xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ชงรัฐรักษาฐานการผลิตยานยนต์ยกระดับชิ้นส่วนสู่ยานยนต์สมัยใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE ส.อ.ท.จัดทำข้อเสนอต่อแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทย โดยมุ่งเน้นให้ภาครัฐรักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนของโลก สร้างอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนสมัยใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และยกระดับชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเพื่อมุ่งการเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (Parts Transformation)

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
กล่าวว่า ส.อ.ท.มีนโยบายในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยจากอุตสาหกรรมดั้งเดิม (First Industries) ซึ่งประกอบไปด้วย 46 กลุ่มอุตสาหกรรม 11 คลัสเตอร์ 76 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด สู่อุตสาหกรรมใหม่ (Next-Gen Industries) ซึ่งมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรม S-Curve อีกทั้งเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ส.อ.ท.ได้นำเสนอแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โดยนายเศรษฐาขอให้ ส.อ.ท.จัดทำ Action Plan ในแต่ละข้อเสนอ รวมถึงแนวทางการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย โดยเฉพาะประเด็นยานยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engine) จึงเป็นที่มาของ ส.อ.ท.ในการจัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE เพื่อจัดทำข้อเสนอและขับเคลื่อนการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ควบคู่กับภาครัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบาย ONE FTI

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า การจัดตั้ง Cluster of FTI Future Mobility-ONE หรือ CFM-ONE มีจุดประสงค์หลักเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) กว่า 14 กลุ่มอุตสาหกรรม รวมทั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัด และหน่วยงานภายนอก เช่น สถาบันยานยนต์ สมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย และเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ให้สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

นางสาวยุพิน บุญศิริจันทร์ ประธาน Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยสร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 11% ของ GDP ภาคอุตสาหกรรม การจ้างงานกว่า 750,000 คน มีการผลิตลำดับที่ 10 ของโลก และมีการส่งออกกว่า 170 ประเทศทั่วโลก และจะยังคงต้องพึ่งพาการผลิตยานยนต์ ทั้งประเภทสันดาปภายใน (ICE ) เพื่อรักษาการจ้างงาน และเตรียมความพร้อมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยเหตุนี้ Cluster of FTI Future Mobility-ONE จึงมีแนวทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนไทย ภายใต้แนวคิด “Strong global production hub with industry transformation” โดยคาดว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในปี 2573 (ค.ศ. 2030) รวม 2,500,000 คัน จะมีสัดส่วนการผลิตที่เป็นรถยนต์ Future ICE คิดเป็น 70% หรือ 1,750,000 คัน และรถยนต์ประเภท ZEV คิดเป็น 750,000 คัน

โดยเห็นว่า การที่จะส่งเสริมให้มีการผลิตยานยนต์ทั้ง 2 ประเภทนี้ ภาครัฐจะต้องมีแนวทางในการส่งเสริม ผ่านมาตรการสนับสนุนที่จำเป็น โดยจะขอนำเสนอ ดังนี้ 1. ข้อเสนอสำหรับ Future ICE (70@30) : รักษาและต่อยอดความเป็นฐานการผลิตยานยนต์และชิ้นส่วน ให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เช่นขยายตลาดส่งออกในกลุ่มอะไหล่ทดแทน ไปยังกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้ ICE เร่งรัดเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ในกลุ่มประเทศที่ยังมีการใช้เครื่องยนต์ ICE เช่น ตะวันออกกลาง แอฟริกาใต้ และอเมริกาใต้ ฯลฯ 2. สนับสนุนแนวทางการกำหนดโครงสร้างภาษีสรรพสามิตสำหรับยานยนต์ที่จะบังคับใช้ปี 2569 3. ผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐมีการกำหนดมาตรฐานมลพิษ ได้แก่ Euro 5 สำหรับรถจักรยานยนต์ และ Euro 6 สำหรับรถยนต์ขนาดใหญ่ให้มีความเหมาะสม ยกระดับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ยานยนต์สมัยใหม่ เป็นต้น

นายสุพจน์ สุขพิศาล เลขาธิการ Cluster of FTI Future Mobility-ONE และประธานกลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ ส.อ.ท. กล่าวว่า อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยถือเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องได้รับการสนับสนุนในช่วงเปลี่ยนผ่านในเชิงเทคโนโลยี เพื่อรักษาธุรกิจ การจ้างงาน พร้อมทั้งการยกระดับการผลิต และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์อุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต รัฐควรผลักดันให้อุตสาหกรรมชิ้นส่วน พัฒนาไปอุตสาหกรรมใกล้เคียงเพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการ เปลี่ยนผ่านตัวเองได้ เช่น ระบบราง เครื่องมือแพทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น