xs
xsm
sm
md
lg

4 ปี!รถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายไม่คืบ ผ่าน 3 รัฐบาลนโยบายเปลี่ยน”รื้อแล้ว...รื้ออีก”ปรับใหม่ยืดแนวถึงอยุธยา,นครปฐมรับเมืองโต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบัน โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง เปิดให้บริการแล้ว 2 เส้นทาง คือช่วง บางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. มี 10 สถานี ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กม. มี 3 สถานี ส่วนสายสีแดง ส่วนต่อขยาย จำนวน 4 เส้นทาง แม้คณะรัฐมนตรี (ครม.) ในยุครัฐบาล”คสช.” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี จะเคยอนุมัติโครงการไปแล้วเมื่อปี 2562 จำนวน 3 เส้นทาง คือ ช่วงรังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. ,ช่วง ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. และช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม.  แต่ทำไมโครงการถึงยังไม่เริ่มก่อสร้างเสียที!!!

@มหากาพย์ สายสีแดงส่วนต่อขยาย”รื้อแล้ว...รื้ออีก”


สายสีแดง 2 เส้นทางแรก “บางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน”เจอปัญหาอุปสรรคมากมาย เป็นรถไฟฟ้าที่ใช้เวลาก่อสร้างยาวนานถึง 10 ปี กว่าจะเปิดให้บริการได้เมื่อพ.ย. 2564

ส่วนเส้นทางต่อขยายหลังครม.อนุมัติ โครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง ได้แก่ช่วงรังสิต – มธ.ศูนย์รังสิต ,ช่วง ตลิ่งชัน-ศาลายา และช่วง ตลิ่งชัน-ศิริราช เมื่อต้นปี 2562 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) วางแผนงานว่า จะเปิดประมูล e-bidding หาผู้รับจ้างและเริ่มก่อสร้างในปี 2562 คาดหมายว่าโครงการ จะก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2565 แต่หลังจากมีการเลือกตั้ง ในปี 2563 จุดเปลี่ยนของรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยายเกิดขึ้น เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปลี่ยนจาก”อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมต.ยุค คสช.เป็นรัฐบาลเลือกตั้ง มี ”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”จากพรรคภูมิใจไทยเป็นรมว.คมนาคมคนใหม่

”ศักดิ์สยาม ชิดชอบ”สั่งเบรกประมูลก่อสร้างรถไฟสีแดงต่อขยาย 3 เส้นทาง พร้อมเปิดนโยบาย PPP ที่จะให้เอกชนร่วมลงทุน ก่อสร้างและเดินรถสีแดงทั้งหมด คือ 2 เส้นทางแรก “บางซื่อ-รังสิต และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน” รวมไปถึง ส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง พร้อมกับล้มเลิกการจัดตั้งบริษัทลูกสายสีแดง ของรฟท. ที่คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)เห็นชอบแนวทางไว้หมดแล้ว

โดยระบุเหตุผลว่า”แนวทางการให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (PPP) ทั้งการบริหารการเดินรถ และการก่อสร้างสายสีแดง ส่วนต่อขยายทั้งหมด 4 เส้นทาง ที่มีวงเงินลงทุนกว่า 6.7 หมื่นล้านบาทนั้น จะทำให้รัฐประหยัดงบประมาณในการลงทุน และสามารถนำเงินไปใช้ในการต่อสู้กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ได้มากขึ้น”


@เสี่ยงเจ๊ง!!! PPP วงเงินกว่า 3.4 แสนล้านบาท กลับลำให้รัฐสร้างโยธาเอง

ก.ย. 2564 รฟท.รับนโยบาย จ้างที่ปรึกษา ทำการศึกษาทบทวน และวิเคราะห์ความเหมาะสมของโครงการ จัดทำเอกสารประกวดราคาและการดำเนินงานตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ของโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) แนวทาง PPP มีมูลค่าสูงถึง 3.4 แสนล้านบาท เนื่องจาก เอกชนจะต้องลงทุนใน 5 ส่วน ประกอบด้วย

1. จ่ายค่าก่อสร้างแล้วเสร็จ ช่วงบางซื่อ-รังสิต ระยะทาง 26.3 กม. และช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน ระยะทาง 15.3 กม. วงเงิน 108,833.01 ล้านบาท

2. จ่ายค่างาน VO ช่วงบางซื่อ-รังสิต วงเงิน 10,345 ล้านบาท

3.ก่อสร้างสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงรังสิต-มธ.ศูนย์รังสิต วงเงิน 6,570.40 ล้านบาท

4.ก่อสร้างสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท

5.ก่อสร้าง สายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท

6.ก่อสร้างสายสีแดง (Missing Link) ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และสีแดงเข้ม ช่วง บางซื่อ-หัวลำโพง วงเงิน 44,157.76 ล้านบาท

7.ค่าลงทุนงานระบบและจัดหาขบวนรถ วงเงิน 131,073.74 ล้านบาท

และ8.ค่าลงทุนงานเพิ่มเติมในอนาคต วงเงิน 21,044 ล้านบาท

“เมื่อ PPP ลงทุนสูงเกินไป ความเสี่ยงขาดทุนสูงมาก เอกชนไม่สนใจแน่ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รมว.คมนาคม ล้มเลิก PPP สั่งกลับลำหันมาใช้แนวทางรัฐก่อสร้างโยธาเองเหมือนเดิม เสียเวลา ไป 2 ปี...”


