xs
xsm
sm
md
lg

อาหารญี่ปุ่นมิสิ้นมนต์ ไทยที่ 6 โลก 5.7 พันร้าน ปิ้งย่างพุ่ง-ซูชิลด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การตลาด - ตลาดรวมอาหารญี่ปุ่นยังเฟื่องฟู ท่ามกลางการแข่งขันตลาดร้านอาหารที่ดุเดือด คนไทยยังยกนิ้วให้ ไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นมากที่สุดในโลกอันดับที่ 6 ชี้ภาพรวมปี 2566 มีร้านอาหารญี่ปุ่นมากถึง 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 426 ร้าน หรือ 8.0% เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่มี 5,325 ร้าน เผยเซกเมนต์ร้านซูชิลดลง ส่วนประเภทปิ้งย่างกับราเมนเพิ่มขึ้น


ท่ามกลางการบริโภคอาหารของคนไทยที่มีอาหารให้เลือกมากมายหลายสัญชาติ หลายประเภท แน่นอนว่าหนึ่งในนั้นที่เป็นอาหารยอดนิยมของคนไทยย่อมหลีกหนีไม่พ้น อาหารญี่ปุ่น ที่ยังคงเป็นตลาดใหญ่และเป็นตลาดที่เติบโตต่อเนื่อง แม้ว่าตลาดร้านอาหารจะแข่งขันกันรุนแรงเพียงใดก็ตาม แต่อาหารญี่ปุ่นก็ยังคงอยู่ได้อย่างมั่นคงตลอดมา

ตอกย้ำประเด็นนี้ด้วยผลการสำรวจของ องค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร) กรุงเทพฯ ที่ระบุชัดเจนด้วยข้อมูลและตัวเลข ซึ่งล่าสุดกับผลการสำรวจของปี 2566 ในภาพรวม พบว่าร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทยมีจำนวน 5,751 ร้าน เพิ่มขึ้น 426 ร้าน หรือ 8.0% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว (ปี 2565 ที่มี 5,325 ร้าน)

โดยมีจำนวนร้านเพิ่มขึ้นทั้งในกรุงเทพฯ 5 จังหวัดปริมณฑล และต่างจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในจังหวัดปริมณฑลและเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าวว่า อาหารญี่ปุ่นมีการขยายตัวออกไปทั่วโลก โดยพบว่าในปี 2566 จำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยไทยก็เป็นตลาดสำคัญของอาหารญี่ปุ่นประเทศหนึ่ง ซึ่งมีมากเป็นอันดับที่ 6 ของโลก ไทยมีร้านอาหารญี่ปุ่นประมาณ 5,330 ร้าน ขณะที่ประเทศจีนมีมากที่สุดที่ 78,760 ร้าน รองลงมาคือ เกาหลีใต้มีประมาณ 18,210 ร้านซึ่งห่างจากจีนมาก

ขณะที่ทั่วโลกมีร้านอาหารญี่ปุ่นแพร่หลายในปี 2566 มากถึง 187,000 ร้าน เติบโต 20% เมื่อเทียบปี 2564 ซึ่งมีจำนวน 159,000 ร้าน และเพิ่มขึ้นอย่างมากตั้งแต่เมื่อปี 2549 ที่มีเพียง 24,000 ร้านเท่านั้น โดยร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นในทวีปเอเชียมากที่สุดที่ 21,000 ร้าน ส่วนอเมริกากลางและใต้รองลงมาเพิ่ม 7,000 ร้าน

อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ตามประเภทร้านอาหาร พบว่ามีทั้งประเภทที่มีการขยายตัวมากและมีประเภทที่หดตัวเช่นกัน กล่าวคือ ร้านซูชิซึ่งเป็นประเภทของร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีจำนวนร้านมากที่สุด มีจำนวนลดลงมากกว่าจำนวนร้านที่เพิ่มขึ้น โดยรวมแล้วลดลง 4.1% จากปี 2565 ที่มี 1,431 ร้าน แต่ลดลงเหลือ 1,372 ร้านในปี 2566 ส่วนประเภทเทปันยากิ ลดลงมากที่สุด 12.7% จากเดิมมี 55 ร้าน เหลือ 48 ร้าน


ขณะที่ประเภทร้านยากินิกุหรือบาร์บีคิวปิ้งย่างนั้น เพิ่มมากที่สุดถึง 22% จาก 341 ร้านเป็น 417 ร้าน ส่วนประเภทราเมนเพิ่ม 21% จาก 611 ร้าน เป็น 741 ร้าน อีกกลุ่มที่น่าสนใจคือ ชาบู เพิ่ม 17% จาก 386 ร้าน เป็น 453 ร้าน

เมื่อแยกย่อยลงไปอีกตามพื้นที่ พบว่าในกรุงเทพฯ ปี 2566 มีรวม 2,602 ร้าน เพิ่มขึ้น 8.7% จากปี 2565 ที่มี 2,394 ร้าน แต่ประเภทเทปันยากิลดลงมากที่สุด 16% ส่วนราเมนเพิ่มมากที่สุด 17% จากเป็น 352 จาก 300 ร้าน

