xs
xsm
sm
md
lg

“เซเว่นฯ” รับอี-วอลเล็ต ตปท.ผ่านแอปอาลีเพย์พลัสได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้จัดการรายวัน 360 - เซเว่น-อีเลฟเว่นกว่า 14,500 สาขาทั่วประเทศพร้อมรับชำระเงินด้วยอี-วอลเล็ตจากต่างประเทศผ่านแอปฯ อาลีเพย์พลัส ยกระดับประสบการณ์การใช้จ่ายแบบไร้เงินสดอย่างแท้จริง

อาลีเพย์พลัสเพิ่ม 9 อี-วอลเล็ตจากต่างประเทศ รวมเป็น 13 เพื่ออำนวยความสะดวกให้การชำระเงินแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมาประเทศไทยให้ครอบคลุมขึ้นกว่าเดิม จากความร่วมมือกับเคาน์เตอร์ เซอร์วิส แอปพาร์ตเนอร์ของอาลีเพย์พลัสสามารถใช้ชำระเงินค่าสินค้าและบริการที่ เซเว่น-อีเลฟเว่นทั่วประเทศ ต่อยอดการใช้งานอาลีเพย์ (จากจีนแผ่นดินใหญ่) ที่สามารถใช้ชำระเงินได้ตั้งแต่ปี 2016 เพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีน อาลีเพย์พลัส และเซเว่น-อีเลฟเว่นจัดแคมเปญพิเศษที่เซเว่น-อีเลฟเว่น

เซเว่น-อีเลฟเว่น (7-Eleven) เพิ่มตัวเลือกช่องทางการชำระเงินผ่าน 13 อี-วอลเล็ตจากต่างประเทศผ่านอาลีเพย์พลัส (Alipay+) ผู้ให้บริการด้านธุรกรรมการชำระเงินแบบดิจิทัลระหว่างประเทศ และแพลตฟอร์มการตลาด บริหารงานโดย แอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อเพิ่มความสะดวกในการชำระค่าสินค้าและบริการแก่นักท่องเที่ยวที่เซเว่น-อีเลฟเว่นในกว่า 14,500 สาขาทั่วประเทศ โดยการให้บริการดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะอำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยมีเคาน์เตอร์ เซอร์วิส (Counter Service) เป็นแพลตฟอร์มที่เชื่อมต่อการบริการระหว่าง อาลีเพย์พลัส กับเซเว่น-อีเลฟเว่น เข้าด้วยกัน


เมื่อเร็วๆ นี้ อาลีเพย์พลัสได้ขยายเครือข่ายพันธมิตรผู้ให้บริการอี-วอลเล็ตต่างประเทศเพื่อรองรับการชำระเงินค่าสินค้าที่เซเว่น-อีเลฟเว่นในประเทศไทย โดยอี-วอลเล็ตที่รองรับการชำระเงินได้แก่ MyPB by Public Bank Berhad จากมาเลเซีย, Naver Pay และ Toss Pay จากเกาหลีใต้, Changi Pay และ OCBC Digital จากสิงคโปร์, GCash จากฟิลิปปินส์, Hipay จากมองโกเลีย, MPay จากเขตบริหารพิเศษมาเก๊าแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, และ Tinaba จากอิตาลี

อี-วอลเล็ต อาลีเพย์ (Alipay) จากจีนแผ่นดินใหญ่สามารถใช้ชำระค่าสินค้าและบริการในประเทศไทยได้มาตั้งแต่ปี 2015 ในขณะที่ AlipayHK จากเขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน, Kakao Pay จากเกาหลีใต้ และ Touch ‘n Go eWallet จากมาเลเชีย เริ่มใช้บริการได้ตั้งแต่ปี 2023 ที่ผ่านมา

เทศกาลตรุษจีนซึ่งเริ่มตั้งแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากกว่า 1 ล้านคนเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย และคาดว่าจะสร้างรายได้ให้แก่ประเทศกว่า 28.4 พันล้านบาท (หรือราว 800 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์ว่านักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศมากที่สุดในช่วงเทศกาลดังกล่าวคือนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่ และนักท่องเที่ยวจากเขตบริหารพิเศษฮ่องกง


เซเว่น-อีเลฟเว่นมีสาขากว่า 14,500 แห่งครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศไทย โดยเซเว่น-อีเลฟเว่นไม่เพียงเป็นร้านสะดวกซื้อที่เหมือนเป็นสวรรค์สำหรับผู้ที่ชื่นชอบในการรับประทาน แต่ยังเป็นร้านค้าที่มีสินค้าครบครันตอบโจทย์ในที่เดียวทั้งสินค้าพื้นฐานเพื่อการอุปโภคและบริโภค ของที่ระลึกและสินค้าพื้นบ้าน สินค้าเพื่อสุขภาพสำหรับคนรักสุขภาพ เช่น ไข่ต้มพร้อมรับประทาน อกไก่พร้อมรับประทาน หรือเครื่องดื่มโปรตีนเชก เป็นต้น