@รฟท.ตั้งหลักใหม่ ทบทวนแบบ-ปรับวงเงิน เร่งชงครม.”เศรษฐา”

เนื่องจากเวลาที่ผ่านไป 2-3 ปี ทำให้ภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ต้นทุนต่างๆ มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้น รฟท.ต้องทบทวนวงเงินลงทุนโครงการ 4 เส้นทางใหม่ทั้งหมด

โดยเส้นทาง รังสิต – มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กิโลเมตร มี 6 สถานี มติครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 เห็นชอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 3,874.29 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,197.19 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท , CSC 166.97 ล้านบาท, ICE 21.97 ล้านบาท ,ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืน 5 ล้านบาท,ค่าเวนคืนที่ดิน 295 ล้านบาท)

ทบทวนกรอบวงเงินปรับใหม่ ที่ 6,468.69 ล้านบาท ลดลง 101.71 ล้านบาทเนื่องจากปรับลดจากค่าเวนคืนลงบางส่วน ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 4,055.65 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,004.17 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท , CSC 166.97 ล้านบาท, ICE 20.04 ล้านบาท ,ค่าจ้างที่ปรึกษาช่วยเวนคืน 5 ล้านบาท,ค่าเวนคืนที่ดิน 209.79 ล้านบาท) โดยจะเสนอครม.เพื่อทราบ เนื่องจากวงเงินอยู่ในกรอบเดิม

เส้นทาง ตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กิโลเมตร มี 6 สถานี มติครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 วงเงิน 10,202.18 ล้านบาท ประกอบด้วย(ค่างานโยธาและระบบราง 7,358.65 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,531.36 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 10 ล้านบาท ,ค่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง(CSC) 271.98 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาวิศวกรอิสระ (ICE) 30.19 ล้านบาท)

กรอบวงเงินปรับใหม่ ที่ 10,670.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 468.09 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 8,076.62 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 2,284.09 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท , CSC 271.98 ล้านบาท, ICE 30.19 ล้านบาท) โดยเสนอครม.เพื่อขออนุมัติปรับเพิ่มกรอบวงเงิน

เส้นทาง ตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กิโลเมตร มี 3 สถานี มติครม.เดิมเมื่อ มี.ค.2562 วงเงิน 6,645.03 ล้านบาท ประกอบด้วย (ค่างานโยธาและระบบราง 2,706.56 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 1,997.33 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 10 ล้านบาท , CSC 177.73 ล้านบาท, ICE 40.24 ล้านบาท ,ค่าจัดหาตู้รถไฟฟ้าแบบ 4 ตู้/ขบวนจำนวน 4 ขบวน หรือ 16 ตู้ วงเงิน 1,713.17 ล้านบาท)

ทบทวนกรอบวงเงินปรับใหม่ ที่ 4,694.36 ล้านบาท ลดลง 1,950.67 ล้านบาทเนื่องจากตัดค่าจัดหารถไฟฟ้า 16 ตู้ออกตามผลศึกษา PPP ให้เอกชนเดินรถเป็นผู้จัดหา (ค่างานโยธาและระบบราง 2,798.06 ล้านบาท, ค่าระบบไฟฟ้าเครื่องกล 1,670.94 ล้านบาท, ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดประกวดราคา 7.39 ล้านบาท , CSC 177.73 ล้านบาท, ICE 40.24 ล้านบาท ) โดยจะเสนอครม.เพื่อทราบ เรื่องการให้เอกชนจัดหาขบวนรถไฟฟ้า โดยกรอบวงเงินอยู่ในกรอบเดิม

เส้นทาง ช่วง บางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มี 9 สถานีวงเงินตามมติ ครม.เดิม 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างปรับแบบสถานีราชวิถี และย้ายตำแหน่งสถานีใหม่ เพื่อให้ผู้โดยสารเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีได้สะดวก เบื้องต้นกรอบวงเงินเพิ่มเป็น 47,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2,800 ล้านบาท

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
@สั่งรื้อใหม่ ขยายเส้นทางไปถึง”อยุธยา และนครปฐม”

โดยล่าสุด รฟท.ปรับปรุงทบทวนโครงการเรียบร้อย 3 เส้นทาง คือ รังสิต – มธ.ศูนย์รังสิต , ตลิ่งชัน-ศาลายา,ตลิ่งชัน-ศิริราชและกระทรวงคมนาคม เสนอเรื่องไปถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีแล้ว แต่!!!กลับมีคำสั่งถอนเรื่องออกมาปรับแก้กันใหม่อีก...โดย”สุรพงษ์ ปิยะโชติ”รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม มีนโยบายให้ต่อขยายเส้นทางสายเหนือออกไปถึง”อยุธยา”และสายตะวันตกถึง”นครปฐม”โดยระบุว่า เพื่อใครเป็นระบบรางหลักรองรับการขยายตัวของเมืองและชุมชนใหม่ๆรอบกทม.


@แผนแม่บท(M-MAP)วางโครงข่ายสีแดง’เหนือ-ใต้ ออก-ตก’เชื่อมชานเมือง

ทั้งนี้ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (M-MAP) 10 เส้นทาง ระบุว่า รถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม มีระยะทาง 114.3 กม. 36 สถานี เป็นเส้นทางหลักในแนวเหนือ-ใต้ ทอดไปตามแนวทางรถไฟเดิม เชื่อมต่อพื้นที่ชานเมืองด้านทิศเหนือ (พื้นที่ดอนเมือง รังสิต ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา) และพื้นที่ชานเมืองด้านทิศใต้ (พื้นที่บางบอน มหาชัย) เข้าสู่ใจกลางเมือง

ซึ่งรฟท.เคยทำการศึกษาออกแบบโดยบูรณาการการเดินทางร่วมกันกับระบบรถไฟทางไกลที่สามารถเชื่อมโยงการเดิน ทางไปสู่ภูมิภาคต่างๆ โครงข่ายสนับสนุนให้เกิดการกระจายตัวของพื้นที่อยู่อาศัยไปยังพื้นที่รอบนอก ตามแนวคิดผังเมือง รองรับศูนย์ราชการกรุงเทพมหานครแห่งใหม่ พื้นที่ชุมชนบริเวณถนนแจ้งวัฒนะและรามอินทราที่กำลังมีการเติบโตในอัตราสูง เชื่อมต่อกับท่าอากาศยานดอนเมือง รองรับประชาชนบริเวณรังสิต ปทุมธานี ไปยังเมืองมหาวิทยาลัยบริเวณรังสิต อยุธยา เชื่อมโยงไปยังบ้านภาชี ในอนาคตสามารถเชื่อมโยงกับสถานีขนส่งผู้โดยสารสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือแห่งใหม่อีกด้วย โครงการสามารถแก้ปัญหาจุดตัดระหว่างถนนและรถไฟในเขตเมือง ทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทางของระบบราง และลดความล่าช้าในการเดินทางบนโครงข่ายถนนได้

โดยโครงข่ายด้านเหนือจาก ม.ธรรมศาสตร์รังสิต จะต่อไปถึงบ้านภาชี จ.พระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 28 กม.ด้านใต้ จากหัวลำโพงจะต่อไปถึงมหาชัย ระยะทางประมาณ 36 กม. และระยะต่อไป จะขยายไปถึงปากท่อ จ.ราชบุรี เพื่อเชื่อมต่อกับระบบรถไฟทางคู่ช่วงศาลายา-ปากท่อ-ปาดังเบซาร์ (ทางรถไฟสายใต้) ซึ่งยังเป็นเพียงส่วนหนึ่งของแผนแม่บทระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง


แผนแม่บทระบบขนส่งมวลชน หรือ M-MAP ฉบับแรกมีการศึกษาวางโครงข่ายเส้นทางรถไฟฟ้าไว้อย่างครอบคลุม สายสีแดงจะเป็นเส้นทางหลัก ดังนั้น หากด้านใต้ไม่ต่อไปมหาชัยและปากท่อ รถโดยสารและสินค้า จะต้องเชื่อมเข้าทางนครปฐม-ศาลายา-ตลิ่งชัน ซึ่งมีทางเพียง 2 คู่ รถไฟชานเมืองสีแดง รถไฟทางไกล รถไฟสินค้า ต้องบริหารการเดินรถร่วมกัน (แชร์แทร็กซ์) ส่วนด้านเหนือ ตอนนี้มีรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา และอนาคตจะมีเส้นทางกรุงเทพ-เชียงใหม่ อีกสายที่จะวิ่งไปในทิศทางเดียวกัน จะมีปัญหาพื้นที่เขตทางรถไฟไม่เพียงพอหรือไม่

ว่ากันว่า การให้ทบทวน โดยขยายเส้นทางเพิ่มเติมช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ไปถึงอยุธยา และ ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ขยายไปถึง นครปฐมนั้น เพื่อต้องการเสนอครม.เห็นชอบในหลักการไว้ก่อนตลอดเส้นทางในคราวเดียว ขณะที่การก่อสร้าง จะแบ่งเป็นเฟสแรก ช่วงรังสิต-มธ.รังสิต ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา เหมือนเดิมเพราะมีการออกแบบ และEIA ผ่านแล้ว มีความพร้อมเปิดประมูลก่อสร้าง ส่วนเฟส 2 หากมีความพร้อมก็สามารถดำเนินการได้ต่อเพราะครม.เห็นชอบไว้แล้ว คมนาคมตั้งเป้า เสนอครม.ในต้นปี 2567 ก็คงต้องติดตามกันต่อว่า จะเป็นตามแผนงานหรือไม่ และที่สุดแล้ว”รถไฟสายสีแดงต่อขยาย”จะได้สร้างกันตอนไหน!!!


กำลังโหลดความคิดเห็น