xs
xsm
sm
md
lg

ยิ่งสร้างยิ่งช้า! รถไฟไทย-จีนดีเลย์ 50% คมนาคมเร่ง 14 สัญญา ยังดันเปิดบริการปี 71

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“คมนาคม” สั่ง รฟท.แก้ปัญหารถไฟ "ไทย-จีน" เร่งปิดดีลอีก 2 สัญญาตอกเข็มในปี 67 เป้าเปิดบริการปี 71 เผยงานโยธาคืบ 28.61% ล่าช้าถึง 50% ปมสถานีอยุธยาและโครงสร้างร่วมไฮสปีด 3 สนามบินไม่จบ ปมใหม่ชาวโคราชร้องยกระดับสัญญา 3-5 ทำค่าก่อสร้างเพิ่ม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 1/2566 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท พร้อมเร่งรัดการดำเนินการโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย โดยมีผู้บริหารและผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมการประชุม

นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รมช.คมนาคม กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้ติดตาม เร่งรัดการดำเนินการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงภูมิภาค และผลักดันโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ให้แล้วเสร็จตามแผนงานและสามารถเปิดใช้ได้ในระยะเวลาที่กำหนดไว้ พร้อมเร่งรัดการก่อสร้างในโครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ให้เกิดขึ้นโดยเร็วที่สุด โดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพระบบราง พัฒนาโครงข่ายคมนาคมของประเทศไทยเชื่อมโยงสู่เมืองหลักเป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าและการเดินทางของภูมิภาคอย่างไร้รอยต่อ และรองรับการขยายตัวของจังหวัดต่างๆ รวมถึงปริมาณผู้ใช้บริการที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต


โดยที่ประชุมได้เร่งรัดการก่อสร้างโครงการในสัญญาที่อยู่ระหว่างรอลงนาม รวมถึงเร่งรัดให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบในสัญญาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างด้วยความระเอียดรอบคอบ

โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. มีงานโยธา 14 สัญญา โดยก่อสร้างแล้วเสร็จ 2 สัญญา อยู่ระหว่างก่อสร้าง 10 สัญญา และอยู่ระหว่างจัดซื้อจัดจ้าง 2 สัญญา คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างงานโยธาได้ทั้งหมดภายในปี 2567 ปัจจุบันความก้าวหน้าโดยรวม 28.61% คาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571

ส่วน โครงการรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. ปัจจุบันได้ออกแบบงานโยธาแล้วเสร็จ โดยที่ประชุมได้เร่งรัดให้ รฟท.นำส่งรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือ สผ. และเสนอคณะกรรมการ รฟท. อนุมัติก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับการเตรียมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านการรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 31 อยู่ระหว่างการพิจารณากำหนดวัน เวลา และสถานที่การประชุม โดยกระทรวงคมนาคมจะได้หารือร่วมกับฝ่ายจีนอย่างใกล้ชิดเพื่อหาข้อสรุปการจัดทำรายงานผลดำเนินงานความคืบหน้าของโครงการและแนวทาง การขับเคลื่อนการปฏิบัติงานเพื่อให้โครงการรถไฟความเร็วสูงแล้วเสร็จโดยเร็วสามารถรองรับการใช้งานของประชาชนได้อย่างสมบูรณ์และมีประสิทธิภาพต่อไป


@ล่าช้ากว่า 50% เผย 2 สัญญายังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง

รายงานข่าวแจ้งว่า ภาพรวมการก่อสร้าง ณ สิ้นเดือนพ.ย. 2566 มีความก้าวหน้า 28.61% ซึ่งยังล่าช้ากว่าแผน 50.013% (แผนงาน 78.623%) โดยงานโยธา 14 สัญญาปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 2 สัญญา คือ สัญญา 1-1 ช่วงกลางดง-ปางอโศก และสัญญา 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ส่วนที่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้างมี 2 สัญญา คือ สัญญา 4-1 ช่วงบางซื่อ-ดอนเมือง ระยะทาง 15.2 กม. เป็นช่วงที่มีโครงสร้างทับซ้อนกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) รฟท.อยู่ระหง่างเจรจากับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด (ซี.พี.) เอกชนคู่สัญญา แนวทางล่าสุด รฟท.จะเป็นผู้ดำเนินการก่อสร้างส่วนโครงสร้างร่วมทั้งหมด โดยจะหักค่างานโยธาออกจากสัญญาร่วมทุนฯ และรฟท.เองต้องเพิ่มวงเงินค่าก่อสร้างในส่วนของรถไฟไทย-จีนด้วย

และสัญญา 4-5 ช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม. วงเงิน 10,325 ล้านบาท มีประเด็นเรื่องมรดกโลก ของสถานีอยุธยา อยู่ระหว่างดำเนินการด้าน HIA ขณะที่ รฟท.แก้ปัญหา โดยจะก่อสร้างโครงสร้างทางวิ่งก่อน โดยอยู่ระหว่างเตรียมลงนามสัญญาจ้างผู้รับเหมาที่ได้รับการคัดเลือกคือ บริษัท บุญชัยพาณิชย์(1979) จำกัด

รายงานข่าวแจ้งว่า นอกจากนี้ยังมีสัญญา 3-5 ช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ที่การก่อสร้างทำได้เพียง 5.472% เท่านั้น โดยล่าช้าถึง 93.647% เนื่องจากมีประเด็นประชาชนในพื้นที่ ต.บ้านใหม่ จ.นครราชสีมา เรียกร้องให้ปรับรูปแบบการก่อสร้างเป็นทางยกระดับ ซึ่งทำให้มีค่าก่อสร้างเพิ่มเกือบ 5 พันล้านบาท ที่ยังไม่มีการพิจารณาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหา


กำลังโหลดความคิดเห็น