“มนพร” สั่งทำท่าเรือระบบปิด ติดตั้งประตูกั้น นำร่อง "ท่าเรือสาทร" เพื่อให้ควบคุมพื้นที่เมื่อมีเหตุฉุกเฉินได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทเรียนเหตุกราดยิง "พารากอน" กระทบเชื่อมั่นนักท่องเที่ยว พร้อมตรวจท่าเรือ-โป๊ะ รองรับลอยกระทง สั่งเข้มงวดความปลอดภัยห้ามประมาท
วันที่ 22 พ.ย. 2566 นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายกริชเพชร ชัยช่วย ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า (จท.) ลงเรือตรวจการณ์เจ้าท่า 39 ตรวจความพร้อมความปลอดภัยทางน้ำก่อนเทศกาลลอยกระทง ตามมาตรการเพื่อความปลอดภัยในคืนวันลอยกระทง ประจำปี 2566 โดยได้ลงดูความพร้อมของท่าเทียบเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา เช่น กรมเจ้าท่า ไอคอนสยาม ท่าเรือสาทร เอเชียทีค
นางมนพร เจริญศรี รมช.คมนาคม เปิดเผยว่า ท่าเรือในแม่น้ำเจ้าพระยา ถือเป็นพื้นที่สาธารณะที่เปิดให้บริการแก่ประชาชน แต่หลังจากเกิดเหตุการณ์กราดยิงที่พารากอนได้สร้างผลกระทบต่อความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยต่อประชาชนและนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากนั้น จึงมอบนโยบายให้กรมเจ้าท่าดำเนินการปรับปรุงให้ท่าเรือเป็นระบบปิด โดยนำร่องติดตั้งประตูเปิด-ปิดที่ท่าเรือสาทร เพื่อให้สามารถป้องกันและควบคุมพื้นที่เมื่อมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยต่อประชาชนนักท่องเที่ยวผู้ใช้บริการเดินทางท่องเที่ยวทางน้ำ
“ให้กรมเจ้าท่าจัดทำแผนการติดตั้งประตูเปิด-ปิดท่าเรือที่มีผู้ใช้บริการจำนวนมาก นำร่องที่สาทร และจะขยายไปสู่ท่าเรืออื่นๆ ที่มีความเหมาะสมต่อไป”
นอกจากเรื่องความปลอดภัยแล้ว ได้เน้นการพัฒนาปรับปรุงในเรื่องของความสะอาดและดูแลอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน รวมถึงเจ้าหน้าที่ต้องมีความพร้อมในการอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยให้แก่ผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นจากนโยบายฟรีวีซ่าด้วย
ด้านนายกริชเพชร ชัยช่วย รักษาการอธิบดีกรมเจ้าท่า กล่าวว่า การติดตั้งประตูกั้นพื้นที่ท่าเรือเพื่อดูแลด้านความปลอดภัยแล้วยังป้องกันผู้บุกรุกในช่วงกลางคืนอีกด้วย โดยเลือกท่าเรือสาทรนำร่อง เนื่องจากมีผู้ใช้บริการจำนวนมากเฉลี่ย 5,000 ถึง 8,000 คนต่อวัน แม้จะยังไม่กลับไปเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดที่มีผู้ใช้บริการสูงถึง 30,000 คนต่อวัน แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ยังเชื่อมต่อของล้อ-ราง-เรือ และมีพื้นที่ทางกายภาพที่สามารถดำเนินการได้ทันที ส่วนท่าเรือต่อไปนั้น ขณะนี้กรมเจ้าท่าอยู่ระหว่างประเมินความพร้อมและความเหมาะสมทางด้านจำนวนผู้ใช้บริการ และกายภาพของพื้นที่ เช่น ท่าช้าง ท่าเตียน เป็นต้น
@เข้มงวดความปลอดภัย คืนลอยกระทง ทุกจุดห้ามประมาท
นางมนพรกล่าวว่า สำหรับวันลอยกระทง วันจันทร์ที่ 27 พฤศจิกายน 2566 นั้น ได้สั่งการให้กรมเจ้าท่าเข้มงวดในการกำกับดูแลความปลอดภัยของประชาชน นักท่องเที่ยว และการคมนาคมขนส่งทางน้ำ คาดว่าจะมีประชาชนและนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมากเดินทางร่วมสืบสานประเพณีอันดีงามของไทยบริเวณแม่น้ำ ลำคลองทั่วประเทศ ได้เน้นย้ำกับทุกหน่วยงานดูแลความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ห้ามประมาท โดยเฉพาะการจำกัดจำนวนคนลงสู่โป๊ะ จะต้องไม่ให้เกิดเหตุใดๆ เพราะจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว ซึ่งมั่นใจว่ามาตรการและเจ้าหน้าที่จะดูแลความปลอดภัยได้ตามแผน และกระทรวงคมนาคมได้จัดเตรียมระบบขนส่ง เรือ รถไฟฟ้า และรถเมล์ ให้บริการอย่างเต็มที่ พร้อมทั้งขอความร่วมมือประชาชนในการปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่เพื่อความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่าได้จัดชุดเฉพาะกิจออกตรวจสอบสภาพโป๊ะเทียบเรือและเรือโดยสารแล้ว พร้อมจัดตั้งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางน้ำในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จำนวน 50 ศูนย์ เจ้าหน้าที่พร้อมเรือตรวจการณ์ จำนวน 8 ลำ
พร้อมทั้งได้จัดเจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวกบริเวณท่าเทียบเรือโดยสารจำนวน 63 ท่าเรือ ร่วมกับกรุงเทพมหานคร และมูลนิธิต่างๆ ดังนี้ แม่น้ำเจ้าพระยา 53 ท่าเรือ คลองแสนแสบ 7 ท่าเรือ คลองโอ่งอ่าง 1 ท่าเรือ และคลองผดุงกรุงเกษม 1 ท่าเรือ พร้อมจัดตั้งจุดอำนวยความสะดวก และดูแลความปลอดภัยทางน้ำบริเวณ ท่าเทียบเรือที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้บริการหนาแน่นของกรุงเทพมหานคร เช่น ท่าเรือเอเชียทีค, ท่าเรือไอคอนสยาม, ท่าเรือริเวอร์ซิตี้, ท่าเรือคลองโอ่งอ่าง, ท่าเรือหัวลำโพง, ท่าเรือทำเนียบรัฐบาล และท่าเรือพระราม 8 โดยใช้กำลังเจ้าหน้าที่จำนวนทั้งสิ้น 859 คน เรือตรวจการณ์ จำนวน 71 ลำ และรถยนต์ จำนวน 128 คัน และโทรศัพท์สายด่วน กรมเจ้าท่า 1199 ตลอด 24 ชั่วโมง