xs
xsm
sm
md
lg

“ภูมิธรรรม”สั่งลุยเจรจา FTA จับตาปิดดีลคัมมิ่งซูน 3 กรอบ ตั้งเป้าทำ FTA ครอบคลุมการค้า 80% ปี 70

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปัจจุบันประเทศไทยมี FTA กับคู่ค้า รวม 14 ฉบับ 18 ประเทศ ประกอบด้วยสมาชิกกลุ่มอาเซียน 9 ประเทศ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง และมีสัดส่วนการค้า ในปี 2565 คิดเป็น 60.9% ของการค้าไทยกับโลก โดยยังมีการค้าที่ไทยค้าขายกับประเทศคู่ค้าอีกเกือบ 40% เป็นประเทศที่ไทยไม่มี FTA ด้วย แต่คู่แข่งของไทยมี ทำให้ไทยเสียเปรียบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งทางแก้ ไทยต้องเจรจา FTA เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มสัดส่วนการค้าให้ครอบคลุมการค้าให้ได้มากที่สุด

ล่าสุด เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2566 ที่ผ่านมา นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปมอบนโยบายการทำงานให้กับกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ พร้อมด้วยนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คณะที่ปรึกษา และคณะทำงาน นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ โดยมีน.ส.โชติมา เอี่ยมสวัสดิกุล อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ และคณะผู้บริหารกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ให้การต้อนรับ

ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญทำ FTA

นายภูมิธรรมกล่าวในการมอบนโยบายว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) เพื่อขยายโอกาสให้สินค้าและบริการของไทย รวมทั้งดึงดูดการลงทุนจากประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย โดยเฉพาะสาขาเป้าหมายที่จะสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันภายในประเทศ

ทั้งนี้ ได้ขอให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ มุ่งการเจรจาเชิงรุกเพื่อเปิดประตูสู่ตลาดใหม่ ๆ และจัดทำแผนการเจรจา FTA ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดลำดับความสำคัญและเร่งด่วน โดยคำนึงถึงประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและด้านยุทธศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

“การเจรจา FTA มีความสำคัญอย่างมาก เพราะจะช่วยลดอุปสรรคและสร้างแต้มต่อทางการค้าให้กับไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันในเวทีการค้าโลกได้ ดังนั้น การเจรจาต่อรองควรคำนึงถึงความสมดุล ผลดีและผลเสีย โดยเฉพาะกับกลุ่มเกษตรกร และ SMEs ที่เป็นรากฐานของระบบเศษฐกิจ เพื่อให้สามารถมีส่วนร่วมและได้รับประโยชน์จาก FTA ด้วย” นายภูมิธรรมกล่าว

ระวังประเด็นใหม่ ๆ ที่มีมาตรฐานสูง

ในการมอบนโยบาย นายภูมิธรรม ได้เน้นย้ำให้ระวังเรื่องการเจรจา FTA ยุคใหม่ โดยเฉพาะกับประเทศที่พัฒนาแล้ว เพราะจะมีความทันสมัย มีมาตรฐานสูง และมีประเด็นใหม่ ๆ เช่น การค้าดิจิทัล สิ่งแวดล้อม แรงงาน และการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่จะถูกนำมาเชื่อมโยงกับการค้ามากขึ้น เช่น กรณีการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา ไทยได้รับผลกระทบจากมาตรฐานที่เข้มข้นของต่างประเทศ รัฐบาลจึงต้องทบทวนพิจารณาความเหมาะสมและเร่งแก้ไขผลกระทบให้กลุ่มชาวประมง เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้ติดตามพัฒนาการเศรษฐกิจการค้าโลกให้ทันต่อสถานการณ์ โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากสงครามและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

อย่าลืมดูแลเกษตรกร-SMEs

สำหรับการเจรจา FTA ที่จะช่วยสร้างประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการของไทย แต่ห้ามลืมที่จะดูแลกลุ่มเกษตรกร และผู้ประกอบการ SMEs โดยต้องได้รับการสนับสนุนให้สามารถพัฒนาศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และพิจารณาแนวทางเยียวยาผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งต้องเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้สามารถนำผลจากการเจรจาไปใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม และควรบูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานทั้งภายในและนอกกระทรวงพาณิชย์ เพื่อความเป็นเอกภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศ

เร่ง FTA ที่กำลังเจรจาอยู่ให้สำเร็จ

นายภูมิธรรมกล่าวว่า ปัจจุบันไทยอยู่ระหว่างการเจรจา FTA กับคู่ค้าสำคัญหลายประเทศ เช่น ไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ไทย-ศรีลังกา และไทย-สมาคมการค้าเสรีแห่งยุโรป (เอฟตา) ที่จะต้องเร่งปิดดีลการเจรจาให้ได้ตามเป้าหมาย และ FTA ที่อยู่ระหว่างการเจรจาอย่างไทย-สหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ มีประชากรมากกว่า 447 ล้านคน เป็นกลุ่มประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม และเป็นนักลงทุนในระดับโลก ก็ต้องเจรจาด้วยความระมัดระวัง และยึดหลักให้เกิดประโยชน์กับไทยมากที่สุด

ส่วน FTA ที่จะเปิดเจรจาใหม่ เช่น ไทย-เกาหลีใต้ ที่อยู่ในแผนเปิดการเจรจาเพิ่มเติมในปี 2567 ถือเป็น FTA ที่จะเกิดประโยชน์กับไทย ทั้งในด้านการค้า และความร่วมมือ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีความเข้มแข็งในการผลักดัน Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล


กรมเจรจาฯ รับลูก

ภายหลังรับนโยบาย น.ส.โชติมา ได้รายงานแผนการทำงาน ว่า กรมจะเดินหน้าภารกิจในการเจรจาขยายโอกาสทางเศรษฐกิจและการค้า ผ่านการจัดทำ FTA กับประเทศต่าง ๆ ตามนโยบายที่ได้รับ และยังจะจัดการประชุมหารือกับประเทศคู่ค้า เพื่อสร้างพันธมิตรด้านเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาอุปสรรคทางการค้า โดยเฉพาะการเจรจาในกรอบคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ตลอดจนเข้าร่วมประชุมเจรจาในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาค เช่น เอเปก และอาเซียน และระดับพหุภาคีขององค์การการค้าโลก (WTO)

นอกจากนี้ จะลงพื้นที่สร้างความรู้ความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รวมทั้งกลุ่มเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการ ผ่านการจัดกิจกรรมสร้างเครือข่าย การเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการจัดงานแสดงสินค้า FTA Fair รวมทั้งให้คำปรึกษาด้านการค้าผ่าน FTA/RCEP Center

ส่วนการดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากการเจรจา FTA กรมอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการจัดตั้ง “กองทุน FTA” เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกัน ได้เร่งส่งเสริมธรรมาภิบาลในองค์กร และการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้บริการต่อผู้ประกอบการและประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพ

เปิด 3 FTA ที่ใกล้ปิดดีล

สำหรับสถานการณ์การเจรจา FTA ล่าสุด กรอบไทย-ยูเออี มีความคืบหน้ากว่า 80% ไปแล้ว ซึ่งตามเป้าหมาย ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะสรุปผลให้ได้ก่อนที่จะสิ้นปี 2566 ซึ่งขณะนี้ยังมีเวลา ที่คณะกรรมการเจรจาการค้าของ 2 ฝ่ายจะเดินหน้าหาข้อสรุปกันให้ได้

โดย FTA ไทย-ยูเออี ผลการศึกษา พบว่า จะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัว มูลค่า 318-357 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 11,136-12,499 บาท) และการส่งออกของไทยในภาพรวม ขยายตัวมูลค่า 190-243 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 6,652-8,508 ล้านบาท) และสินค้าที่คาดว่าไทยจะส่งออกไปยูเออีได้มากขึ้น เช่น สินค้าอาหาร สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากหนังสัตว์ ไม้ ยาง พลาสติก เคมีภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์และชิ้นส่วน ส่วนสาขาบริการที่คาดว่าจะมีธุรกรรมระหว่างกันเพิ่มขึ้น เช่น การขนส่ง การเงิน และบริการด้านธุรกิจ

ส่วน FTA ต่อมาที่ใกล้จะสำเร็จ ก็คือ ไทย-ศรีลังกา ที่ขณะนี้ได้เจรจากันไปแล้ว 8 รอบ มีความคืบหน้ากว่า 90% โดยเตรียมนัดประชุมครั้งสุดท้ายเดือน ธ.ค.2566 นี้ ที่ศรีลังกา จะเป็นเจ้าภาพ และคาดว่าจะสรุปผลการเจรจากันได้ โดยทั้งสองฝ่ายมีเเผนจะลงนามความตกลงในช่วงต้นเดือน ก.พ.2567 ในโอกาสฉลองวันครบรอบวันประกาศอิสรภาพของศรีลังกา ตามเจตนารมณ์ของประธานาธิบดีศรีลังกา

