xs
xsm
sm
md
lg

อธิบดี ทช.ย้ำสร้างถนน เชื่อมท่าอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 จ.นครพนม จุดติดที่ดิน ปชช.เข้า-ออกต้องสะดวก คาดเสร็จปี 68

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อธิบดีกรมทางหลวงชนบทลงพื้นที่ตรวจคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนน เชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-สะพานมิตรภาพแห่งที่ 3-ถนนเชื่อม ทล.212 อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม ย้ำประสานประชาชนเจ้าของที่ดินเชื่อมเข้า-ออก เพื่อความสะดวก ปลอดภัย คาดเสร็จปี 68

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบท (ทช.) ลงพื้นที่ประชุมติดตามความคืบหน้าโครงการก่อสร้างถนน สายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดน บริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3-ถนนเชื่อม ทล.212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2568


ทั้งนี้ อธิบดีกรมทางหลวงชนบทได้แนะแนวทางในการดำเนินงาน การประสานงาน และการแก้ไขปัญหาเพื่อให้งานเป็นไปตามแผนที่วางไว้ และได้เน้นย้ำในเรื่องกำแพงกันดินช่วงที่เป็นทางเข้าที่ดินของประชาชน ให้ประสานงานกับเจ้าของที่ดินเพื่อให้สอดคล้องกับการดำเนินงานและเป็นประโยชน์ต่อเจ้าของพื้นที่ รวมถึงในกรณีที่ระดับของดินเดิมสูงให้พิจารณาแบบก่อสร้างกำแพงว่าควรใช้แบบไหนให้เหมาะสมที่สุด ตลอดจนได้สั่งการให้ตรวจสอบทางเชื่อมทุกจุดที่เป็นทางเข้าออก ให้ทำการถมดินเชื่อมเพื่อความสะดวกปลอดภัยของประชาชนต่อไป

เมื่อโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มศักยภาพการคมนาคมขนส่งระหว่างท่าอากาศยานนครพนมกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) ตลอดจนเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยกับประเทศลาวได้เป็นอย่างดีอีกด้วย


สำหรับการประชุมและลงพื้นที่ในครั้งนี้มีนายสุรศักดิ์ ไกรพินิจ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงชนบทนครพนม และผู้แทนจากสำนักก่อสร้างทาง รายงานผลการดำเนินงานในภาพรวมและนำลงพื้นที่ ณ จังหวัดนครพนม


โครงการก่อสร้างถนนสายเชื่อมศูนย์ซ่อมอากาศยาน-ศูนย์กลางการค้าส่งชายแดนบริเวณสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3-ถนนเชื่อมทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 212 อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม ระยะทางรวม 23.102 กิโลเมตร งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้นรวม 1,600 ล้านบาท เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมือง เพิ่มศักยภาพการคมนาคมขนส่งระหว่างท่าอากาศยานนครพนมและสะพานมิตรภาพแห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน) และเพิ่มประสิทธิภาพในการเชื่อมโยงระหว่างประเทศไทยและ สปป.ลาว

แบ่งการก่อสร้างออกเป็น 2 ตอน

ตอนที่ 1 ก่อสร้างถนนใหม่ เป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 4 ช่องจราจร ไป-กลับ บริเวณ กม.ที่ 0+000 - 16+531 รวมระยะทาง 16.531 กิโลเมตร

ตอนที่ 2 ก่อสร้างถนนใหม่ เป็นผิวจราจรแบบคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ บริเวณ กม.ที่ 0+000 - 6+571 รวมระยะทาง 6.571 กิโลเมตร




กำลังโหลดความคิดเห็น