ขณะที่พื้นที่ 5 จังหวัดปริมณฑล (นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร) ปี 2566 มีรวม 850 ร้าน เพิ่ม 8.4% จากปี 2565 ที่มี 784 ร้าน โดยประเภทอิซากะยะ เพิ่มมากที่สุด 43% เป็น 33 ร้าน จากเดิมมี 23 ร้าน ขณะที่ประเภทภัตตาคารมีมากสุดที่ 196 ร้าน แต่เพิ่มเพียง 14% จากเดิมมี 172 ร้าน ส่วนพื้นที่ต่างจังหวัดโดยรวมปี 2566 มีรวม 2299 ร้าน เพิ่ม 7.1% จากเดิมมี 2147 ร้าน โดยประเภทซูชิมีมากที่สุดที่ 648 ร้าน แต่ลดลง 6.2% มากที่สุด จากเดิมมี 691 ร้าน แต่ที่เพิ่มมากที่สุดคือประเภทยากินิกุหรือบาร์บีคิว 33.9% จากเดิม 121 ร้าน เป็น 162 ร้าน

ในจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีสาขาเดียว ปี 2566 มี 2,191 ร้าน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ที่มี 1,947 ร้าน และปี 2564 มี 1,518 ร้าน


แนวโน้มของร้านอาหารญี่ปุ่นจำนวนแบรนด์ที่มีหลายสาขา เช่น มี 51 สาขาขึ้นไป ในปี 2566 มีจำนวน 10 แบรนด์ กลุ่มที่มี 11-50 สาขาในปี 2566 มี 45 แบรนด์ น้อยกว่าปี 2566 ที่มี 48 แบรนด์ กลุ่มที่มี 6-10 สาขา มีจำนวน 59 แบรนด์ จากเดิมมี 56 แบรนด์

จากการสำรวจในปี 2566 เมื่อแยกจำนวนร้านที่เปิดดำเนินการอยู่แบ่งตามระดับราคาหารเฉลี่ยต่อหัว พบว่าระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว 101-250 บาท มีจำนวนมากที่สุด (2,040 ร้าน) รองลงมาคือ ระดับราคา 251-500 บาท (1,333 ร้าน) ตามมาด้วยราคาต่ำกว่า 100 บาท (691 ร้าน) และราคา 501-1,000 บาท (690 ร้าน) ซึ่งมีจำนวนร้านใกล้เคียงกัน เมื่อแยกตามพื้นที่ ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัว 101-250 บาทมีจำนวนมากที่สุด รองลงมาคือ ระดับราคา 251-500 บาท ทั้งในกรุงเทพฯ 5 จังหวัดปริมณฑล และต่างจังหวัด อันดับต่อมาสำหรับพื้นที่กรุงเทพฯ ได้แก่ ระดับราคา 501-1,000 บาท ส่วนพื้นที่ปริมณฑลและต่างจังหวัด ได้แก่ ระดับราคาต่ำกว่า 100 บาท เมื่อแยกตามประเภทร้าน ระดับราคาอาหารเฉลี่ยต่อหัวจะแตกต่างกัน


ผลสำรวจยังระบุด้วยว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะปริมณฑลและเมืองใหญ่ในต่างจังหวัด จากการสำรวจในปี 2566 พบว่าจังหวัดนครราชสีมามีจำนวนร้านโดยรวมเพิ่มขึ้นจนเกิน 100 ร้าน จังหวัดอุบลราชธานีและอุดรธานีมีจำนวนร้านโดยรวมเพิ่มขึ้นจนเกิน 50 ร้าน ทั้งนี้มีร้านอาหารญี่ปุ่นดำเนินกิจการอยู่ในทุกจังหวัดต่อเนื่องจากปี 2563

จากการสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นพบว่า การรับประทานอาหารนอกบ้านของผู้บริโภคชาวไทยกลับสู่สภาพช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง แม้จะยังกลับไปไม่ถึงระดับช่วงก่อนโควิด-19 ทางด้านจำนวนลูกค้าและยอดขายก็ฟื้นตัวกลับมาประมาณ 80-90% เมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นช่วงก่อนโควิด-19 แม้ยังคงมีปัจจัยอื่นนอกเหนือจากโควิด-19 ส่งผลกระทบอยู่ด้วยก็ตาม

นอกจากนี้ ยังมีความเห็นจากผู้ประกอบการว่าปี 2565 เป็นช่วงที่ยังไม่สามารถเดินทางไปเที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยหันมารับประทานอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย แต่ปี 2566 ผู้บริโภคชาวไทยสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศญี่ปุ่นได้แล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภคชาวไทยสามารถเพลิดเพลินกับการรับประทานอาหารญี่ปุ่นในประเทศญี่ปุ่นได้อีกครั้ง


ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของธุรกิจร้านอาหารปี 2566 จะเติบโตขึ้น 13.2% จากปีก่อน คิดเป็น 4.8 แสนล้านบาท แซงหน้าปี 2562 ช่วงก่อนเกิด โควิด-19 ซึ่งมีมูลค่า 4.31 แสนล้านบาท โดยมีปัจจัยการขึ้นราคาอาหารของร้านอาหารส่งผลกระทบอยู่ด้วย (รายงานธุรกิจร้านอาหาร ธันวาคม 2566 - ศูนย์วิจัยกสิกรไทย )

ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายท่านให้ความเห็นว่า การแข่งขันระหว่างร้านอาหารญี่ปุ่นด้วยกันเองและร้านอาหารประเภทอื่นๆ ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ร้านอาหารประเภทร้านซูชิมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา แต่จากการสำรวจปี 2566 พบว่าร้านซูชิมีจำนวนลดลง สาเหตุหนึ่งมาจากการแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นดังกล่าว ขณะเดียวกันผู้เกี่ยวข้องให้ความเห็นว่าร้านราเมน ร้านสุกียากี้ ชาบูชาบู ร้าน Izakaya และร้านเนื้อย่างเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการร้านอาหารญี่ปุ่นหลายแห่งได้ยกประเด็นปัญหาในการบริหารร้านอาหารญี่ปุ่นว่าคือต้นทุนวัตถุดิบอาหาร และค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น


เมื่อเปรียบเทียบจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในปี 2561 และปี 2566 พบว่ามีจำนวนร้านอาหารญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ เพิ่มขึ้น 1.5 เท่า 5 จังหวัดปริมณฑลเพิ่มขึ้น 2.2 เท่า และต่างจังหวัดเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า และโดยรวมทั้งประเทศเพิ่มขึ้น 1.9 เท่า เมื่อแยกตามประเภทร้านอาหารพบว่า มีประเภทร้านอาหารหลายประเภทมีจำนวนร้านขยายตัวเพิ่มขึ้น ผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นหลายท่านให้ความเห็นว่า ร้านอาหารญี่ปุ่นยังคงได้รับความนิยมในประเทศไทยต่อไป และคาดว่าในอนาคตจะมีร้านอาหารญี่ปุ่นหลากหลายรูปแบบมากขึ้น และเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในต่างจังหวัด โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีจำนวนประชากรมาก แม้จะมีอุปสรรคบางประการ เช่น การปรับตัวให้เข้ากับความต้องการและเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลาของผู้บริโภคชาวไทย การนำเสนอเมนูอาหารญี่ปุ่นที่เหมาะสมกับผู้บริโภคในแต่ละภูมิภาค ฯลฯ ก็ตาม

"ร้านอาหารญี่ปุ่นมีความสำคัญอย่างยิ่งในการเผยแพร่วัฒนธรรมอาหารญี่ปุ่นไปสู่นานาประเทศทั่วโลก พร้อมกันนั้นยังมีบทบาทขยายการส่งออกผลผลิตเกษตร ป่าไม้ ประมงและสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่น" นายคุโรดะ จุน ประธานเจโทร กรุงเทพฯ กล่าว และว่า “หลายปีที่ผ่านมามีร้านอาหารญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้นในต่างจังหวัดของประเทศไทย การเชิญชวนให้ร้านอาหารญี่ปุ่นในต่างจังหวัดมาใช้วัตถุดิบอาหารจากญี่ปุ่นจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นการส่งออกสินค้าอาหารจากประเทศญี่ปุ่นให้มีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ เจโทร กรุงเทพฯ ดำเนินกิจกรรมเชิงรุกในต่างจังหวัดอย่างต่อเนื่องในปีงบประมาณ 2566 โดยที่ผ่านมาได้จัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ประกอบการร้านอาหารและร้านค้าปลีกในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดขอนแก่นและจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเป็นการจัดงานแสดงสินค้าและเจรจาธุรกิจเฉพาะในต่างจังหวัดครั้งแรกของเจโทร กรุงเทพฯ”

นายคุโรดะกล่าวเสริมว่า “นอกจากนี้ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา เจโทร กรุงเทพฯ ได้จัดแคมเปญประชาสัมพันธ์วัตถุดิบอาหารนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ชื่อแคมเปญ “Made in JAPAN on tour วัตถุดิบญี่ปุ่นแท้ ยกญี่ปุ่นมาไว้ใกล้บ้าน” ในทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้งนี้ เจโทร กรุงเทพฯ ยังคงมุ่งมั่นดำเนินโครงการต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยคาดหวังว่าการเพิ่มจำนวนของร้านอาหารญี่ปุ่นจะส่งผลให้การนำเข้าและการค้าวัตถุดิบอาหารจากประเทศญี่ปุ่นขยายตัวต่อไป”


















กำลังโหลดความคิดเห็น