xs
xsm
sm
md
lg

บอร์ด กทพ.ไฟเขียวด่วน "ฉลองรัชเชื่อมมอเตอร์เวย์" เคาะเจรจา BEM ลงทุน Double Deck แลกต่อสัมปทาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ด กทพ.ไฟเขียวทางด่วนฉลองรัช ต่อขยายด้านตะวันออกเชื่อมมอเตอร์เวย์สาย 9 ระยะทาง 6.7 กม. วงเงิน 1.36
 หมื่นล้าน เปลี่ยนชื่อจาก N2 และตัดเส้นทางแค่จุดตัด ถ.ประเสริฐมนูกิจ สำรวจฐานรากเดิม 75 ต้น หวังใช้ต่อไม่ทุบทิ้ง เคาะเจรจา BEM สร้างด่วน 2 ชั้น และขยายผิวจราจร 3.45 หมื่นล้านแก้รถติดแลกขยายสัมปทาน 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) กทพ.ที่มี นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2567 มีมติเห็นชอบให้กทพ.ดำเนินโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก ระยะทาง 6.7 กม. วงเงินลงทุน 13,665.89 ล้านบาท โดยขั้นตอนจากนี้ กทพ.จะสรุปเสนอกระทรวงคมนาคมและคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขออนุมัติโครงการ โดยโครงการผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับอนุมัติแล้ว คาดว่าจะเปิดประกวดราคาได้ในปี 2567 และก่อสร้างในปี 2568 ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 

ทั้งนี้ บอร์ดให้ กทพ.พิจารณาในเรื่องการตรวจสอบความแข็งแรงโครงสร้างฐานรากเดิมของโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือบนเกาะกลางถนนประเสริฐมนูกิจ ซึ่งตามแนวเส้นทางมีโครงสร้างฐานรากเสาเข็มเสาตอม่อบนถนนประเสริฐมนูกิจ (เกษตร-นวมินทร์) จำนวน 75 ต้น จากฐานรากที่มีรวมทั้งหมด 281 ต้น เนื่องจากมีอายุ 25 -30 ปี ซึ่งหากสำรวจแล้วฐานรากยังมีความแข็งแรง ก็จะนำมาใช้งานต่อโดยเสริมความแข็งแรง ซึ่งได้กันวงเงินสำหรับดำเนินการไว้ประมาณ 250 ล้านบาท


สำหรับโครงการทางพิเศษสายฉลองรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ตะวันออกเดิม คือโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ระยะที่ 1 (ตอน N2) ในระยะที่ 1 (ถนนประเสริฐมนูกิจ-ถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก) หรือ ตอน N2 มี ระยะทาง 11.3 กม. มูลค่าลงทุน 16,960 ล้านบาท ซึ่ง กทพ.ได้เปลี่ยนชื่อโครงการใหม่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และปรับแนวเส้นทางสั้นลง เหลือระยะทาง 6.7 กม. มีจุดเริ่มต้นบริเวณจุดตัดทางพิเศษฉลองรัชกับถนนประเสริฐมนูกิจ เป็นทางยกระดับขนาด 4 ช่องจราจร มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก ยกระดับซ้อนทับไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจ ผ่านถนนรัชดา-รามอินทรา ผ่านถนนนวมินทร์ โดยมีจุดสิ้นสุดโครงการเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษ (M9) วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันออก มีทางขึ้น-ลงจำนวน 4 แห่ง


@เคาะเจรจา BEM ลงทุน Double Deck แก้รถติด แลกขยายสัมปทาน คาดมากกว่า 17 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมบอร์ด กทพ.ยังเห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสมฯ และรูปแบบการลงทุนโครงการแก้ไขปัญหาจราจรบนทางพิเศษระยะที่ 1 ซึ่งจะมีการก่อสร้างโครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (งามวงศ์วาน-พระราม 9) หรือ Double Deck โดยให้เจรจา บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM เป็นผู้ลงทุนโดยแลกกับการขยายระยะเวลาสัมปทานระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ที่จะสิ้นสุดปี 2578 ออกไป เนื่องจากเป็นแนวทางที่ดีที่สุดโดย กทพ.ไม่ต้องลงทุนเอง และไม่มีการเก็บค่าผ่านทางเพิ่ม ส่วนจะขยายระยะเวลาสัมปทานอีกกี่ปีขึ้นอยู่กับการเจรจา

ทั้งนี้ บอร์ด กทพ.ให้ดำเนินการภายใต้ระเบียบ ข้อกฎหมายและ พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2562 โดยคณะกรรมการมาตรา 43 พิจารณาการเจรจา และการแก้ไขสัญญาสัมปทานตามขั้นตอน โดยจะพิจารณารายละเอียดร่างสัญญาและนำเสนอร่างสัญญาต่อสำนักงานอัยการสูงสุด หลังจากนั้นจะเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป

สำหรับมูลค่าลงทุนการแก้ปัญหาจราจร บนโครงข่ายทางด่วนนอกจาก Double Deck (งามวงศ์วาน-พระราม 9) แล้ว ยังมีการทำ Double Deck ช่วงจากถนนเลียบด่วนรามอินทรา ฝั่งขาเข้า ฝั่งตรงข้ามคลินิกศูนย์แพทย์พัฒนา เชื่อมทางพิเศษศรีรัชบริเวณ รพ.ปิยะเวท รวมถึงการขยายผิวจราจรบนทางพิเศษที่มีปัญหาคอขวดเพิ่มเติมอีก 2-3 จุด อาทิ ขยายผิวจราจรบริเวณต่างระดับมักกะสัน บริเวณศรีนครินทร์ ซึ่งประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 34,500 ล้านบาท

“จะขยายสัมปทานกี่ปีต้องเจรจาก่อน ยังบอกอะไรไม่ได้เพราะอยู่ที่เจรจา เอาตัวเลขที่เกี่ยวข้องมาพิจารณา โดยเฉพาะเงินเฟ้อ ก่อนหน้านี้ตัว Double Deck (งามวงศ์วาน-พระราม 9) เคยเป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาขยายสัมปทาน จากกรณีคดีพิพาทค่าผ่านทางระหว่าง กทพ.กับ BEM มีวงเงินลงทุนตอนนั้นประมาณ 3 หมื่นล้านบาทตอนนั้นจะให้เวลาอีก 15 ปี แต่ได้ตัดเงื่อนไขนี้ออก จึงตกลงขยายเวลาสัมปทานเฉพาะเรื่องคดีพิพาทที่ 15 ปี 8 เดือน ไปสิ้นสุดปี 2578 ซึ่งในครั้งนี้คาดว่าจะขยายเวลาออกไปมากกว่า 17 ปี โดย กทพ.จะเพิ่มงานแก้ไขจราจรบนทางด่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้ใช้ทาง”


กำลังโหลดความคิดเห็น