การขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาไม่อาจปฏิเสธถึงความสำคัญต่อภาคการส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว ที่มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยอย่างมีนัยสำคัญ และส่วนหนึ่งอาศัยโครงสร้างเดิมๆ ในการขับเคลื่อน โดยเฉพาะภาคส่งออกของไทยมีสัดส่วนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ราว 60% ที่กำลังเผชิญแรงกดดันจากทั้งปัจจัยภายนอกและในหลายด้าน ทำให้การเติบโตการส่งออกเริ่มมีทิศทางที่ไม่แน่นอนสูงขึ้นต่อเนื่อง
แม้รัฐบาลที่ผ่านมาจะพยายามวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจเพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรมใหม่หรือแห่งอนาคต (New S- curve) แต่การขับเคลื่อนต้องอาศัยเวลาและการบูรณาการที่เป็นแบบแผน ขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทำให้ภาครัฐและเอกชนเริ่มจับสัญญาณภาวะโครงสร้างการผลิตของไทยมากขึ้นเพราะสินค้าไทยกำลังไม่เป็นที่ต้องการจากตลาดโลกในหลายมิติ โดยเฉพาะไทยกำลังสูญเสียขีดความสามารถทางการแข่งขันด้านการส่งออกที่มีแนวโน้มเริ่มถดถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น “Ibusiness” ฉบับนี้จึงนำความเห็นของผู้ที่อยู่ในแวดวงภาคอุตสาหกรรมและการลงทุนส่วนหนึ่งมาเพื่อเปิดมุมมองสะท้อนถึงโครงสร้างการผลิตของไทยให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนก่อนที่เศรษฐกิจไทยในอนาคตจะชะงักงัน !!!
"สศอ." ส่งสัญญาณโลกเริ่มไม่ต้องการสินค้าไทย
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวสะท้อนให้เห็นว่า สศอ.ได้มีการทำการเปรียบเทียบดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ของไทยกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนพบว่า เดือน ธ.ค. 66 ไทยติดลบ 6.27% ค่อนข้างสูงสุด ขณะที่เวียดนาม+ 7.6% ขณะที่ดัชนีสมรรถนะการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมปี 60-64 ไทยก็ลดลง 1% มาเลเซีย +2 เวียดนาม +4 อินโดนีเซีย 0% แต่ก็ไม่ได้ลด และเมื่อเจาะลึกพบว่าการผลิตอุตสาหกรรมของไทยไม่ตรงกับความต้องการของตลาดโลกในยุคปัจจุบันหรือมีน้อยมาก บ่งชี้ว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยไม่อาจจะแข่งขันได้ ไทยจึงมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภาคอุตสาหกรรมหรือการผลิตใหม่
“เมื่อลงรายละเอียดเราพบว่าช่วงโควิด-19 เราส่งออกลด สินค้าหลายตัวหดตัวแต่คู่แข่งกลับโต และเมื่อดูแล้วพบว่าการนำเข้าสินค้าชั้นนำ 20 อันดับของโลก เช่น กลุ่มอิเล็กทรอนิสก์ แผงวงจรไฟฟ้า ระบบประมวลผลควบคุมตู้แปลงไฟฟ้า แบตเตอรี่ลิเทียมกลุ่มนี้อัตราต้องการสูง ยานพาหนะ สินค้าภาคเกษตรซึ่งพบว่าโลกต้องการถั่วเหลืองมากสุด ฯลฯ ไทยเองแทบไม่ได้เป็นแชมป์ส่งออกอะไรเลย และส่งออกหลายอย่างน้อยมาก อย่างมาเลเซียเป็นแชมป์ในประเภทกลุ่มวงจรรวม วงจรรวมอิเล็กทรอนิกส์ก็ค่อนข้างสูง ขณะที่ชิ้นส่วนโทรศัพท์มือถือเวียดนามมาแรงมาก และอื่นๆ ทั้งอุปกรณ์รับภาพเสียง เครื่องประมวลผลอัตโนมัติ ส่วนประกอบเครื่องจักร เป็นต้น ไทยเรามีดีที่รถยนต์แต่ก็เริ่มจะแพ้อินโดนีเซีย” ผอ.สศอ.ชี้ให้เห็นโครงสร้างภายใน
เปิดแผนปรับโครงสร้างอุตฯ (Reshape For The Future)
ทั้งนี้ จากภาพดังกล่าวได้สะท้อนว่าโครงสร้างของอุตสาหกรรมของไทยแข่งขันไม่ได้แล้วทั้งผลิตภาพ และ productivity และโลกก็เริ่มไม่ต้องการสินค้าไทยดังนั้น ไทยจำเป็นจะต้องเร่งปรับโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมใหม่ หรือ Reshape For The Future โดยจะให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืนตอบโจทย์เทรนด์โลกที่ต้องการสินค้าสีเขียว ได้แก่ 1. ปรับโครงสร้างสินค้าอุตสาหกรรมไทยที่ตัวผลิตภัณฑ์ลงทุนกลุ่มที่โลกต้องการ เช่น อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) สินค้าเชิงรุกพร้อมตอบโจทย์ Service provider และสอดรับกับสังคมสูงวัยหรือ Aging Society 2. ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไปสู่ Green Productivity ลดต้นทุนด้านพลังงานให้มากขึ้นตอบโจทย์เมกะเทรนด์โลก 3. พัฒนานวัตกรรมเป็นของตนเองเพื่อสร้างฐานผลิตที่เข้มแข็งในระยะยาว
“สินค้าเกษตรไทยมีศักยภาพแต่โลกไม่ได้ต้องการสินค้าเกษตรขั้นต้น (วัตถุดิบ) ที่มีมูลค่าต่ำ ไทยต้องขยับไปสู่ขั้นกลาง อาหารเฉพาะกลุ่ม ฯลฯ เป็นต้น เราต้องเน้นหนักใช้เศรษฐกิจนำอุตสาหกรรม ดูความต้องการของตลาดโลก สศอ.เองกำลังวิเคราะห์ที่จะนำเสนอ น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในแผนรายละเอียดเชิงลึกต่อไปเพื่อที่จะจัดทำเป็นแผนการพัฒนาแต่ละด้าน” นางวรวรรณกล่าว
อุตฯ ไทยยังติดกับดัก ไปถึง 4.0 แค่ 2%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แม้ว่าไทยจะมีเป้าหมายปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตภาคอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 เพื่อให้ก้าวทันกับตลาดโลก แต่ขณะนี้มีอุตสาหกรรมในไทยที่ก้าวไปสู่ระดับดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วนเพียง 2% ขณะที่อุตสาหกรรม 3.0 คิดเป็นเพียง 28% อุตสาหกรรม 2.0 สูงถึง 61% ขณะที่อุตสาหกรรม 1.0 คิดเป็น 9% เนื่องจากการเปลี่ยนเทคโนโลยีไม่ใช่เรื่องง่ายนักและนวัตกรรมหลายด้านยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ
“ระยะหลังเราต้องยอมรับว่าโครงสร้างอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นกำลังเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะเวียดนามที่พบว่าเป้าหมายการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ไหลเข้าเมื่อเทียบกับไทยสูงถึง 3 เท่าและส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในระดับเทคโนโลยีใหม่ที่เป็นเทรนด์ของโลก ขณะที่ไทยบุญเก่ากำลังจะหมดไปเนื่องจากส่วนใหญ่อุตสาหกรรมไทยยังคงเน้นการผลิตแบบดั้งเดิมมุ่งเน้นใช้แรงงานสูงและรับจ้างการผลิต การลงทุนเทคโนโลยีใหม่ๆ มีเข้ามาแต่ยังคงต่ำแต่ส.อ.ท.เองพยายามยกระดับจาก 2.0 ให้เป็น 3.0 เพิ่มขึ้นด้วยการปรับปรุงเครื่องจักร นำระบบไอทีมาต่อยอด” นายเกรียงไกรกล่าว
ส.อ.ท.เร่งยกระดับอุตสาหกรรมเดิมและอุตสาหกรรมใหม่
นโยบาย ส.อ.ท.ได้มุ่งเน้นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตของสมาชิกที่มีอยู่ 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 76 คลัสเตอร์ 76 ส.อ.ท.จังหวัด และ 5 ส.อ.ท.ภาค ได้แก่ 1. First Industry มุ่งยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขัน (Competitiveness) ด้วย 4 เปลี่ยน ได้แก่ 1. เปลี่ยนจากการรับจ้างผลิต (OEM) ปรับเป็นผู้รับจ้างที่ออกแบบและผลิตสินค้าให้กับบริษัท (ODM) เป็นผู้ขายสินค้าผลิตโดยผู้อื่นภายใต้แบรนด์ของตนเอง (OBM) 2. เปลี่ยนจากการใช้แรงงาน ไปใช้เทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติ ฯลฯ 3. เปลี่ยนการผลิตเพื่อกำไร ด้วยการผลิตควบคู่ไปกับดูแลสิ่งแวดล้อม 4. เปลี่ยนจาก Unskilled labor ไปสู่ High-Skilled labor
2. Next Gen Industries สร้างเครื่องยนต์ใหม่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ (New Growth Engines) ผ่าน 3 กลไกหลัก 1. ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-Curve) เช่นส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายตลอดซัปพลายเชน ส่งเสริม Technology Transfer พัฒนากำลังคน เชื่อมโยงซัปพลายเชนกับ First Industries 2. เศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular, Green Economy) เช่น ยกระดับภาคเกษตรครบวงจรด้วยเทคโนโลยี ส่งเสริม R&D สร้างมูลค่าเพิ่ม ยกระดับจัดการสิ่งแวดล้อม ฯลฯ 3. รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (โลกร้อน) ตอบโจทย์ Net Zero ที่เป็นเมกะเทรนด์ของโลก เช่น ส่งเสริมการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ส่งเสริมการซื้อขายพลังงานหมุนเวียน ฯลฯ
“ส.อ.ท.เราจึงเริ่มปรับที่สมาชิกก่อน รวมถึงเร่งรัดการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรค การเข้าถึงพลังงานสะอาดให้มากขึ้นซึ่งเราทำอะไรไว้ค่อนข้างเยอะ แต่ทั้งหมดจำเป็นจะต้องมองในภาพรวมของประเทศด้วย” นายเกรียงไกรตอกย้ำ
