ปรับโฉมท่าเรือเจ้าพระยา 29 แห่งล่าช้า กรมเจ้าท่าวางไทม์ไลน์ใหม่ปี 67 เร่งเสร็จอีก 5 ท่า ตั้งงบปี 68 กว่า 305 ล้านบาท ลุยอีก 15 ท่า เป้าปี 69 เปิดครบ พร้อมเดินหน้าชง คจร.เคาะพัฒนาเชิงพาณิชย์ ท่าเรือระบบปิด แบ่งพื้นที่ 30% หารายได้
นายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 29 แห่ง ให้เป็นสถานีเรือ (ระบบปิด) หรือท่าเรือโดยสารอัจฉริยะ (Smart Pier) วงเงินรวม 799.798 ล้านบาท แผนดำเนินงานปี 62-69 โดยมีการดำเนินงาน 2 ส่วน คือ 1. การก่อสร้างปรับปรุงท่าเรือ จำนวน 29 แห่ง วงเงิน 629.298 ล้านบาท และ 2. การปรับปรุงศูนย์ปฏิบัติการควบคุมความปลอดภัยและการจราจรทางน้ำ กรมเจ้าท่า และการติดตั้งอุปกรณ์เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยบริเวณท่าเรือโดยสารแม่น้ำเจ้าพระยา วงเงิน 170.5 ล้านบาท
ปัจจุบันดำเนินการปรับปรุงแล้วเสร็จจำนวน 9 ท่า ได้แก่ ท่ากรมเจ้าท่า ท่าสะพานพุทธ ท่านนทบุรี ท่าช้าง ท่าเรือสาทร ท่าราชินี ท่าพายัพและท่าบางโพ ท่าเตียน อยู่ระหว่างปรับปรุง 5 ท่า วงเงินดำเนินการรวม 189 ล้านบาท ซึ่งมีความล่าช้าจากแผนเนื่องจากไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณ ผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 และพื้นที่ก่อสร้างมีโครงสร้างสะพานทับซ้อน เป็นต้น จึงมีการปรับแผนการก่อสร้างใหม่คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 67 ได้แก่ ท่าพระปิ่นเกล้าวงเงิน 19.39 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จ เปิดบริการเดือน เม.ย. 2567, ท่าพระราม 5 วงเงิน 19.40 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จเปิดบริการเดือน พ.ค.2567, ท่าปากเกร็ด วงเงิน 25.98 ล้านบาท คาดแล้วเสร็จเปิดบริการเดือน ก.ย. 2567
ท่าเกียกกาย วงเงิน 44.33 ล้านบาท อยู่ระหว่างจัดทำรูปแบบรายการเพื่อส่งแบบก่อสร้างให้ กทม. คาดแล้วเสร็จเปิดบริการเดือน ก.ย. 2567 และ ท่าพระราม 7 วงเงิน 40.86 ล้านบาท ผู้รับจ้างเดิมทิ้งงานจึงมีการบอกเลิกสัญญา ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำแบบรูปรายการเพื่อดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างรายใหม่ คาดแล้วเสร็จเปิดบริการ เดือน ก.ย. 2567
และตรียมขอตั้งงบประมาณปี 2568 วงเงิน 305.30 ล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างอีก 15 ท่า โดยมีการปรับแผนดำเนินการก่อสร้างให้สอดคล้องกับงบประมาณที่ได้รับ มีเป้าหมายแล้วเสร็จ เปิดบริการเดือน พ.ย. 2568 จำนวน 6 ท่า และที่เหลืออีก 9 ท่าจะแล้วเสร็จ เปิดบริการในปี 2569 อีกจำนวน 9 ท่า
ได้แก่ ท่าสี่พระยา วงเงิน 38.80 ล้านบาท ท่าเขียวไข่กา วงเงิน 22 ล้านบาท ท่าสะพานกรุงธน (ซังฮี้) วงเงิน 20.70 ล้านบาท ท่าพรานนก วงเงิน 31.40 ล้านบาท ท่าเทเวศร์ วงเงิน 41.70 ล้านบาท ท่าโอเรียนเต็ล วงเงิน 42.90 ล้านบาท ท่าราชวงศ์ วงเงิน 42.10 ล้านบาท
ท่าพิบูลสงคราม 2 (นนทบุรี) วงเงิน 18.10 ล้านบาท ท่าวัดตึก วงเงิน 9.10 ล้านบาท ท่าพิบูลสงคราม วงเงิน 18.10 ล้านบาท ท่าวัดเขมา วงเงิน 9.10 ล้านบาท ท่าวัดสร้อยทอง วงเงิน 9.10 ล้านบาท ท่าวัดเทพากร วงเงิน 9.10 ล้านบาท ท่าวัดเทพนารี วงเงิน 9.10 ล้านบาท ท่ารถไฟ วงเงิน 29 ล้านบาท
นายกริชเพชรกล่าวว่า การปรับปรุงพัฒนาท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยาเป็น Smart Pier จะมีการนำระบบเทคโนโลยีเพื่อบริหารจัดการความปลอดภัยการเดินเรือ ให้ข้อมูลตารางการให้บริการ เส้นทางการเชื่อมต่อรถโดยสาร พร้อมกล้องวงจรปิดแบบ AI มาใช้
@ชง คจร.เคาะพัฒนาเชิงพาณิชย์ เล็งนำร่อง 5 ท่าเรือ
นอกจากนี้ จะมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ท่าเรือที่มีศักยภาพ โดยทำเป็นท่าเรือระบบปิด ซึ่งกรมเจ้าท่าได้ศึกษาแผนแม่บท และเสนอกระทรวงคมนาคมแล้ว เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) พิจารณาเห็นชอบ หลังจากนั้นจะส่งให้กรมธนารักษ์เพื่อปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์จากท่าเรือสาธารณะให้สามารถบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ได้ และนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป
โดยจะเป็นการจัดสรรพื้นที่พัฒนาเชิงพาณิชย์เพื่อให้เอกชนเข้าไปบริหารดำเนินการพัฒนาดูแลปรับปรุงสิ่งอำนวยความสะดวก ความสะอาด เช่น ร้านค้า ห้องน้ำ เป็นต้น และเก็บค่าตอบแทนมาใช้จ่ายได้ โดยแบ่งพื้นที่ ใช้ในการพัฒนาเชิงพาณิชย์สัดส่วน 30% ที่เหลือยังคงพื้นที่สาธารณะ 70% โดยรายได้จะนำส่งกรมธนารักษ์ ส่วนกรมเจ้าท่ามีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารจัดการ การอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยแก่ผู้โดยสาร
“ท่าเรือที่จะนำมาพัฒนาเชิงพาณิชย์จะต้องมีจำนวนผู้โดยสารมากในระดับหนึ่ง ซึ่งมีสถิติจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการในแต่ละท่า คาดระยะแรก (เฟสแรก) ประมาณ 5 ท่า เช่น ท่าสาทร ท่าช้าง ท่านนทบุรี ท่าพรานนก เป็นต้น”