กรมทรัพย์สินทางปัญญาลงพื้นที่ จ.เชียงราย ตรวจรับรองระบบควบคุมตรวจสอบสินค้ากาแฟดอยช้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค พร้อมพบหารือกับเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูแล และนางแล หนุนสร้างโอกาสทางการตลาดเพิ่มผ่านการแปรรูป
น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงรายร่วมกับหน่วยตรวจรับรอง (Certification Body) ที่ได้รับการรับรองระบบตามมาตรฐานสากลด้านสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือมาตรฐาน ISO 17065 : 2012 ตรวจรับรองระบบควบคุมตรวจสอบสินค้ากาแฟดอยช้างให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และยังได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ในด้านการส่งเสริมการตลาด การรักษาควบคุมคุณภาพสินค้า และการป้องกันการละเมิดให้กับสินค้ากาแฟดอยช้างด้วย
ทั้งนี้ กรมมีภารกิจสำคัญทั้งด้านการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ด้านรักษาควบคุมคุณภาพ และด้านส่งเสริมการตลาด โดยสำหรับสินค้าที่มีศักยภาพในตลาดต่างประเทศ กรมจะผลักดันให้ได้รับการตรวจรับรองระบบควบคุมตรวจสอบสินค้า GI ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล
ปัจจุบันจังหวัดเชียงรายมีการขึ้นทะเบียนสินค้า GI ทั้งสิ้น 8 สินค้า ได้แก่ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง ชาเชียงราย สับปะรดภูแลเชียงราย สับปะรดนางแล เครื่องเคลือบเวียงกาหลง ข้าวก่ำล้านนา และข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย ซึ่งล้วนเป็นสินค้าที่มีศักยภาพในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะกาแฟดอยช้าง ที่ขึ้นทะเบียน GI ในสหภาพยุโรปตั้งแต่ปี 2558 และล่าสุดขึ้นทะเบียน GI ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อปี 2566 และที่ผ่านมาสามารถสร้างมูลค่าทั้งในประเทศและต่างประเทศกว่า 38.5 ล้านบาทต่อปี
น.ส.กนิษฐากล่าวว่า กรมยังได้พบหารือกับนายอำนาจ ตันตระกูล ประธานวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกสับปะรดอำเภอเมืองเชียงราย (สวน ต.ตระกูล) เกี่ยวกับสถานการณ์การจำหน่ายสับปะรดในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้ผลิตสับปะรดภูแลเชียงรายและสับปะรดนางแลแล้ว ยังได้นำสินค้า GI ดังกล่าวไปต่อยอดสร้างโอกาสทางการตลาด และเป็นจุดเริ่มต้นในการเพิ่มมูลค่าด้วยการแปรรูปเป็นซอสพริกสับปะรดภูแล สอดคล้องกับนโยบายของนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI ผ่านการต่อยอดและพัฒนาผลิตภัณฑ์ในมิติต่างๆ เพื่อสร้างงาน สร้างรายได้ให้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดภูแลเชียงรายอย่างยั่งยืน
“กรมจะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ โดยมีตราสัญลักษณ์ GI ไทย เป็นเครื่องยืนยันคุณภาพและมาตรฐานสินค้าจากแหล่งพื้นที่เพาะปลูกโดยตรง และยังมีแผนที่จะผลักดันสินค้าที่ขึ้นทะเบียน GI แล้ว เข้าสู่ระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้า เพื่อรักษามาตรฐานการผลิตอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ผลิต ผู้ประกอบการ GI ที่สนใจจัดทำระบบควบคุมคุณภาพ สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา โทร. 1368” น.ส.กนิษฐากล่าว