xs
xsm
sm
md
lg

คชก.เคาะ EIA ไฮสปีด 'ไทย-จีน' เฟส 2 ‘นครราชสีมา-หนองคาย’ รฟท.ตั้งงบ 125 ล้านลุยออกแบบสะพานใหม่เชื่อม สปป.ลาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



EIA รถไฟไทย-จีนเฟส 2 (นครราชสีมา-หนองคาย) ผ่าน คชก.แล้ว รอลุ้น สผ.ชุดใหญ่ กรมรางคาดชง ครม.ในปีนี้ ด้าน รฟท. ตั้งงบ 125 ล้านบาทศึกษาออกแบบสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งใหม่เชื่อม "ไทย-ลาว" รับรถไฟ 1 เมตรและไฮสปีด ประเมินค่าก่อสร้างกว่า 8.9 พันล้านบาท เริ่มสร้างปี 70

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพมหานคร-หนองคาย ว่า ในส่วนโครงการระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทางประมาณ 356.01 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันการออกแบบงานโยธาเสร็จเรียบร้อย โดยอยู่ระหว่างจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2567 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการโครงสร้างพื้นฐานทางบก และทางอากาศ (คชก.) ได้ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA แล้ว เตรียมเสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (กก.วล.) อนุมัติต่อไป ขณะที่คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการได้ในปี 2567

ส่วนการเชื่อมต่อทางรถไฟระหว่างไทย-สปป.ลาว ซึ่งจะมีการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์)​ แห่งที่ 2 นั้น ที่ผ่านมากรมทางหลวง (ทล.)​ ได้ศึกษาความเหมาะสม ด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้นไว้แล้ว โดยจะเป็นการก่อสร้างสะพานแห่งใหม่ข้ามแม่น้ำโขง ห่างจากสะพานเดิมไปทางด้านขวา ประมาณ 30 เมตร หรืออยู่ท้ายน้ำของสะพานเดิม แต่เนื่องจาก สปป.ลาวได้มีการเปลี่ยนผู้นำรัฐบาลใหม่ จึงต้องประสานข้อมูลอย่างเป็นทางการอีกครั้ง โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) จัดส่งข้อมูลผลการศึกษาไปยังรัฐบาล สปป.ลาวชุดใหม่แล้ว คาดว่า จะมีการหารือกันอย่างเป็นทางการต่อไป


@รฟท.ตั้งงบ 125 ล้านบาทเตรียมจ้างออกแบบสะพานข้ามโขงแห่งใหม่

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า จากผลการศึกษาความเหมาะสมฯ โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว (หนองคาย-เวียงจันทน์)​ แห่งที่ 2 นั้น จะเป็นสะพานรองรับรถไฟ ประกอบด้วย ขนาดทาง 1 เมตร เชื่อมจากสถานีหนองคาย-สถานีท่านาแล้ง และรางรถไฟขนาดมาตรฐาน (standard Gauge) จากสถานีหนองคาย-สถานีเวียงจันทน์,  ปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์อย่างเดียว ดำเนินการปี 2565-2572 และอนาคตก่อสร้างสะพานใหม่ รองรับรถยนต์ขนาด 2 ช่องจราจร โดยประเมินวงเงินค่าก่อสร้างสะพานใหม่รองรับรถไฟขนาดทาง 1 เมตร และรางรถไฟขนาดมาตรฐานอยู่ที่ประมาณ 8,950.503 ล้านบาท

ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)​ อยู่ระหว่างจัดทำ TOR และกำหนดราคาราง เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาออกแบบรายละเอียด ประมาณการราคา จัดทำเอกสารประกวดราคา และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม กรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษารวม 125 ล้านบาท (ตั้งงบประมาณปี 2567 จำนวน 25 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 100 ล้านบาท)

โดยมีขอบเขตงานคือ ทบทวนการศึกษาและออกแบบที่มี, พิจารณาการเชื่อมโยงการเดินทางในพื้นที่ชุมชน ในรัศมี 2 กม., ออกแบบรายละเอียดสะพานข้ามแม่น้ำโขงให้สอดคล้องกับมาตรฐานระบบรถไฟความเร็วสูงของจีน, ตรวจสอบและจัดทำรายละเอียดการปรับปรุงสะพานปัจจุบันให้เป็นสะพานรถยนต์อย่างเดียว, จัดทำรายงาน EIA, วิเคราะห์ผลตอบแทน EIRR และ FIRR รวมถึงประสานกับหน่วยงานของ สปป.ลาว เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และเพียงพอต่อการออกแบบ

