“พาณิชย์” ลงนาม MOU ร่วมมือให้ข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาวัสดุก่อสร้าง กับภาคเอกชน 15 ราย เชื่อมโยงข้อมูลราคาสินค้า เพื่อใช้ในการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้า มั่นใจช่วยให้การเก็บราคาสินค้า เพื่อคำนวณดัชนีราคาผู้บริโภค ทำได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ใช้วัดค่าครองชีพประชาชนได้ดีขึ้น และส่งผลดีต่อการกำหนดราคากลางก่อสร้างภาครัฐ
นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือในการให้ข้อมูลราคาขายปลีกสินค้าอุปโภคบริโภค และราคาวัสดุก่อสร้างระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับ 15 ผู้ประกอบรายสำคัญของประเทศ ว่า การลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนและกระทรวงพาณิชย์ฉบับนี้ จะช่วยพัฒนาการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าที่กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมามากกว่า 80 ปี และถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับการทำงานอย่างสร้างสรรค์ และสอดคล้องกับนโยบายที่ได้ให้ไว้ คือ เร่งทำงานเชิงรุก ให้มีความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ลดข้อจำกัดในการทำงาน และการบูรณาการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์กับภาคเอกชน
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักในการร่วมมือ เพื่อพัฒนาการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้า ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญและเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากเดิมที่ต้องอาศัยเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลจำนวนมากตามห้างร้านต่าง ๆ เปลี่ยนเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลโดยตรงจากผู้ประกอบการ โดยใช้ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและความอนุเคราะห์จากผู้ประกอบการ ทำให้กระทรวงพาณิชย์ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรวดเร็ว และลดกระบวนการทำงาน แต่ยังคงไว้ ซึ่งมาตรฐานในการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าระดับสากล
“ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังเป็นตัวอย่างของความสำเร็จที่เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีกฎหมาย เพราะแนวคิดของรัฐบาลจะให้ความสำคัญกับการลดอุปสรรค โดยแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจการค้า ดังนั้น สิ่งไหนที่ทำได้ จะทำทันที และหลีกเลี่ยงการสร้างความยุ่งยากในการทำงานให้กับภาคเอกชน สิ่งไหนที่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้เกิดผลลัพธ์แบบใหม่ ต้องกล้าคิดและลงมือทำ โดยมองว่าความท้าทายในการทำงานทุกวันนี้ คือ ทำอย่างไรให้รวดเร็ว ง่าย และมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยใช้ศักยภาพของความร่วมมือระหว่าง 2 ฝ่าย และเทคโนโลยี ทำให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน”นายนภินทรกล่าว
นายนภินทรกล่าวว่า การยกระดับการจัดทำดัชนีเศรษฐกิจการค้าในครั้งนี้ จะสร้างประโยชน์ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก เพราะ 2 ดัชนี ที่จะได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการนั้น ถือเป็นตัวชี้วัดที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งดัชนีราคาผู้บริโภค ซึ่งจะนำไปคำนวณอัตราเงินเฟ้อ เป็นหัวใจหลักในการวัดค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน ซึ่งรัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ และเชื่อมั่นว่าการพัฒนาเครื่องชี้วัด ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จะทำให้รัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์สามารถดูแลค่าครองชีพอย่างถูกจุด รวดเร็ว และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่าอันจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในที่สุด
ขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย ยังใช้เป็นข้อมูลนำเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อกำหนดกรอบเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงินในแต่ละปี และนำมาใช้ในการกำหนดการปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นำไปประกอบการจัดทำ GDP และกระทรวงแรงงานนำไปประกอบการจัดทำอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ
ส่วนราคาวัสดุก่อสร้าง ถูกใช้เป็นราคาอ้างอิงสำหรับการจัดทำราคากลางการก่อสร้างภาครัฐ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ภาคการค้าและการลงทุน และเชื่อว่าการพัฒนาครั้งนี้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งเสริมให้การลงทุนก่อสร้างภาครัฐมีความพร้อมมากขึ้น และสอดคล้องกับข้อเท็จจริงทางด้านต้นทุน อันจะนำไปสู่การเร่งลงทุนและการจ้างงาน ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศต่อไป โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2567 และ 2568 ที่กระบวนการทางงบประมาณต่าง ๆ จะกลับเข้าสู่ระดับปกติ มีโครงการสำคัญของภาครัฐ ที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับภาคเอกชน 15 ราย ที่ร่วมลงนามในครั้งนี้ ได้แก่ 1.สมาคมผู้ค้าปลีกไทย 2.บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) 3.บริษัท ซีพี แอ็กซ์ตร้า จำกัด (มหาชน) 4.บริษัท ซีอาร์ซี ไทวัสดุ จำกัด 5.บริษัท ซี.เจ. เอ็กซ์เพรส กรุ๊ป จำกัด 6.บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด 7.บริษัท ดูโฮม จำกัด (มหาชน) 8.บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด 9.บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) 10.บริษัท ฟู้ดแลนด์ ซุปเปอร์มาเก็ต จำกัด 11.บริษัท เมกา โฮม เซ็นเตอร์ จำกัด 12.บริษัท อิออน (ไทยแลนด์) จำกัด 13.บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด 14.บริษัท เอสซีจี ดิสทริบิวชั่น จำกัด และ 15.บริษัท โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน)