กลุ่มโรงกลั่นฯ ส.อ.ท.ร้องรัฐปรับราคาจำหน่ายน้ำมันยูโร 5 หลังใช้เงินรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาทเพื่อปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น ระบุราคาน้ำมันยูโร 5 ควรสะท้อนมาตรฐานคุณภาพ และเป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาค
รายงานจากกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กลุ่มโรงกลั่นฯ) เปิดเผยว่า กลุ่มโรงกลั่นฯ ได้ลงทุนปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเพื่อปฏิบัติตามข้อกำหนดการบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 5 โดยใช้เงินลงทุนรวมกว่า 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเร่งดำเนินการให้ทันกับนโยบายภาครัฐที่กำหนดไว้ ท่ามกลางความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมากมาย โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ความผันผวนด้านราคาน้ำมัน และการเปลี่ยนผ่านรูปแบบของการใช้พลังงาน อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า
กลุ่มโรงกลั่นฯ ได้ดำเนินการลงทุนก่อสร้างปรับปรุงหน่วยผลิตจนพร้อมจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป มีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการผลิตสูงกว่าการผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 4 จากการลงทุนเพื่อปรับปรุงระบบการกลั่นและการปรับชนิดของน้ำมันดิบเป็นชนิดกำมะถันต่ำเพื่อเข้าสู่กระบวนการกลั่น
ดังนั้น ทางกลุ่มโรงกลั่นฯ เห็นว่าการปรับราคาจำหน่ายจึงควรสะท้อนมาตรฐานคุณภาพของน้ำมันเชื้อเพลิงที่ดีขึ้น และเป็นไปในแนวทางเดียวกับตลาดน้ำมันในภูมิภาคที่เชื่อมโยงกับตลาดโลก สร้างความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืน ซึ่งการสนับสนุนการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาตรฐานน้ำมันยูโร 5 ช่วยลดปริมาณ PM 2.5 ในอากาศและสารก่อมะเร็งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
ทั้งนี้ ไทยได้ยกระดับมาตรฐานน้ำมันมาโดยตลอด โดยเริ่มบังคับใช้มาตรฐานน้ำมันยูโร 1 ตั้งแต่ปี 2539 และขยับมาเป็นมาตรฐานน้ำมันยูโร 4 เมื่อปี 2555 เป็นต้นมา จนต้นปี 2567 ได้ยกระดับมาตรฐานการระบายมลพิษจากรถยนต์ใหม่จากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 และยกระดับมาตรฐานคุณภาพน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ และดีเซลหมุนเร็วจากระดับยูโร 4 ให้เป็นยูโร 5 โดยปรับลดปริมาณกำมะถันจากไม่สูงกว่า 50 เป็นไม่สูงกว่า 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (10 ppm) และน้ำมันกลุ่มดีเซลจะต้องยกระดับมาตรฐานคุณภาพเพิ่มเติม ลดปริมาณสารโพลีไซคลิก อะโรมาติกส์ ไฮโดรคาร์บอน (PAHs) จากไม่ให้เกิน 11% เป็นไม่ให้เกิน 8%
ก่อนหน้านี้ กลุ่มโรงกลั่นฯ ได้ยื่นหนังสือถึงนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2566 เพื่อขอให้ภาครัฐพิจารณาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงกลั่นฯ ที่ต้องลงทุนปรับปรุงโรงกลั่นเพื่อผลิตน้ำมันยูโร 5 ตามที่ภาครัฐกำหนด เป็นเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา แต่ต้องมาจำหน่ายในระดับราคาเดิมโดยเฉพาะราคาน้ำมันดีเซลยูโร 5 ซึ่งถูกตรึงราคาไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร