กรมทางหลวงชนบท เผยสะพานเชื่อมระบบนิเวศน์แห่งแรกของไทย บนถนนสาย รย.4060จ.ระยอง และ จ.จันทบุรี งบกว่า 587 ล้านบาท คืบกว่า 20 % คาดเสร็จกลางปี 68 หนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยว เพิ่มความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่า
กรมทางหลวงชนบท (ทช.) รายงานความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานบนถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4060 อำเภอเขาชะเมา, แก่งหางแมว จังหวัดระยอง, จันทบุรี “ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมระบบนิเวศน์แห่งแรกในประเทศไทย” ว่า ปัจจุบันการก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 20 ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างเสาเข็มเจาะ การก่อสร้างโครงสร้างฐานราก การเบี่ยงทางจราจร การติดตั้งอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้าง และการก่อสร้างถนนกลับรถใต้สะพาน ซึ่งโครงการดังกล่าวใช้งบประมาณในการก่อสร้างรวม 587.516 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2568
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมต่อยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของประเทศ และการพัฒนาระบบโครงข่ายการคมนาคมให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มความสะดวกปลอดภัยในการเดินทางให้กับประชาชน ควบคู่กับการบริหารจัดการผลกระทบของสิ่งแวดล้อม เพื่อรักษาสมดุลทางธรรมชาติเพิ่มความปลอดภัยในการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าในแต่ละพื้นที่
สำหรับโครงการก่อสร้างดังกล่าว ทช. ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสะพาน จำนวน 2 แห่ง บริเวณ กม.ที่ 4+525 ถึง กม.ที่ 5+155 และบริเวณ กม.ที่ 9+517.25 ถึง กม.ที่ 9+937.25 บนถนนทางหลวงชนบทสายรย.4060 อำเภอเขาชะเมา, แก่งหางแมว จังหวัดระยอง, จันทบุรี เพื่อเชื่อมต่อระบบนิเวศน์ระหว่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน และอุทยานแห่งชาติเขาชะเมา - เขาวง จากเดิมที่มีถนนคั่นกลางมาเป็นสะพาน เพื่อให้รถยนต์สามารถสัญจรผ่านได้ รวมทั้งได้มีการรื้อถนนเดิมบางส่วนเพื่อให้สัตว์ป่าสามารถเดินลอดใต้สะพานได้อย่างสะดวกปลอดภัย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สัตว์ป่าและพรรณพืช ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและสัตว์ป่าอย่างยั่งยืน โดย ทช. ได้รับอนุญาตจากกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการเข้าใช้ประโยชน์ภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเรียบร้อยแล้ว
โดยในส่วนของลักษณะการก่อสร้างสะพานทั้งสองแห่งนี้มีความกว้างเท่ากัน คือ 11 เมตร รองรับการจราจร 2 ช่องทาง (ไป - กลับ) โดยสะพานแห่งที่ 1 มีความยาวรวม 630 เมตร และสะพานแห่งที่ 2 มีความยาวรวม 420 เมตร นอกจากนี้ทั้งสองสะพานยังมีที่จอดรถบนสะพาน มีความยาวด้านละ 30 เมตร ทั้งสองด้านของสะพาน เพื่อให้เจ้าหน้าที่ ประชาชนผู้ที่สนใจสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่เดินผ่านหรืออาศัยอยู่ในบริเวณสะพาน เป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจการท่องเที่ยวในประเทศได้อีกทางหนึ่ง