ตามแผนงาน จะใช้เวลาออกแบบรายละเอียด 12 เดือน (พ.ค. 67-เม.ย. 68) พิจารณารายงาน EIA 18 เดือน (พ.ค. 68-ต.ค. 69) ขออนุมัติโครงการ 6 เดือน (พ.ค. 69-ต.ค. 69) เวนคืนที่ดิน 18 เดือน (พ.ย. 69-พ.ค. 70) ประกวดราคา 7 เดือน (พ.ย. 69-พ.ค. 70) ก่อสร้างงานโยธา 36 เดือน (มิ.ย. 70-พ.ค. 73) ติดตั้งระบบ 36 เดือน (ธ.ค. 70-พ.ย. 73)


@งานโยธาเฟสแรก 2 สัญญายังไม่เริ่ม

รายงานข่าวแจ้งความคืบหน้าโครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 250.77 กม. (ทางยกระดับ 188.68 กม. ทางระดับดิน 54.09 กม. อุโมงค์ 8 กม.) วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท มีศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 1 แห่งที่เชียงรากน้อย งานโยธามีความก้าวหน้าภาพรวม 30.96% (ข้อมูล ณ 25 ม.ค. 67) คาดว่าก่อสร้างแล้วเสร็จปี 2571

โดยมี 14 สัญญา ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา คือ สัญญา 1-1 กลางดง-ปางอโศก และสัญญา 2-1 สีคิ้ว-กุดจิก

อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา ได้แก่ สัญญาที่ 3-1 ช่วงแก่งคอย-กลางดง และช่วงปางอโศก-บันไดม้า (30.21 กม.) ผลงาน 00.00% สัญญา 3-2 อุโมงค์มวกเหล็กและลำตะคอง (12.23 กม.) ผลงาน 53.51% สัญญา 3-3 บันไดม้า-ลำตะคอง (21.60 กม.) ผลงาน 43.87% สัญญา 3-4 ลำตะคอง-สีคิ้ว และกุดจิก-โคกกรวด (37.45 กม.) ผลงาน 72.43% สัญญา 3-5 โคกกรวด-นครราชสีมา (12.38 กม.) ผลงาน 05.87%

สัญญา 4-2 ดอนเมือง-นวนคร (21.80 กม.) ผลงาน 0.27% สัญญา 4-3 นวนคร-บ้านโพ (23.00 กม.) ผลงาน 26.25% สัญญา 4-4 ศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อย ผลงาน 03.98% สัญญา 4-6 พระแก้ว-สระบุรี (31.60 กม.) ผลงาน 0.56% สัญญา 4-7 สระบุรี-แก่งคอย (12.99 กม.) ผลงาน 50.40%

ยังไม่ได้ลงนามก่อสร้าง 2 สัญญา คือ สัญญาที่ 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง (15.21 กม.) ติดประเด็นการดำเนินการกับรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ปัจจุบัน รฟท.และ EEC อยู่ระหว่างการเร่งรัดการออกหนังสือให้เอกชนเริ่มงาน (NTP) และสัญญาที่ 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว (13.30 กม.) ติดประเด็นสถานีอยุธยา โดยเมื่อวันที่ 23 มี.ค. 66 คณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ด รฟท.) อนุมัติการสั่งจ้างบริษัท บุญชัยพาณิชย์ (1979) จำกัด ปัจจุบันอัยการสูงสุดได้พิจารณาตรวจสอบร่างเงื่อนไขสัญญา ปัจจุบันอยู่ระหว่าง รฟท.พิจารณาเพื่อลงนามสัญญา โดยมีกำหนดยืนราคาภายในเดือน ก.พ. 2567

ส่วนความคืบหน้างานสัญญา 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดฝึกอบรมบุคลากร วงเงินประมาณ 50,633 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทคู่สัญญาฝ่ายจีน ประกอบด้วย บริษัท ไซน่า เรลเวย์ อินเตอร์แนชันนัล (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD.) และ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ดีไซน์ คอร์เปอเรชัน (CHINA RAILWAY DESIGN CORPO RATION ได้ดำเนินงานออกแบบตามสัญญา อยู่ระหว่างฝ่ายไทยตรวจสอบ ปัจจุบันผู้รับจ้างอยู่ระหว่างดำเนินการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น