สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตฯ ไทยจับตาแรงงานเมียนมาทะลักเข้าไทยเพิ่ม แม้ตัวเลขถูกกฎหมายจะมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นแต่ก็เริ่มมาผิดกฎหมายที่ยังตรวจสอบได้ยากอีกจำนวนนับล้านคน ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการอาจพุ่งกว่า 4 ล้านคน รัฐต้องเร่งวางนโยบายแรงงานต่างด้าวให้ชัดเจน ชี้ช่องพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสเหตุไทยยังต้องพึ่งพิงแรงงานเหล่านี้สูงเหตุคนไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย และขาดแคลนแรงงานขณะที่คนไทยก็ไม่ทำงานหลายประเภท ย้ำดีกว่าเปิดฟรีวีซ่าให้ทุนจีนสีเทามาแย่งอาชีพคนไทยกินรวบจนไม่เหลืออะไร
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย “ECONTHAI” เปิดเผยว่า สิ่งที่น่ากังวลขณะนี้คือจากปัญหาสงครามกลางเมืองในเมียนมาที่ดำเนินมาระยะเวลาหลายเดือนและมีการเกณฑ์ทหารของรัฐบาลทำให้คนหนุ่มสาวส่วนหนึ่งมุ่งเข้ามายังประเทศไทยทำให้เกิดการทะลักเข้ามาจำนวนมากซึ่งอาจจะส่งผลต่อวิกฤตและโอกาส โดยเห็นว่าไทยควรให้ความสำคัญต่อแรงงานเมียนมาเพราะไทยได้เข้าสู่สังคมสูงอายุสมบูรณ์ (Complete Aged Society) สัดส่วนคนสูงวัยมีถึง 20% (เฉลี่ยอายุ 40 ปี 7 เดือน) ฉากทัศน์เศรษฐกิจไทยต้องเคลื่อนไป Smart Technology และ AI ขณะเดียวกันไทยยังต้องพึ่งพิงแรงงานเข้มข้นทั้งอุตสาหกรรม บริการ และเกษตรกรรม รัฐบาลจึงควรมีความชัดเจนถึงนโยบายแรงงานต่างด้าวว่าจะไปในทิศทางใดเพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศสูงสุด
"แรงงานเมียนมาที่ทะลักเข้ามาตอนนี้มีผิดกฎหมายพอสมควร อาจมองว่าวิกฤต แต่ถ้าไทยบริหารให้ดีมีความชัดเจนก็จะเกิดโอกาสต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ ดีกว่าการที่เราไปเปิดฟรีวีซ่าให้คนจีนแล้วแรงงานสีเทาจีนเข้ามาแย่งอาชีพคนไทยค้าขายกินรวบจนธุรกิจคนไทยไม่เหลือ" นายธนิตกล่าว
ปัจจุบันพบว่าแรงงานเมียนมาที่เข้ามายังไทยเป็นการติดต่อผ่านญาติ-เพื่อนที่ทํางาน มีค่าใช้จ่ายแบบ “One Stop Service” คนละประมาณ 20,000 บาทเป็นราคารับ-ส่งถึงที่อยู่ในประเทศไทยจนถึง กทม. ปัจจุบันแรงงานเมียนมาถูกกฎหมายที่อยู่ในไทยมีประมาณ 2.374 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วน 76.2% ของแรงงานต่างด้าวรวมกันในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาแรงงานถูกกฎหมายเมียนมาเพิ่มขึ้น 5.74 แสนคน เข้ามาตาม MOU (มาตรา 59) ประมาณ 2.742 แสนคน และตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) จํานวน 2.099 ล้านคน ในจํานวนนี้ยังไม่รวมแรงงานเมียนมาผิดกฎหมายอีกนับล้านคน อย่างไรก็ตาม บางข้อมูลมีการระบุว่ามีมากกว่า 4 ล้านคนแล้ว
“ขณะนี้แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่อยู่ในภาคอุตสาหกรรม-บริการ เช่น อุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร, ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ชิ้นส่วนยานยนต์และผลิตยางรถ, เสื้อผ้า, ก่อสร้าง, ประมง, ร้านอาหาร-แรงงานยกเคลื่อนสินค้าในภาคโลจิสติกส์ ตลอดจนทํางานตามบ้านครัวเรือน แรงงานผิดกฎหมายส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคเกษตรและปศุสัตว์ เช่น กรีดยางพารา, ตัดอ้อย, มันสําปะหลัง, เลี้ยงหมู-ไก่, สวนผักฯลฯ งานเหล่านี้ขาดแคลนคนและแรงงานไทยเลือกที่จะไม่ทํา แรงงานเมียนมาส่วนใหญ่อยูใน กทม. ตามด้วยจังหวัดสมุทรสาครซึ่งถือเป็นย่างกุ้งแห่งที่ 2 ในไทย ที่เหลือกระจายอยู่จังหวัดที่เป็นฐานอุตสาหกรรม เช่น สมุทรปราการ ปทุมธานี นครปฐม ฯลฯ” นายธนิตกล่าว
นอกจากนี้ ปัญหาสงครามกลางเมืองเมียนมายังทำให้เส้นทางการค้าในเมียนมาถูกตัดขาด รวมถึงผลกระทบต่อไทยนั้นชายแดนไทยจากชายแดนแม่สอดไปเมืองย่างกุ้งถนนหลักถูกทําลายต้องวนเข้าทางเก่าผ่าน "เมืองกอกาเระ" เป็นเส้นทางเสี่ยงจากอุบัติเหตุ และอยู่ในเส้นทางที่กําลังรบกัน อีกทั้งต้องอ้อมและเสียความคุ้มครองทำให้ค่าขนส่งจากศูนย์ขนส่งเมียวดีไปเมืองย่างกุ้งค่าขนส่ง (รถ 22 ล้อ) ราคา 28,000 บาทเพิ่มเป็น 60,000 บาท และจากชายแดนไทยข้ามสะพานมิตรภาพไปศูนย์ขนส่งเมียวดีระยะทาง 16 กิโลเมตร มีด่านกะเหรี่ยง 5 ด่าน เสียภาษีเถื่อนเพิ่มจากคันละ 750 บาทเป็น 1,500 บาท ส่งผลให้ปริมาณสินค้าในเมียนมาลดลงและมีราคาสูงขึ้น