เงินเฟ้อ ม.ค. 67 ติดลบ 1.11% ลดลงต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ต่ำสุดในรอบ 35 เดือน เหตุมาตรการรัฐลดน้ำมัน ค่าไฟ ผักสด เนื้อสัตว์ลง ราคาสินค้าอื่นๆ ทรงตัว และฐานปีก่อนสูง ย้ำไม่มีสัญญาณเงินฝืด เหตุติดลบจากมาตรการรัฐ สินค้ายังเคลื่อนไหวปกติ มีขึ้น มีลง ไม่น่าห่วง คาดปี 67 ติดลบ 0.3% ถึงเพิ่ม 1.7% ค่ากลาง 0.7%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ม.ค. 2567 เท่ากับ 106.98 เทียบกับ ธ.ค. 2566 เพิ่มขึ้น 0.02% เทียบกับเดือน ม.ค. 2566 ลดลง 1.11% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 35 เดือน นับจาก ก.พ. 2564 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากมาตรการลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาครัฐ ประกอบกับราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงลดลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะผักสดและเนื้อสัตว์ เนื่องจากปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดเพิ่มขึ้น รวมทั้งฐานราคาเดือน ม.ค. 2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อค่อนข้างสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลง ขณะที่สินค้าและบริการอื่นๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
“เรื่องเงินฝืด มีคำถามมา 2-3 เดือนแล้ว ก็อย่างที่บอก มันเป็นตัวชี้วัดหนึ่งที่บอกว่าลบติดต่อกัน 3 เดือน เป็นเงินฝืด แต่ก็ต้องไปดูว่าสินค้าส่วนใหญ่ลดลงหรือเปล่า ก็มีสูงขึ้น ลดลง คงที่ และยังต้องไปดูที่เงินเฟ้อ มันเฟ้อโดยตัวของมันเอง หรือมีกลไกแทรกแซง ซึ่งมีการแทรกแซง โดยเฉพาะนโยบายลดค่าครองชีพ ทั้งน้ำมัน ค่าไฟฟ้าที่เป็นตัวหลัก สรุปคือ ยังไม่ฝืดหรอกครับ ยังไม่น่าเป็นห่วง” นายพูนพงษ์กล่าว
ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ม.ค. 2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค. 2566 และเพิ่มขึ้น 0.52% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค. 2566
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปเดือน ก.พ. 2567 และเดือน มี.ค. 2567 คาดว่าจะลดลงต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ได้แก่ การตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าในอัตราไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งมีประชาชนได้รับประโยชน์ 17.77 ล้านราย และมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เม.ย. 2567 และผลกระทบของปรากฏการณ์เอลนีโญลดลง และบางพื้นที่มีอุณหภูมิลดลง ทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมากกว่าปีก่อนหน้า ส่งผลให้ราคามีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1 ปี 2567 เงินเฟ้อน่าจะติดลบประมาณ 0.7% ส่วนเงินเฟ้อเดือนต่อๆ ไปอาจเห็นบวกบ้าง ลบบ้าง
ทั้งนี้ มีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ทั้งสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ค่าระวางเรือและสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับตัวสูงขึ้น เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้ราคาสินค้านำเข้าสูงขึ้น ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ทั้งจากความต้องการเพิ่มขึ้น และการปรับราคาเพื่อให้มีความสมดุลและเป็นธรรมแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน และการขยายตัวต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว หลังจากภาครัฐมีนโยบายอำนวยความสะดวกในการเดินทางมาประเทศไทยของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจประเทศต่างๆ ส่งผลให้อุปสงค์และราคาสินค้าในหมวดที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่าง ลบ 0.3% ถึงเพิ่ม 1.7% ค่ากลาง 0.7%