"สุริยะ" เปิดประชุม "เวิร์กชอป" ดันลงทุน 72 โครงการ เร่งทางคู่รถไฟไทย-จีน เฟส 2 และสนามบินเพื่อเป็นฮับในภูมิภาค ตั้งเป้า 5-6 ปีลดต้นทุนโลจิสติกส์เหลือ 9-10% พร้อมสั่ง ทล.-กทพ.ศึกษาโปรเจกต์สะพานขึงใหม่ทดแทน "สะพานสารสิน" หวังให้เรือสำราญลอดผ่านได้รองรับท่องเที่ยวเพิ่ม
วันที่ 24 มกราคม 2567 นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการประชุม สัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน” ปี 2567 และปี 2568 โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม คณะผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงคมนาคม และหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุม
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการ “ขับเคลื่อนนโยบายคมนาคมเพื่อความอุดมสุขของประชาชน ปี 2567 และปี 2568” ว่า ได้ให้นโยบายทุกหน่วยงานของกระทรวงคมนาคมในการประชุมเชิงปฏิบัติการ (เวิร์กชอป) ระหว่างวันที่ 24-29 มกราคม 2567 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมนำนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมที่ได้มอบไว้เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2566 ตลอดจนนโยบายของรัฐบาลที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้มอบไว้สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567-2568 ไปแปลงเป็นแผนปฏิบัติการหรือ Action Plan ซึ่งจะทำให้นโยบายทั้งหมดเกิดผลในทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม โดยให้แต่ละหน่วยงานจัดทำแผนการดำเนินงาน กรอบเวลา (ไทม์ไลน์) ในการดำเนินการ ตั้งแต่ประกาศทีโออาร์ การประมูล ระยะเวลาก่อสร้าง และกำหนดแล้วเสร็จ โดยกระทรวงฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนและติดตามฯ ซึ่งจะทำเป็น KPI โครงการหากทำไม่ได้ตามแผนงาน ผู้บริหารแก้ปัญหาไม่ได้ ก็อาจจะมีการพิจารณาโยกย้ายได้ เป็นต้น
กระทรวงคมนาคมมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งมิติด้านการค้า การท่องเที่ยวและอุตสาหกรรม โดยพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้การขนส่งคนและขนส่งสินค้ามีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อลดต้นทุนโลจิสติกส์ของไทยจาก 10-12% ต่อจีดีพี ลงมาในระดับใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ประมาณ 9.5-9.8% ต่อจีดีพี จาก 5-6 ปีต่อจากนี้ โดยเฉพาะการใช้ระบบรางในการขนส่ง เช่น การพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ และการเชื่อมต่อจากสถานีรถไฟไปยังจุดหมายปลายทางได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
@สั่ง ทล.-กทพ.ศึกษาโปรเจกต์สะพานขึงใหม่ทดแทน "สะพานสารสิน" ให้เรือสำราญลอดได้
นายสุริยะกล่าวว่า นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการขนส่งทางน้ำ ทั้งด้านขนส่งและด้านการท่องเที่ยว โดยเฉพาะที่จังหวัดภูเก็ตมีจำนวนเรือท่องเที่ยวขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นแต่พบว่าเส้นทางเดินเรือดังกล่าวจะต้องผ่านสะพานสารสิน ซึ่งเป็นสะพานที่เชื่อมระหว่างจังหวัดพังงากับจังหวัดภูเก็ต แต่เรือสำราญขนาดใหญ่ลอดผ่านไม่ได้ ทำให้เรือต้องอ้อมเสียเวลาเป็นวัน ดังนั้นจึงมีนโยบายมอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) หารือกับการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ศึกษาออกแบบเพื่อก่อสร้างสะพานใหม่แบบสะพานขึงที่มีความสูงให้เรือขนาดใหญ่ลอดผ่าน และเมื่อก่อสร้างเสร็จก็จะรื้อสะพานเดิมออก โดยมีต้นแบบจากที่ได้เดินทางไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่มีสะพานขึงขนาดใหญ่ใช้ในการคมนาคม และยังมีความสวยงามและจะเป็นแลนด์มาร์กของจังหวัดภูเก็ตอีกด้วย
"สะพานสารสินปัจจุบันมีความยาว 660 เมตร หลักการคือจะมีการก่อสร้างสะพานใหม่ที่มีตอม่ออยู่บนฝั่ง ช่วงสะพานมีความกว้าง เพื่อให้เรือสำราญขนาดใหญ่ลอดผ่านได้ โดยมอบนโยบายให้กรมทางหลวงและ กทพ.ไปหารือร่วมกันว่าจะดำเนินโครงการอย่างไร เนื่องจากสะพานสารสิน จะเชื่อมต่อจากเส้นทางด่วนสายกะทู้-ป่าตอง-สนามบินภูเก็ต และเชื่อมกับมอเตอร์เวย์ ไปถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามแผนแม่บททางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง หรือ MR-MAP"
สำหรับในการเวิร์กชอปครั้งนี้จึงขอให้เน้นย้ำการผลักดันนโยบาย Quick Win 2567 และ 2568 โครงการสำคัญ 72 โครงการ และพิจารณานโยบายของนายกรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคมโดยเฉพาะเรื่องต่างๆ ได้แก่ 1. นโยบายผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาค 2. บูรณาการแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานกับเส้นทางในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงกับจีนตอนใต้ (รถไฟไทย-สปป.ลาว-จีน) โดยจะเร่งผลักดันรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 2 จากนครราชสีมา-หนองคาย และโครงการ EEC และเขตเศรษฐกิจพิเศษอื่นๆ และ 3. ให้ความสำคัญต่อโครงการแลนด์บริดจ์ เปิดประตูการค้าสองฝั่งสมุทรทางภาคใต้
นอกจากนี้ ตนได้ให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในระหว่างการก่อสร้าง จะต้องมีแนวทางในการควบคุมดูแลไม่ให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น โดยกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างจัดทำสมุดพกสำหรับบันทึกเรื่องความปลอดภัยกำกับดูแลความปลอดภัย หากบริษัทใดเกิดอุบัติเหตุบ่อย จะกำหนดเกณฑ์ในการตัดคะแนน