กรมการค้าต่างประเทศสนธิกำลังร่วมกับกรมการค้าภายใน ส่งผู้บริหารตรวจด่านนำเข้ามันเส้นตามแนวชายแดน ล่าสุดพบอีก 1 ราย ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สั่งระงับไม่ให้นำเข้าแล้ว จนกว่าจะปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐาน รวมตั้งแต่ผลผลิตออก พ.ย.66 ถึงปัจจุบัน ระงับนำเข้าไปแล้ว 10 ราย ยันเดินหน้าตรวจต่อเนื่อง เพื่อดูแลคุณภาพ และป้องกันกระทบราคาในประเทศ
นายนพดล คันธมาศ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ได้มอบหมายให้ตน และนายวรวิทย์ หมื่นทอง ผู้อำนวยการกองมาตรฐานสินค้านำเข้าส่งออก สนธิกำลังจัดชุดตรวจร่วมกับกรมการค้าภายใน ลงพื้นที่ตรวจสอบมันเส้นที่นำเข้าจากกัมพูชา ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน จ.สระแก้ว และจุดผ่านแดนถาวรช่องเม็ก จ.อุบลราชธานี เพื่อตรวจสอบการนำเข้ามันเส้นจากประเทศกัมพูชา และ สปป.ลาว ภายใต้กรอบของกฎหมายในกำกับดูแล โดยกรมได้ตรวจสอบคุณภาพของมันเส้นที่นำเข้าว่ามีความชื้น และสิ่งเจือปน เช่น ดินทราย เกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งความชื้นต้องไม่เกิน 14% ดินทรายต้องไม่เกิน 3%
ทั้งนี้ ผลการตรวจสอบระหว่างวันที่ 18-20 ม.ค.2567 พบผู้นำเข้ามันเส้นที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 1 ราย ณ จุดผ่านแดนถาวรบ้านเขาดิน และได้ระงับไม่ให้นำเข้าเป็นการชั่วคราว จนกว่าจะนำมันเส้นดังกล่าวไปปรับปรุงคุณภาพ และนำหลักฐานผลการตรวจสอบมาตรฐานตามที่กำหนดมาแสดงต่อกรม จึงจะนำเข้าต่อไปได้ ส่วนผลการตรวจสอบการนำเข้าช่วงผลผลิตมันสำปะหลังฤดูกาลผลิตปี 2566/67 เริ่มออกสู่ตลาด ตั้งแต่เดือนพ.ย.2566 ถึงกลางเดือนม.ค.2567 ได้ลงโทษผู้ที่นำเข้ามันเส้นคุณภาพต่ำไปแล้วรวม 10 ราย นับรวมรายล่าสุดนี้ด้วย
“การเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจสอบมาตรฐานมันเส้นที่นำเข้าตามแนวชายแดน โดยจัดชุดตรวจพิเศษระดับผู้บริหารกรมฯ เข้าไปลงพื้นที่กำกับดูแลการตรวจสอบคุณภาพมันเส้น เป็นอีกหนึ่งมาตรการยกระดับการป้องปรามการนำเข้ามันเส้นคุณภาพต่ำราคาถูกเข้ามาในประเทศ และเป็นการสื่อสารกับผู้นำเข้าให้เห็นถึงความสำคัญเรื่องคุณภาพสินค้าโดยตรง ซึ่งจะส่งผลให้ราคามันสำปะหลังของไทยมีเสถียรภาพอย่างต่อเนื่อง โดยหากพบว่าด่านนำเข้าใดยังมีการนำเข้ามันเส้นคุณภาพต่ำอยู่ ก็จะสั่งการให้เพิ่มความถี่ในการตรวจสอบด่านนั้นขึ้นไปอีก”นายนพดลกล่าว
นอกจากนี้ กรมยังได้บูรณาการร่วมกับกรมการค้าภายใน ตรวจสอบปริมาณการนำเข้าจริงว่าสอดคล้องตรงกันกับปริมาณที่แจ้งขออนุญาตขนย้ายมันเส้นหรือไม่ ซึ่งการบูรณาการการทำงานร่วมกันในลักษณะนี้ จะส่งผลดีกับสถานการณ์ราคามันสำปะหลังของไทย และสร้างความเชื่อมั่นด้านคุณภาพมาตรฐานให้ประเทศผู้ซื้อ ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังอย่างต่อเนื่องต่อไป