xs
xsm
sm
md
lg

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเชื่อมฐานข้อมูลสิทธิบัตรการออกแบบของไทยกับสหภาพยุโรป

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมทรัพย์สินทางปัญญาจับมือสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรป (EUIPO) เชื่อมโยงฐานข้อมูลสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กับฐานขอมูล DESIGNview เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการ ในการสืบคืนข้อมูลการจดสิทธิบัตรการออกแบบได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มโอกาสได้รับจดทะเบียนเร็วขึ้น

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาแห่งสหภาพยุโรป (EUIPO) ดำเนินการเชื่อมโยงฐานข้อมูลสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของกรมเข้ากับฐานข้อมูล DESIGNview ของ EUIPO เพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ทั่วโลก โดยฐานข้อมูล DESIGNview ได้รวบรวมรายละเอียดคำขอสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่จดทะเบียนในสหภาพยุโรปและประเทศที่เข้าร่วม จำนวน 77 แห่งทั่วโลก ครอบคลุมประเทศที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหภาพยุโรป สหรัฐฯ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลี เป็นต้น และฐานข้อมูลดังกล่าว มีข้อมูลคำขอสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์มากกว่า 21.1 ล้านคำขอ และมีสถิติการเข้าสืบค้นข้อมูลของผู้ใช้งานทั่วโลกตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.2555 กว่า 7.8 ล้านครั้ง

โดยเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.2566 ที่ผ่านมา EUIPO ได้ประกาศการเข้าร่วมระบบฐานข้อมูล DESIGNview ของกรมอย่างเป็นทางการ โดยได้เชื่อมโยงฐานข้อมูลคำขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ของกรมจำนวนกว่า 74,000 คำขอ เข้ากับฐานข้อมูล DESIGNview ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในการเข้าถึงข้อมูลสิทธิบัตรได้สะดวก รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย ช่วยเพิ่มโอกาสในการได้รับจดทะเบียนเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ก่อนที่จะยื่นจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์กับกรม หรือสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ผู้ประกอบการควรเข้าไปตรวจสอบความใหม่ของการออกแบบด้วยตนเอง เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของการได้รับจดทะเบียนในเบื้องต้น และหลีกเลี่ยงการละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่น และผู้ประกอบการยังสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์แนวโน้มตลาดและธุรกิจได้อีกด้วย โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าใช้งานฐานข้อมูล DESIGNview ผ่านทางเว็บไซต์ https://www.tmdn.org/tmdsview-web

อย่างไรก็ตาม กรมจะมุ่งมั่นพัฒนางานบริการประชาชนให้สะดวก รวดเร็ว และตอบโจทย์ความต้องการของภาคธุรกิจอย่างสูงสุด และพร้อมพัฒนาระบบการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาให้มีประสิทธิภาพ รองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป


กำลังโหลดความคิดเห็น