"สุริยะ" เผย "กพท." ถก 6 สายการบินแก้ปัญหาค่าตั๋วเครื่องบินแพงเร่งด่วน เพิ่มเที่ยวบินช่วงเทศกาลรับผู้โดยสารเพิ่ม ระยะยาวปรับลดเพดานราคาให้สอดคล้องกับต้นทุน-สถานการณ์ปัจจุบัน นัด 28 ก.พ.คุยรายละเอียด ก่อนเสนอ กบร.ไฟเขียว
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ตามที่ได้สั่งการให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT เชิญสายการบินที่ให้บริการเส้นทางภายในประเทศ จำนวน 6 ราย ประกอบด้วย สายการบินไทย สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส สายการบินไทยแอร์เอเชีย สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินนกแอร์ และสายการบินไทยเวียตเจ็ท เข้าร่วมประชุมหารือเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีค่าโดยสารทางอากาศมีราคาสูงโดยเฉพาะช่วงเทศกาลท่องเที่ยว พร้อมทั้งหาแนวทางการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
กพท.รายงานผลการหารือว่า กพท. ได้จัดทำมาตรการการแก้ไขปัญหาค่าโดยสารทางอากาศมีราคาสูง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ ได้แก่ 1. มาตรการระยะสั้น โดยสายการบินได้เสนอขอเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในช่วงเทศกาล ทั้งในห้วงเวลาช่วงเช้า หรือช่วงเย็นตามที่จะดำเนินการได้ เพื่อให้ในระบบการจำหน่ายตั๋วมีราคาต่ำลง และเพิ่มทางเลือกแก่ผู้โดยสาร อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ จะต้องมีการประสานงานกับบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., กรมท่าอากาศยาน (ทย.) และบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) ก่อนที่จะเริ่มมาตรการต่อไป
ขณะที่ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2567 ที่จะถึงนี้ คาดการณ์ว่าจะเป็นห้วงเวลาที่มีการเดินทางเป็นจำนวนมาก ดังนั้นสายการบินกำลังพิจารณาแนวทางด้านราคาเพื่อช่วยเหลือผู้โดยสาร ซึ่งแต่ละหน่วยงานจะต้องไปพิจารณาในรายละเอียดก่อนที่จะกลับมาประชุมกับ กพท.อีกครั้งในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งการพิจารณาในครั้งนี้ จะต้องประสานกับหน่วยงานอื่นๆ ด้วย เช่น ทอท., ทย., บวท. และหน่วยงานด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น เพื่อบูรณาการและสนับสนุนให้การดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
นายสุริยะกล่าวว่า ส่วนมาตรการระยะยาวนั้น กพท.ได้กำหนดแนวทางการพิจารณาโดยคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนเป็นหลัก รวมทั้งให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เนื่องจากพบว่า การเดินทางของผู้โดยสารในตอนนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปจากช่วงปกติ ประกอบกับในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ผ่านมานั้น กพท.ได้มีการศึกษาเพื่อปรับเพดานอัตราค่าโดยสาร แต่ล่าสุดจากการเก็บข้อมูลต้นทุนค่าโดยสาร พบว่าเบื้องต้นสมควรที่จะมีการปรับปรุงเพดานอัตราค่าโดยสารจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ทั้งนี้ ในการปรับปรุงเพดานอัตราค่าโดยสารดังกล่าวจะต้องมีการประสานกับสายการบินเพื่อให้ได้ข้อมูลครบถ้วน พร้อมทั้งประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสายการบิน รวมถึงแนวทางการดำเนินการให้ครอบคลุมในทุกมิติ เนื่องจากสายการบินได้มีการจำหน่ายตั๋วโดยสารล่วงหน้าไปแล้วประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม ได้เร่งรัดให้การพิจารณาแนวทางแล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนเสนอต่อคณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) พิจารณาให้ความเห็นชอบเพดานอัตราค่าโดยสาร และมีผลบังคับใช้สอดคล้องกับสถานการณ์นี้ต่อไป เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้โดยสาร และผู้ประกอบการสายการบิน