xs
xsm
sm
md
lg

ผลพวงรัฐลดค่าครองชีพ ฉุดเงินเฟ้อ พ.ย. ติดลบ 0.44% ต่ำสุด 33 เดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เงินเฟ้อ พ.ย.66 ติดลบ 0.44% ลด 2 เดือนติด ต่ำสุดรอบ 33 เดือน เหตุสินค้ากลุ่มพลังงาน และอาหารสำคัญ ทั้งหมู ไก่ น้ำมันพืช ลดลง สินค้าและบริการอื่น ๆ เคลื่อนไหวปกติ ย้ำไม่มีสัญญาณเงินฝืด เพราะเงินเฟ้อที่ติดลบ มาจากมาตรการรัฐ รวม 11 เดือน เพิ่ม 1.41% คาดเดือน ธ.ค. ลดลงอีก ทั้งปี 1.0-1.7% ตั้งเป้าปี 67 อยู่ที่ติดลบ 0.3% ถึงเพิ่ม 1.7% ค่ากลาง 0.7%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน พ.ย.2566 เท่ากับ 107.45 เทียบกับ ต.ค.2566 ลดลง 0.25% เทียบกับเดือน พ.ย.2565 ลดลง 0.44% ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 33 เดือน นับจาก ก.พ.2564 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการมาตรการด้านพลังงานของภาครัฐ ที่ทำใหสินค้ากลุ่มพลังงานปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 และยังมีสินค้ากลุ่มอาหารสำคัญที่ลดลง เช่น เนื้อสุกร ไก่สด และน้ำมันพืช ราคาต่ำกว่าปีที่ผ่านมา ส่วนราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ยังคงเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ และรวมเงินเฟ้อเฉลี่ย 11 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-พ.ย.) เพิ่มขึ้น 1.41%

“เงินเฟ้อเดือน พ.ย.2566 ที่กลับมาติดลบ 2 เดือนติด ไม่ได้มีสัญญาณอะไร และไม่ต้องกังวลเรื่องเงินฝืด เพราะดูแล้วเดือน ธ.ค.2566 เงินเฟ้อก็จะยังติดลบอีก โดยเงินเฟ้อที่ติดลบ มาจากมาตรการลดค่าครองชีพเป็นหลัก โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้า ส่วนตัวเลขทางเศรษฐกิจ ก็ยังขยายตัว ปี 2566 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัว 2.5% และปี 2567 คาดว่าขยายตัว 2.7-3.7% เพราะฉะนั้น ทางเทคนิคยังมีแค่ประเด็นเงินเฟ้อติดลบ ซึ่งที่ติดลบ ก็ไม่ได้มาจากปัจจัยอื่น แต่เป็นเพราะมาตรการรัฐ”นายพูนพงษ์กล่าว

สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือน พ.ย.2566 ที่ลดลง 0.44% มาจากการลดลงของหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.87% โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ราคาลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากมาตรการภาครัฐ ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ 91 รวมถึงค่าโดยสารรถไฟฟ้า และผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องรับโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ ราคาลดลงต่อเนื่อง ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น แก๊สโซฮอล์ 95 E85 และ E20 น้ำมันเบนซิน 95 ก๊าซยานพาหนะ (LPG) ค่าโดยสารเครื่องบิน ค่ารถรับส่งนักเรียน เครื่องแบบนักเรียน แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน อาหารสัตว์เลี้ยง สุรา และเบียร์

ส่วนหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.20% ตามราคาสินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น เช่น ข้าวสาร แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (แป้งข้าวเจ้า ขนมอบ) ไข่ (ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่เค็ม) รวมทั้ง นมข้นหวาน นมเปรี้ยว และนมถั่วเหลือง ราคาเปลี่ยนแปลงตามการจัดโปรโมชัน ผักสด (คะน้า ขิง มะนาว ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศ) ปริมาณยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติหลังจากบางพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาน้ำท่วมในช่วงเดือนที่ผ่านมา และผลไม้สด (ทุเรียน แตงโม ส้มเขียวหวาน) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารเช้า ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด ราคาลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยเฉพาะเนื้อสุกร และไก่สด เนื่องจากสต็อกคงเหลือมีปริมาณมาก และยังมีน้ำมันพืช เครื่องปรุงรส และมะขามเปียก รวมถึงผักและผลไม้บางประเภท เช่น ต้นหอม แตงกวา ถั่วฝักยาว ลองกอง ชมพู่ มะม่วง ราคาปรับลดลง

ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน พ.ย.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.06% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.2566 และเพิ่มขึ้น 0.58% เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.2565 รวม 11 เดือนเพิ่มขึ้น 1.33%

นายพูนพงษ์กล่าวว่า เงินเฟ้อเดือนธ.ค.2566 มีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ และเครื่องประกอบอาหาร กลุ่มพลังงาน ทั้งค่ากระแสไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิงในกลุ่มดีเซล และแก๊สโซฮอล์ รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพอีกหลายรายการ และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง จากมาตรการลดค่าครองชีพให้กับประชาชน ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0–1.7% ค่ากลาง 1.35% และยังได้คาดการณ์เงินเฟ้อปี 2567 เป็นครั้งแรก โดยคาดว่าจะชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 2566 โดยประเมินว่าจะอยู่ที่ติดลบ 0.3% ถึงเพิ่ม 1.7% ค่ากลาง 0.7% มีปัจจัยที่จะทำให้เงินเฟ้อลดลง เช่น มาตรการลดค่าครองชีพของภาครัฐที่คาดว่าจะดำเนินการต่อเนื่อง แนวโน้มการปรับขึ้นราคาสินค้าสำคัญค่อนข้างจำกัด เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัว ทั้งเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น และหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง อาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภคของประชาชนบางกลุ่ม แต่ก็มีปัจจัยที่จะกดดันเงินเฟ้อให้สูงขึ้น เช่น ต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง และเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากปี 2566 รวมถึงการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนที่เพิ่มขึ้นจากมาตรการของรัฐ และยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ทั้งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ค่าเงินบาทที่ผันผวน และมาตรการภาครัฐที่ส่งผลต่อราคาอาจมีหลากหลายรูปแบบ


กำลังโหลดความคิดเห็น