นายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคเป็นธรรม โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุ "อนาคตประเทศไทยในเวทีโลก" ไม่ใช่แค่การกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่ต้องเป็นผู้นำ soft approach แสดงบทบาทด้านสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรมด้วยครับ นี่คือสิ่งที่ผมอยากเห็นจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศคนใหม่
ในบรรดาโผ ครม.เศรษฐา 1 การวางตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหนึ่งในตำแหน่งที่ผมมีความกังขา เพราะเกี่ยวข้องกับงานที่ผมติดตามและอยากเห็นบทบาทของรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ สามารถช่วงชิงความเป็นผู้นำในเวทีโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ
จากที่มีชื่อนายปานปรีย์ พหิธานุกร จะเป็นรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงการต่างประเทศ และ นายจักรพงษ์ แสงมณี จะเป็น รมช.กระทรวงการต่างประเทศ นั้น
ในกรณีนายปานปรีย์ ประสบการณ์ของท่าน เป็นที่ยอมรับในทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ จากบทบาทการเป็นผู้แทนการค้าไทย รวมถึงประสบการณ์ที่ท่านคุ้นเคยกับกระทรวงการต่างประเทศเป็นอย่างดี แต่ในกรณี นายจักรพงษ์ แสงมณี ที่จะเป็น รมช. ท่านอาจมีประสบการณ์ด้านเศรษฐกิจมาบ้าง แต่เรื่องการต่างประเทศ เรายังไม่เห็นจริงๆ ครับ
ผมได้ร่วมเสวนาว่าด้วยนโยบายต่างประเทศของพรรคการเมืองที่มีต่อรัฐบาลใหม่ในหลายเวที รวมถึงแสดงความคิดเห็นไปหลายๆ ครั้งเรื่องความจำเป็นเร่งด่วนของไทยในการเปลี่ยนจุดยืนทางการทูตโดยเร็ว เพราะรัฐบาลที่ผ่านๆ มาสอบตกมาโดยตลอด ต่อการแถลงนโยบายการต่างประเทศ (Foreign Policy) ให้สาธารณะทราบ และยิ่งไปกว่านั้น แทบไม่ให้ความสำคัญต่อนโยบายการต่างประเทศสักเท่าไหร่
การที่รัฐบาลใหม่ จะเน้นเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนกับต่างประเทศ ยิ่งแสดงให้เห็นว่า 3 สิ่งนี้เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลเหนือนโยบายการต่างประเทศของไทยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นสิ่งสำคัญแน่นอน แต่งานการต่างประเทศมันยิ่งใหญ่กว่านั้นครับ
คือ ประเทศไทยไม่เคยถูกคิดถึงเป็นลำดับต้นๆ ว่าควรมีส่วนร่วมหรือเป็นผู้นำเสนอทางออกของปัญหาและร่วมกันพัฒนาในด้านใดๆ เลย หากมีเรื่องอะไรสำคัญๆ เกิดขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ ต้องยอมรับความเป็นจริงครับว่า ส่วนมากเราจะเสนอตัวเข้าร่วมมากกว่าถูกเชิญและเรียกหา
ผมจึงอยากเห็นครับว่ารัฐบาลชุดใหม่จะ Reset ภาพลักษณ์และศักยภาพของประเทศเสียใหม่ เพื่อจะนำพาไทยไปยืนบนเวทีโลกอย่างสง่าผ่าเผย ผมเสนอไปหลายครั้งนะครับว่าไทยต้องเลือกการวางตัวเป็นผู้นำในเวทีระหว่างประเทศโดยใช้กระบวนการละมุน (soft approach) และวางจุดนี้ให้เป็นใจกลางความสำคัญของนโยบายการต่างประเทศให้ได้ ไทยจะสามารถกระโดดก้าวข้ามกรอบกระบวนทัศน์เดิมๆ แบบอนุรักษนิยม และพาไทยไปยืนแนวหน้าในเวทีโลก
บทบาทไทยต่อการทำงานเรื่องสิทธิมนุษยชนและงานมนุษยธรรม นี่แหละครับ ที่รัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่ต้องให้ความสำคัญด้วยครับ เพราะกำลังเป็นที่จับตาของประชาคมโลก และคาดหวังกับรัฐบาลประชาธิปไตย
เรื่องการค้าการลงทุน เราสู้คนอื่นเค้ายากครับในการจะเป็นผู้นำ แต่ไม่ได้หมายความว่าเราไม่ควรเน้น เราต้องเน้น แต่เน้นที่ soft approach ที่เราเป็นผู้นำได้จริงๆ และต่างชาติจะยอมรับเราในด้านนี้ และเมื่อนั้นความร่วมมือในด้านต่างๆ จะเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว
เอาแค่ปัญหาที่รอรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่มาจัดการ แค่เรื่องชายแดนไทย-เมียนมา ที่กระทบประชาชนตามแนวชายแดน ท้้งไทยและเมียนมา อย่างที่ผมเคยเสนอว่า สถานการณ์ความไม่เป็นประชาธิปไตยในเมียนมา ที่ส่งผลให้เกิดการสู้รบ สงครามการปฏิวัติที่ทำให้มีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศกว่า 1 ล้านคน และในจำนวนนั้นกว่า 3 แสนคน พร้อมทะลักเข้าไทยหากเกิดความรุนแรงขึ้น ไทยต้องเตรียมรับมือ และแสดงบทบาทในการเปิดระเบียงมนุษยธรรม Humanitarian Corridor และบทบาทในการแก้ไขปัญหาในเมียนมา โดยเฉพาะเรื่องเร่งด่วนในการกำหนดพื้นที่ปลอดภัย Safty Zone จากปฏิบัติการทางทหารทั้งโจมตีทางอากาศและภาคพื้น ที่กระทบกับประชาชนชายแดนเมียนมา-ไทย
อย่างที่ผมได้ขอหารือในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เมื่อวันที่ 10 ส.ค.66
นี่เป็นเพียงเรื่องเดียวเท่านั้น ยังมีอีกหลายปัญหาที่รอพิสูจน์การทำงานของรัฐบาล นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีต่างประเทศคนใหม่
ส่วนบทบาท ส.ส.ฝ่ายค้านก็พร้อมตรวจสอบและมีข้อเสนอแนะไปยังรัฐบาล อยากให้เปิดรับฟังและนำไปทำงานได้ครับ แต่สิ่งไหนที่ไม่เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ และประชาชน คงต้องค้านสุดซอยแน่นอนครับ"