ส.อ.ท.เปิดความท้าทายเศรษฐกิจไทยปี 2567 ความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลกดีกรีความเข้มข้นเพิ่มขึ้นเกาะติดสถานการณ์ตะวันออกกลางหากบานปลายกระทบ ศก.ไทยทุกมิติ โดยเฉพาะส่งออกที่ตั้งไว้โต 2-3% ยังเสี่ยง แถมประเทศหลายแห่งเลือกตั้งใหม่มิติการเมืองอาจเปลี่ยน แนะกระทรวงการต่างประเทศวางสมดุลให้ดี ขณะที่ปัจจัยบวกท่องเที่ยวไทยส่อโตเพิ่ม ต้นทุนการเงินอาจลดต่ำจาก ดบ.ขาลง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยในงานเสวนา "ความท้าทายใหม่ของภาคธุรกิจไทยปี 2024 ว่า ปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังคงมีความท้าทายเช่นเดียวกับปี 2566 แต่จะมีความเข้มข้นมากขึ้นในแง่ของความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์โลก (Geopolitics) ที่ต้องติดตามใกล้ชิดโดยเฉพาะจากกรณีการสู้รบของอิสราเอล-ฮามาสที่ขยายพื้นที่และอาจเป็นระดับภูมิภาคตะวันออกกลางได้หลังมีการโจมตีเรือเดินสินค้าในทะเลแดงจนกระทบต่อการขนส่งที่ต้องอ้อมไปยังแหลมกู๊ดโฮปที่ใช้เวลาเพิ่มขึ้นถึง 2 สัปดาห์ส่งผลให้ค่าระวางเรือสินค้าปรับขึ้นอย่างมาก จึงนับเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในทุกมิติ
“หากค่าระวางเรือขึ้นต่อเนื่องที่สุดจะกระทบต่อราคาสินค้าและเงินเฟ้อจะกลับมา และถ้าโจมตีไปยังบ่อน้ำมันต่างๆ เกิดระเบิดอาจจะทำให้ราคาน้ำมันพุ่งกลับมาอีกถือเป็นความเสี่ยงที่มาก เพราะเป็นสงครามในทุกมิติเศรษฐกิจ ไทยเองพึ่งพาส่งออกคิดเป็น 60% ของจีดีพีแม้ว่าการส่งออกปี 2566 ไทยติดลบ 1% แต่ปี 2567 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดว่าจะโตได้ 2-3% แต่นั่นหมายถึงสงครามต้องไม่บานปลายจนกระทบส่งออกเพราะทะเลแดงเป็นเส้นทางสำคัญส่งสินค้าไปยังเอเชีย และประเทศตะวันตก” นายเกรียงไกรกล่าว
นอกจากนี้ สิ่งที่ต้องติดตามและเป็นความท้าทายที่กระทรวงการต่างประเทศจะต้องวางจุดสมดุลของบทบาทไทยเนื่องจากปีนี้หลายประเทศทั่วโลกจะมีการเลือกตั้งโดยเฉพาะสหรัฐฯ ในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งหากโดนัลด์ ทรัมป์ มานโยบายจะเปลี่ยนไปสิ้นเชิงไทยต้องมีนโยบายที่จะปรับตัวได้อย่างไรทุกสถานการณ์ให้เป็นมิตรกับทุกฝ่าย และก็ไม่เข้าข้างใครแต่เราจะค้าขายกันทุกคน ดึงมาท่องเที่ยว ลงทุนได้เพิ่มขึ้น เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องวางนโยบายการต่างประเทศให้ดี
“การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ก็เป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่ทั่วโลกต่างก็ต้องเร่งปรับตัวมากขึ้นในปีนี้เช่นกัน โดยต้องมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่ต้องตอบโจทย์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ หรือ Net Zero แต่นี่คือโอกาสของไทยเช่นกัน รวมไปถึงการท่องเที่ยวที่ไทยก็มีโอกาสในปี 2567 เพิ่มขึ้นเมื่อรัฐบาลออกฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวจีนและล่าสุดมองว่าปีนี้น่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ถึง 38 ล้านคน ดังนั้นการนำเอา Soft Power เข้ามาเสริมเพื่อสร้างมูลค่าให้ท่องเที่ยวไทยจึงถือว่ามาถูกทาง” นายเกรียงไกรกล่าว
สำหรับปัจจัยด้านต้นทุนทางการเงินคงต้องติดตามอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ล่าสุดได้ส่งสัญญาณที่จะหยุดขึ้นดอกเบี้ยและอาจจะลดลง 3 ครั้งแต่ยังคงไม่ทราบถึงรายละเอียดที่ชัดเจน หากทิศทางเป็นไปตามนี้เชื่อว่าทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะพิจารณาปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุลอย่างแน่นอน ดังนั้นแนวโน้มต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการไทยในปีนี้จะดีขึ้นกว่าปีก่อนและจะเป็นแรงเสริมต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
“การขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ มีบริบทที่ต่างจากไทยเพราะเขาขึ้นเพื่อปราบเงินเฟ้อจากการที่ได้อัดฉีดเงินเข้าระบบ (คิวอี) ช่วงโควิด แต่หลังจากนั้นประชาชนกลับไม่ทำงานยังมีเงินจับจ่ายเหลือสูงจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงจนล่าสุดสถานการณ์เริ่มดีจึงส่งสัญญาณลดลง แต่ไทยที่ผ่านมาเราเจอเงินเฟ้อจากราคาสินค้า น้ำมันเพิ่มขึ้นแต่ไทยต้องปรับดอกเบี้ยเพื่อไม่ให้เงินไหลออกซึ่งก็จะเห็นว่า ธปท.ก็ไม่ได้ขึ้นถี่เหมือนเฟดและเชื่อว่าหากมีการลดลง ธปท.ก็จะปรับให้สมดุล ซึ่งการที่ดอกเบี้ยสูงได้กระทบวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ฟื้นตัวได้ช้าลง หากต้นทุนการเงินลดก็จะทำให้ศักยภาพเอสเอ็มอีของไทยดีขึ้น” นายเกรียงไกรกล่าว