นายวีรเดช อัครผลพานิช รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคาน์เตอร์เซอร์วิส จำกัด กล่าวว่า “เคาน์เตอร์ เซอร์วิส ระบบเทคโนโลยีการชำระเงินชั้นนำระดับโลกที่เชื่อถือได้ ได้เสริมประสิทธิภาพและขอบเขตการให้บริการช่องทางการชำระเงินแบบดิจิทัลสำหรับการซื้อสินค้าและบริการที่ เซเว่น-อีเลฟเว่น เพื่ออำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวันของผู้คน โดยให้บริการด้านการเงิน การชำระเงินค่าประกัน ค่าบัตรเข้าชมกีฬาและคอนเสิร์ต ชำระเงินเพื่อการเดินทางท่องเที่ยวต่างๆ และจากกระแสความนิยมในการเดินทางท่องเที่ยวที่กำลังเพิ่มขึ้น เคาน์เตอร์ เซอร์วิสได้มีการวางระบบเพื่อรองรับความต้องการของนักท่องเที่ยว และพร้อมเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อเพื่อรองรับความต้องการของผู้ที่เดินทางมาจากทั่วโลกด้วยช่องทางการชำระเงินแบบไร้เงินสดเพื่อมอบความสะดวกสบายให้แก่นักท่องเที่ยว”

ปัจจุบัน อาลีเพย์พลัสให้บริการใน 57 ประเทศ โดยเชื่อมโยงผู้ค้ากว่า 88 ล้านรายทั่วโลกเข้ากับบัญชีผู้ใช้ 1.5 พันล้านบัญชีผ่านอี-วอลเล็ต และแอปชำระเงินชั้นนำกว่า 25 รายการในประเทศไทย อาลีเพย์พลัสเดินหน้าเพิ่มเครือข่ายร้านค้าพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันร้านค้าพันธมิตรนั้นครอบคลุมทั้งในห้างสรรพสินค้า และร้านค้าที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว เช่น ห้างสรรพสินค้าในเครือเซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น, เดอะ มอลล์ กรุ๊ป และร้านค้าแบรนด์ไทยยอดนิยมอย่าง คิงเพาเวอร์ และจิม ทอมป์สัน

ทั้งนี้ เคาน์เตอร์เซอร์วิส (CS) คือผู้นำในธุรกิจบริการรับชำระเงิน และระบบชำระเงินซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1994 ผลิตภัณฑ์และบริการหลักของเคาน์เตอร์เซอร์วิส คือ บริการชำระเงินเพื่อความสะดวกต่างๆ ได้แก่ ชำระค่าสินค้าและบริการในชีวิตประจำวัน รวมถึงบริการด้านการเงิน ฝาก ถอน ประกัน ภาษียานพาหนะ ค่าบัตรค่าเข้าชมคอนเสิร์ตและกีฬา ค่าเดินทางและท่องเที่ยว และอื่นๆ ภายใต้พันธกิจที่ว่า “จะเป็นจุดให้บริการที่ตอบรับทุกความต้องการของประชาชนผู้ใช้บริการ และจะเป็นจุดให้บริการที่ครอบคลุมทุกพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้บริการทุกคน

นายสิทธิพงษ์ กิตติประภาพงศ์ ผู้จัดการทั่วไป ด้าน Global Merchant Partnership ประจำประเทศไทย แอนท์ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ประเทศไทยคือหนึ่งในจุดหมายปลายทางระดับโลกที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจ และเรารู้สึกดีใจที่เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวผ่านการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัล และทำงานร่วมกับร้านค้า รวมถึงพาร์ตเนอร์อย่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีน และนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ในอาเซียนมาประเทศไทย ผ่านความสะดวกและสร้างประสบการณ์การใช้จ่ายที่ไร้กังวลให้แก่นักท่องเที่ยว ทั้งเพื่อช่วยธุรกิจในประเทศให้สามารถสร้างรายได้ผ่านการเติบโตด้านการท่องเที่ยว

และเพื่อเป็นการตอบรับเทศกาลท่องเที่ยวที่กำลังดำเนินอยู่ อาลีเพย์พลัส ร่วมกับเซเว่น-อีเลฟเว่น ได้จัดโปรโมชันพิเศษสำหรับผู้ใช้งานแอปอาลีเพย์พลัส ด้วยคูปองส่วนลดกว่า 50%

สำหรับอาลีเพย์พลัส (Alipay+) คือแพลตฟอร์มธุรกรรมการชำระเงินแบบดิจิทัลระหว่างประเทศ แพลตฟอร์มการตลาด และดิจิทัลโซลูชันที่เชื่อมต่อร้านค้าและผู้บริโภคเข้าด้วยกัน โดยผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ช่องทางการชำระเงินเพื่อทำธุรกรรมทั้งในและต่างประเทศได้อย่างสะดวกสบายพร้อมรับข้อเสนอพิเศษทางการตลาดเมื่อเดินทางท่องเที่ยว ธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางสามารถใช้อาลีเพย์พลัสเพื่อเป็นเครื่องมือทางดิจิทัลในการเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างการเติบโตด้านยอดขายผ่านรูปแบบการค้าแบบ omni-channel


กำลังโหลดความคิดเห็น