ผู้เชี่ยวชาญ ม.มหิดลแนะเลือกซื้อเนื้อหมู เนื้อไก่ ในช่วงเทศกาลตรุษจีนจากผู้ผลิตและผู้จำหน่ายที่ได้มาตรฐาน มีตราสัญลักษณ์รับรอง เป็นหลักประกันความสด สะอาด และปลอดภัย ย้ำผู้บริโภคต้องปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกก่อนบริโภค หรืออุ่นร้อนเสมอเพื่อความปลอดภัย
รศ.ดร.นายสัตวแพทย์ กัมพล แก้วเกษ ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เทศกาลตรุษจีนเป็นเทศกาลที่คนไทยเชื้อสายจีนจัดพิธีไหว้เจ้าและเคารพบรรพบุรุษที่ล่วงลับ โดยลูกหลานนิยมนำอาหารมาไหว้ โดยเครื่องไหว้ที่สำคัญ คือ อาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ เช่น หมู เป็ด ไก่ วิธีการเลือกซื้อจึงควรคำนึงถึงความสด สะอาด และปลอดภัย เพราะหลังจากเสร็จพิธีจะนิยมนำมาบริโภคภายในครอบครัว เพื่อความเป็นสิริมงคลและได้รับคุณค่าทางโภชนาการที่ดี โดยเฉพาะโปรตีนจากเนื้อสัตว์
“การเลือกซื้อเนื้อสัตว์อย่างปลอดภัย ควรใส่ใจในการเลือกซื้อ โดยเลือกจากร้านจำหน่ายที่เชื่อถือได้ หรือที่มีเครื่องหมายรับรองความปลอดภัยจากหน่วยงานภาครัฐ เพราะหลังจากไหว้เจ้าและบรรพบุรุษ ผู้บริโภคตัวจริงคือตัวเราและครอบครัว ที่สำคัญต้องปรุงสุกเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัย” รศ.ดร.นายสัตวแพทย์ กัมพลกล่าวย้ำ
สำหรับวิธีการเลือกซื้อเนื้อหมู ให้สังเกตลักษณะภายนอก เนื้อหมูต้องมีสีแดงธรรมชาติ ไม่เป็นสีแดงเข้ม หรือเขียวคล้ำ เมื่อกดเนื้อไม่กระด้าง ไม่มีเม็ดสาคู ซึ่งเสี่ยงที่จะเป็นไข่พยาธิ นอกจากนี้แนะเลือกร้านจำหน่ายที่มีความสะอาด มีมาตรการป้องกันความปลอดภัย หรือสังเกตตราสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” จากกรมปศุสัตว์ เพราะเนื้อสัตว์ผ่านการรับรองมาตรฐานความความปลอดภัยสำหรับการบริโภค มีการตรวจสอบสารปนเปื้อน สามารถตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งที่มาได้ ตั้งแต่ฟาร์ม โรงชำแหละ จนถึงสถานที่จำหน่าย
ส่วนเนื้อหมูที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ควรสังเกตฉลากรับรองมาตรฐานความปลอดภัยอาหาร จากกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงวันผลิตและวันหมดอายุ ซึ่งช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคได้ ที่สำคัญ อุณหภูมิตู้เย็นที่เก็บรักษาต้องได้ตามมาตฐานตั้งแต่ที่ 0-4 องศาเซลเซียส และไม่ควรเกิน 8 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ อาหารที่ไหว้ แม้จะผ่านการทำให้สุกแล้วแต่ก่อนนำไปรับประทานต้องปรุงสุกซ้ำโดยปรุงสุกผ่านความร้อนที่อุณภูมิอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส
ด้าน ดร.สัตวแพทย์หญิง ระพีวรรณ ธรรมไพศาล ภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.มหิดล แนะนำการเลือกซื้อเนื้อไก่ หากซื้อเป็นตัวให้สังเกตจากลักษณะภายนอก มีความสดใหม่ สีขาวอมชมพู ไม่มีสีคล้ำ ผิวหนังเป็นมัน ไม่มีรอยช้ำเลือดหรือจ้ำเลือด โดยเฉพาะบริเวณของปีกหรือใต้ปีก ไม่มีลักษณะของเหลวเมือกๆ และไม่มีกลิ่นเหม็น
นอกจากนี้ ให้เลือกซื้อจากผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายที่น่าเชื่อถือ หากเลือกซื้อเนื้อสัตว์อยู่ในบรรจุภัณฑ์ ให้ดูวันผลิตและวันหมดอายุ และสังเกตตราสัญลักษณ์รับรองมาตรฐานว่าผ่านเกณฑ์อาหารปลอดภัย ตรวจสอบย้อนกลับได้
ที่สำคัญต้องปรุงเนื้อไก่ให้สุกด้วยอุณหภูมิที่ 100 องศาเซลเซียส 1 นาที หรือ 60 องศาเซลเซียส 4-5 นาที สำหรับเนื้อไก่ที่สุกแล้ว หลังไหว้ไม่ควรนำมารับประทานทันที ก่อนรับประทานให้นำมาอุ่นอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ประมาณ 2 นาที เพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค
สำหรับเป็ด ไก่ ที่บริโภคไม่หมด ให้เก็บไว้ในช่องแช่แข็งเพื่อหยุดการเจริญของแบคทีเรีย โดยการเก็บรักษาที่ถูกต้อง ควรแบ่งประเภทของเนื้อสัตว์ นำใส่ภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดมิดชิด แยกจากผักเพื่อป้องกันการปนเปื้อนข้ามจากเนื้อสัตว์สู่ผัก และให้มีช่องว่างในการแช่เพื่อให้ความเย็นกระจายทั่วถึง ช่วยยืดอายุของการเก็บรักษาได้นานยิ่งขึ้น และควรแบ่งเก็บเป็นส่วนๆ ให้พอดีกับการรับประทานในแต่ละครั้ง เพื่อเลี่ยงการอุ่นอาหารซ้ำไปมา เพราะจะทำให้สูญเสียคุณค่าทางโภชนาการ และที่สำคัญควรจัดเก็บในอุณหภูมิที่เหมาะสมคือ ต่ำกว่า 5 องศาเซลเซียส