"คมนาคม"ล้อมคอก หลังเกิดเหตุแบบหล่อหัวเสาสร้างทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง ร่วงหล่นสั่งกทพ.- ทล. ตรวจสแกนจุดบกพร่องหรือช่องโหว่กระบวนการก่อสร้างเร่งแก้ไข และตรวจสอบ Checklist ให้ครบถ้วนก่อนทำงานทุกครั้ง
นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ ถ.พระราม 2 ตรวจสอบบริเวณ เกาะคู่ขนาน (ขาเข้า) บริเวณ กม. ที่ 11+800 (ช่วงหน้า ถ.พระราม 2 ซอย 82) จุดเกิดเหตุ แบบหล่อหัวเสาสร้างทางด่วนพระราม 3 - ดาวคะนอง ร่วงหล่น พร้อมกำชับปฏิบัติงานภายใต้มาตรการความปลอดภัยของโครงการอย่างเคร่งครัดสูงสุด
วันที่ 17 ธันวาคม 2566 นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับตรวจสอบความปลอดภัยโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายชวเลิศ เลิศชวนะกุล วิศวกรใหญ่ด้านควบคุมการก่อสร้าง กรมทางหลวง (ทล.) นายอธิวัฒน์ บุญเจริญ ผู้อำนวยการกองวิศวกรรมทางพิเศษ 2 ฝ่ายก่อสร้างทางพิเศษ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ผู้รับจ้างกิจการร่วมค้ายูเอ็น-ซีซี ผู้ควบคุมงาน เจ้าหน้าที่ความปลอดภัย และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ถนนพระราม 2 ตรวจสอบบริเวณเกาะคู่ขนาน (ขาเข้า) บริเวณ กม. ที่ 11+800 (ช่วงหน้าถนนพระราม 2 ซอย 82) จุดเกิดเหตุแบบหล่อหัวเสา (Pier head) ที่อยู่ในระหว่างการยกแบบเหล็กออกจากพื้นที่ก่อสร้างเพื่อเคลียร์พื้นที่โครงการก่อสร้างทางพิเศษพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตกกรุงเทพมหานคร สัญญาที่ 1 ร่วงลงภายในพื้นที่ก่อสร้างฯ เป็นเหตุให้คนงานก่อสร้างที่ปฏิบัติงานอยู่ด้านล่างเสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บ 1 ราย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา
โดย กทพ. ผู้รับจ้างและผู้ควบคุมงานได้รายงานข้อมูลของอุบัติเหตุ การให้ข้อมูลของผู้ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ การดำเนินงานของของหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งตำรวจ กรมสวัสดิการแรงงาน สถานะผู้บาดเจ็บและการชดเชยเยียวยาให้กับผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต พร้อมกันนี้ได้ชี้แจงเกี่ยวกับมาตรการความปลอดภัยการปฏิบัติงานบนถนนพระราม 2 ซึ่ง รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้รับทราบข้อมูล และเน้นย้ำการปฏิบัติงานตามมาตรการที่ได้กำหนดไว้ พร้อมกำชับให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานภายใต้มาตรการความปลอดภัยของโครงการอย่างเคร่งครัดสูงสุด และเร่งรัดให้ผู้รับจ้างเร่งเยียวยาผู้เสียชีวิตและผู้รับบาดเจ็บให้ถึงที่สุด
ทั้งนี้ รองปลัดกระทรวงคมนาคม ได้มีข้อสั่งการ ดังนี้
1. ให้ทำเครื่องหมายจุดหิ้วแบบเหล็กให้ชัดเจน ซักซ้อมผู้ควบคุมงานและคนงานให้ทราบ รวมถึงจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำในกรณีที่มีการยกของขึ้นจากพื้นราบ
2. จัดให้มีการอบรม ซักซ้อมการปฏิบัติงาน ตรวจสอบความถูกต้องของอุปกรณ์ เครื่องจักร สภาพแวดล้อม ความพร้อมของร่างกาย และความพร้อมผู้ควบคุมงานและผู้ปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การขับเครื่องจักรขนาดใหญ่ รถเครน Launching Gantry การทำงานในที่สูง การยกสิ่งของขนาดใหญ่ (Heavy Lifting) เป็นต้น พร้อมทั้งสร้างเสริมให้เกิดการเรียนรู้ ทักษะ ความปลอดภัยในการทำงานแก่คนงานต่างชาติ โดยให้สามารถสื่อสารให้เกิดความเข้าใจอย่างถูกต้องทั้งสองทาง
3. จัดให้มีผู้ควบคุมทุกจุดที่มีการทำงานในที่สูงหรือขณะยกของขึ้นจากพื้นราบ
4. ให้ผู้ควบคุมงานตรวจสอบ Checklist ให้ครบถ้วนแล้วเสนอให้หน่วยงานเห็นชอบก่อนทำงานทุกครั้ง และสั่งชะลอจนกว่าจะตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว
5. กำหนดบทลงโทษหากพบว่าผู้รับจ้างละเลยการปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัย
6. ให้ กทพ. และ ทล. ตรวจสแกนจุดบกพร่องหรือช่องโหว่ในทุก ๆ กระบวนการก่อสร้าง แล้วสั่งการให้ผู้รับจ้างดำเนินการแก้ไขทันที