บีโอไอยกเครื่องลงทุนดึงอุตสาหกรรมใหม่
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า บีโอไอที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นการดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อปรับโครงสร้างการผลิตให้เป็นที่ต้องการของตลาดโลกต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้วางเป้าหมายการขับเคลื่อนการลงทุนเชิงรุกใน 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567-70) ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนการลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ ที่ประกอบด้วย อุตสาหกรรม BCG อุตสาหกรรมยานยนต์ (เน้น EV) อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (Upstream& Smart Electronics) Digital & Creative และ Regional Headquarters&International Business Center
“BCG ไทยเรามีจุดแข็งทั้งเกษตรและอาหาร ด้านการแพทย์ พลังงานสะอาด ยานยนต์เราก็จะต่อยอดไปสู่ EV อิเล็กทรอนิกส์เรามองการอัปเกรดไปอุตสาหกรรมต้นน้ำ เช่น เวเฟอร์ อุปกรณ์สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ ดิจิทัลและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เราก็ต้องไปจุดนี้ และทำให้ไทยเป็นแหล่งสำนักงานภูมิภาค” เลขาฯ บีโอไอกล่าว
2. ผลักดัน 5 นโยบายสำคัญเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ ได้แก่ 1. Green Transformation 2. Technology Development&Attraction 4. Cluster-base Investment 5. Ease of Investment โดยบีโอไอมุ่งที่จะทำให้ไทยไม่ใช่แค่ศูนย์กลางการผลิตแต่จะต้องมีการวิจัยและพัฒนาประกอบด้วย เป็นต้น
สำหรับปี 2566 มียอดขอรับส่งเสริมการลงทุนโดยมีโครงการขอรับการส่งเสริม 2,307 โครงการ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16% มูลค่าเงินลงทุน 848,318 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดในรอบ 5 ปี และปี 2567 ถือเป็นโอกาสทองของการลงทุนที่มีโอกาสจะเห็นตัวเลขการขอรับส่งเสริมการลงทุนฯ ที่มากขึ้นกว่าปี 2566 จาก EV ที่ขณะนี้กำลังคุยกับบริษัทรายใหม่ๆ และอุตสาหกรรมต้นน้ำอิเล็กทรอนิกส์ และล่าสุดบอร์ดอีวีได้ออกแพกเกจสนับสนุนผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและระบบกักเก็บพลังงาน เสริมแกร่งอุตสาหกรรมอีวีไทย เดินหน้าสู่ศูนย์กลางอีวีอาเซียนแล้ว รวมถึงคาดหวังว่าดิจิทัลเทค คอมปานี เช่น กูเกิล ไมโครซอฟท์ จะมาลงทุนในไทยหลังจากที่นายกฯ ไปโรดโชว์มาซึ่งจะถือเป็นกลุ่มลงทุนใหม่
บีโอไอแนะ 5 เรื่องไทยเร่งปรับเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าไทยจะเป็นอีกหนึ่งประเทศเป้าหมายที่นักลงทุนให้ความสนใจในการย้ายฐานเข้ามาลงทุนเนื่องจากความพร้อมทั้งโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ และมีความเข้มแข็งของห่วงโซ่การผลิตหลายอุตสาหกรมที่เข้มแข็งแต่ยังไม่เพียงพอที่จะทำให้อนาคตข้างหน้ายั่งยืนได้คือ 5 เรื่องที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องเร่งขับเคลื่อน ได้แก่ 1. พลังงานสะอาดที่เพียงพอและมีราคาที่เหมาะสมเนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกกำลังมุ่งไปสู่เทรนด์ดังกล่าวเพื่อดำเนินธุรกิจตอบโจทย์ Net Zero 2. ข้อตกลงเขตการค้าเสรีหรือ FTA ที่คู่แข่งทางการค้ามีข้อตกลงจำนวนมากทำให้เกิดความได้เปรียบ
3. การขาดแคลนบุคลากรที่จะรองรับการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่ๆ ที่จำเป็นจะต้องยกระดับทักษะเพิ่มขึ้น เช่น เซมิคอนดักเตอร์ต้องมีความรู้ด้านดิจิทัล ฯลฯ 4. การอำนวยความสะดวดต่อการลงทุน และ 5. การจัดหาพื้นที่รองรับอุตสาหกรรมที่เพียงพอ ที่ขณะนี้พื้นที่เรากำลังมีจำกัดมาก มีผังเมืองสิ่งแวดล้อมไทยจึงต้องเตรียมรองรับให้มากขึ้น
“จากเสียงสะท้อนจากภาครัฐและเอกชนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าไทยต้องเร่งปรับตัวในทุกมิติเพื่อทำให้เศรษฐกิจไทยยังคงมีอัตราการเติบโตในระดับที่สูงขึ้น แต่แน่นอนว่าการทำงานจำเป็นต้องบูรณาการทุกหน่วยงานรัฐและเอกชนอย่างเป็นระบบ คงไม่อาจต่างฝ่ายต่างทำได้”