทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้เท่าที่ควร จึงได้สั่งการกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งผมกำกับดูแลโดยตรง เร่งอัดฉีดความรู้ วิธีการปฏิบัติเชิงลึกในการใช้สิทธิประโยชน์จากเอฟทีเอในวงกว้างยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอ็มเอ็สเอ็มอี” นายนภินทรกล่าว


นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า จากข้อมูลเจโทร กรุงเทพฯ เกี่ยวกับผลสำรวจบริษัทญี่ปุ่นในไทย จำนวน 134 ราย พบว่า นโยบายเศรษฐกิจของไทยที่บริษัทญี่ปุ่นในไทยตั้งตารอมากที่สุด คือ การจัดทำความตกลงเอฟทีเอกับคู่ค้าสำคัญเพิ่มเติม เนื่องจากบริษัทญี่ปุ่นที่อยู่ในไทยส่วนใหญ่ ประมาณร้อยละ 70 ไม่เพียงแต่ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายภายในประเทศไทยเท่านั้น ยังกำหนดให้ไทยเป็นฐานการผลิตเพื่อการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าสำคัญทั่วโลก ดังนั้น ญี่ปุ่นมองว่าการเจรจาความตกลงเอฟทีเอของไทยมากขึ้น จะส่งผลให้บริษัทญี่ปุ่นในไทยได้รับประโยชน์มากขึ้นอีกด้วย

ทั้งนี้ ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่น มีมูลค่า 55,860.99 ล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 9.73 ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปญี่ปุ่น มูลค่า 24,669.70 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไทยนำเข้าจากญี่ปุ่น มูลค่า 31,191.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สินค้าส่งออกสำคัญ อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบอื่นๆ และเม็ดพลาสติก และสินค้านำเข้าสำคัญ อาทิ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์

นอกจากนี้ สถิติของกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงเดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2566 มีการส่งออกสินค้าจากไทยไปญี่ปุ่น ผ่านการใช้สิทธิประโยชน์จากความตกลง FTA ที่ไทยและญี่ปุ่นเป็นภาคีร่วมกัน 3 ฉบับข้างต้น รวมมูลค่า 6,971 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นร้อยละ 83.3 ของมูลค่าการส่งออกสำหรับสินค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ฯ ทั้งหมด โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่ใช้สิทธิประโยชน์ฯ ทั้ง 3 ฉบับ ได้แก่ เนื้อไก่และกุ้งปรุงแต่ง ปลาทะเลปรุงแต่ง ขนมจำพวกเบเกอรี่ ซอสปรุงรส เดกซ์ทรินและโมดิไฟด์สตาร์ชจากมันสำปะหลัง โพลิเอทิลีน ลวดและเคเบิลทำด้วยทองแดง เครื่องนุ่มห่ม ผ้าใบยางรถ และเส้นใยสังเคราะห์




กำลังโหลดความคิดเห็น