เงินเฟ้อ ธ.ค.66 ติดลบ 0.83% ลดลงต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 34 เดือน เหตุสินค้ากลุ่มพลังงาน เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร ผักสด ราคาลดลง สินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาปกติ ย้ำอีกครั้ง ไม่มีสัญญาณเงินฝืด เหตุเงินเฟ้อติดลบจากมาตรการรัฐ รวมทั้งปี 66 เงินเฟ้อเพิ่ม 1.23% อยู่ในเป้าหมายที่กำหนด ส่วนปี 67 คาดอยู่ที่ติดลบ 0.3% ถึงเพิ่ม 1.7% ค่ากลาง 0.7%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ธ.ค.2566 เท่ากับ 106.96 เทียบกับ พ.ย.2566 ลดลง 0.46% เทียบกับเดือน ธ.ค.2565 ลดลง 0.83% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 34 เดือน นับจาก ก.พ.2564 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้า ตามนโยบายลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานของรัฐบาล รวมทั้งเนื้อสัตว์และเครื่องประกอบอาหารที่ราคาลดลงต่อเนื่อง และผักสดราคาลดลงค่อนข้างมาก ส่วนสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ และรวมเงินเฟ้อเฉลี่ย 12 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.) เพิ่มขึ้น 1.23% อยู่ในเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 1.0–1.7% ค่ากลาง 1.35%
“เงินเฟ้อที่ติดลบ 3 เดือนติดต่อกัน ขอชี้แจงอย่างนี้ การที่เงินเฟ้อลดลงต่อเนื่อง มีสาเหตุหลักมาจากมาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐ อันนี้สำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน ทั้งค่าน้ำมัน ค่ากระแสไฟฟ้า และสาเหตุอีกตัวที่ต้องดู คือ การลดลงของสินค้าและบริการ พบว่ายังลดลงแค่บางกลุ่ม ไม่ใช่สินค้าและบริการส่วนใหญ่ลดลง จึงยังไม่อยู่ในจุดที่เป็นภาวะเงินฝืด”นายพูนพงษ์กล่าว
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน ธ.ค.2566 ที่ลดลง 0.83% มาจากหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1% ตามการลดลงของราคาสินค้าในหมวดเคหสถาน ได้แก่ ค่ากระแสไฟฟ้า และสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) หมวดพาหนะ การขนส่ง และการสื่อสาร จากการลดลงของราคาน้ำมันดีเซล แก๊สโซฮอล์ 91 และค่าโดยสารรถไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า (เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า ตู้เย็น) และค่าใช้จ่ายส่วนบุคคลบางรายการราคาปรับลดลง (ผ้าอนามัย สบู่ถูตัว ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย เช่น แป้งทาผิวกาย น้ำยาระงับกลิ่นกาย อาหารสัตว์เลี้ยง เครื่องถวายพระ บุหรี่ สุรา และเบียร์ ส่วนหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลง 0.63% ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์ เป็ด ไก่และสัตว์น้ำ (เนื้อสุกร ไก่สด เนื้อโค ปลาทู กุ้งขาว ปลากะพง) ผักสด (ต้นหอม มะเขือ ผักบุ้ง) และเครื่องประกอบอาหาร (น้ำมันพืช เครื่องปรุงรส ซอสหอยนางรม) สำหรับสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ขนมอบ นมถั่วเหลือง นมเปรี้ยว ผลไม้สด (ทุเรียน ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า) รวมทั้งกาแฟผงสำเร็จรูป กาแฟ/ชา (ร้อน/เย็น) กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว และอาหารกลางวัน (ข้าวราดแกง) ราคาปรับสูงขึ้นเล็กน้อย
ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ธ.ค.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2566 และเพิ่มขึ้น 0.58% เมื่อเทียบกับเดือน ธ.ค.2565 รวม 12 เดือนเพิ่มขึ้น 1.27%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไป เดือน ม.ค.2567 คาดว่า ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ และมีโอกาสติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญมาจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล และตรึงค่ากระแสไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ราคาขายปลีกน้ำมันเบนซินในประเทศปรับลดลงตาม ผลกระทบจากปรากฎการณ์เอลนีโญ มีแนวโน้มลดลง และมาตรการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามมาตรการ Easy E-Receipt
อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยที่อาจส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เช่น การท่องเที่ยว ที่ส่งผลให้สินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งต้องติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ทั้งการโจมตีเรือขนส่งสินค้าในทะเลแดง ที่ทำให้การขนส่งทางทะเลปรับขึ้นค่าธรรมเนียมและค่าระวางเรือ ซึ่งคาดว่าจะเป็นผลกระทบชั่วคราวและเหตุการณ์ไม่น่าจะยืดเยื้อ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างติดลบ 0.3% ถึงบวก 1.7% ค่ากลาง 0.7% โดยมีสมมตฐานจากอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) 2.7-3.7% ราคาน้ำมันดิบดูไบ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 34-36 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