กรมการค้าต่างประเทศเผย FTA อาเซียน-เกาหลีช่วยดันยอด “ข้าวโพดหวาน” ของไทยส่งออกไปตลาดเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนครองแชมป์อันดับหนึ่ง เหตุได้แต้มต่อลดภาษีเหลือ 5% จากปกติ 15% ส่วน FTA อื่นก็มีการลดภาษี ทั้งญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และภายใต้ RCEP
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้ติดตามสถิติการนำเข้าข้าวโพดหวานของเกาหลีใต้จากไทย พบว่าเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีการนำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2566 มีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 45.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,626 ล้านบาท ซึ่งเป็นการนำเข้าโดยใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-เกาหลี (ASEAN–Korea FTA : AKFTA) เกือบทั้งหมด คิดเป็น 99.94% ของมูลค่าการส่งออกสินค้าข้าวโพดหวานไปยังเกาหลีใต้
ทั้งนี้ การใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกทำให้สินค้าไทยได้แต้มต่อทางภาษีในการแข่งขัน และในตลาดเกาหลีใต้สำหรับสินค้าข้าวโพดหวาน หากไม่ได้ใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ AKFTA จะต้องเสียภาษีศุลกากรนำเข้า (MFN Rate) ในอัตรา 15% แต่ถ้าใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA โดยมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ฟอร์ม AK) ที่ออกโดยกรมกำกับไปด้วย จะได้รับการลดภาษีนำเข้าจาก 15% เหลือ 5% ซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่สินค้าข้าวโพดหวานของไทย
ในปี 2566 เกาหลีใต้นำเข้าข้าวโพดหวานจากทั่วโลกรวมมูลค่า 64.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับ 1 คิดเป็นสัดส่วน 70.8% รองลงมาคือ สหรัฐฯ และจีน โดยมีสัดส่วนการนำเข้า 23.4% และ 2.3% ตามลำดับ
นอกจากนี้ จากการติดตามสถิติการนำเข้าย้อนหลังของเกาหลีใต้ตั้งแต่ไทยและเกาหลีใต้มีความตกลง FTA ระหว่างกัน พบว่ามีการนำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยในปี 2557 มีการนำเข้าข้าวโพดหวานจากไทยมูลค่า 17.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเรื่อยมาจนถึงปี 2566 คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 11.4% ต่อปี
ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่ส่งออกข้าวโพดหวานรายใหญ่อันดับต้นของโลก โดยในปี 2566 ไทยส่งออกข้าวโพดหวานสำหรับบริโภคในปริมาณ 237,170 ตัน มูลค่า 270.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และไต้หวัน ตามลำดับ และนอกจากตลาดเกาหลีใต้ ซึ่งไทยสามารถใช้ประโยชน์จาก FTA ในการส่งออกข้าวโพดหวานได้เป็นอย่างดีแล้ว ยังมีตลาดอื่นๆ ที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกโดยสามารถใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA ในการขยายตลาด โดยได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรเป็น 0% เช่น ญี่ปุ่น ใช้สิทธิ์ภายใต้ FTA อาเซียน-ญี่ปุ่น หรือไทย-ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย ภายใต้ FTA อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) เป็นต้น
“รัฐบาลมีความมุ่งหวังและตั้งเป้าให้มีการเจรจาเปิดตลาดเสรีทางการค้าในภูมิภาคอื่นๆ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าที่มีภายใต้ความตกลงต่างๆ เพื่อให้ผู้ประกอบการไทยมีทางเลือกในการซื้อขายและจัดหาวัตถุดิบเพื่อเพิ่มมูลค่า ลดต้นทุนการผลิต ส่งเสริมการประกอบธุรกิจของ SMEs ให้มั่นคงแข็งแรง สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก โดยกรมพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและส่งเสริมผู้ประกอบการไทย พร้อมให้ข้อมูลและคำปรึกษา หากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้า ผู้ประกอบการสามารถค้นหาข้อมูลได้ที่เว็บไซต์กรมการค้าต่างประเทศ www.dft.go.th หรือโทร.สายด่วน 1385 รวมถึงไลน์แอปพลิเคชัน ชื่อบัญชี @gsp_helper” นายรณรงค์กล่าว