โดย FTA ไทย-ศรีลังกา มีผลการศึกษาว่า ศรีลังกาแม้จะเป็นประเทศขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 22 ล้านคน แต่มีจุดเด่นด้านที่ตั้งเป็นเกาะในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของการขนส่งทางเรือ อีกทั้งยังมีทรัพยากรธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ เช่น แร่รัตนชาติ และอาหารทะเล โดยการจัดทำ FTA จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.02% มูลค่า 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งขยายการลงทุนและขยายมูลค่าการส่งออกของไทยไปศรีลังกา สินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้า โลหะ น้ำตาล และพลาสติก ส่วนอุตสาหกรรมที่ไทยสามารถขยายการลงทุนในศรีลังกา อาทิ อาหารแปรรูป ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และอัญมณีและเครื่องประดับ

ขณะที่ FTA สุดท้ายที่ใกล้จะปิดดีล คือ ไทย-เอฟตา ที่ขณะนี้ได้มีการเจรจากันไปแล้ว 7 รอบ การเจรจามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง และทั้งสองฝ่ายได้กำหนดให้มีการประชุมกันอีก 3 ครั้ง ในช่วงเดือน ม.ค. มี.ค. และเม.ย.2567 และตั้งเป้าสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในกลางปี 2567

โดย FTA ไทย-เอฟตา มีผลการศึกษาว่า จะช่วยให้จีดีพีของไทยเพิ่มขึ้น 0.179% หรือประมาณ 886.40 ล้านดอลลาร์สหรัฐ การส่งออกของไทยไปเอฟตา เพิ่มขึ้น 0.142% หรือประมาณ 405.26 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และการนำเข้าของไทยจากเอฟตา เพิ่มขึ้น 0.224% หรือประมาณ 615.10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และสินค้าที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดหวาน อาหารสำเร็จรูป อาหารสุนัขและแมว ผลไม้เมืองร้อน ไก่แปรรูป น้ำตาลและผลิตภัณฑ์ เครื่องแต่งกาย ยานยนต์และชิ้นส่วน และอัญมณีและเครื่องประดับ สำหรับภาคบริการที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์ เช่น การท่องเที่ยว การเงิน โทรคมนาคม การแพทย์และสุขภาพ พลังงานสะอาด และด้านวิชาชีพ

FTA ไทย-อียูนับหนึ่งเจรจาแล้ว

ทางด้านการเจรจา FTA ไทย-อียู ซึ่งเป็น FTA ที่หลายฝ่ายต่างจับตามอง เพราะอียู เป็นตลาดใหญ่ และเป็นตลาดที่สำคัญของไทย ได้มีการคิกออฟการเจรจาไปแล้ว เมื่อเดือน ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ณ กรุงบรัสเซลล์ เบลเยี่ยม และได้เริ่มนับหนึ่งการเจรจาไปแล้วเช่นเดียวกัน

โดยกรอบการเจรจาประกอบด้วยการประชุมระดับหัวหน้าคณะผู้แทน ซึ่งกำกับดูแลการเจรจาในภาพรวม และการประชุมกลุ่มย่อยระดับผู้เชี่ยวชาญ 19 คณะ ได้แก่ 1.การค้าสินค้า 2.กฎถิ่นกำเนิดสินค้า 3.พิธีการศุลกากรและการอำนวยความสะดวกทางการค้า 4.มาตรการเยียวยาทางการค้า 5.มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 6.อุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้า (TBT) 7.การค้าบริการและการลงทุน 8.การค้าดิจิทัล 9.ทรัพย์สินทางปัญญา 10.การแข่งขันและการอุดหนุน 11.การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ 12.การค้าและการพัฒนาที่ยั่งยืน 13.วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) 14.รัฐวิสาหกิจ 15.พลังงานและวัตถุดิบ 16.ระบบอาหารที่ยั่งยืน 17.ความโปร่งใสและหลักปฏิบัติที่ดีด้านกฎระเบียบ 18.การระงับข้อพิพาท และ 19.บทบัญญัติเบื้องต้น บทบัญญัติทั่วไป บทบัญญัติสุดท้าย บทบัญญัติเกี่ยวกับสถาบัน และข้อยกเว้น

สำหรับการประชุมครั้งต่อไป ไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 22-26 ม.ค.2567 ณ กรุงเทพฯ และกำหนดให้มีการเจรจาอีก 2 รอบ ในปี 2567 หรืออาจเพิ่มเติมระหว่างรอบ เพื่อให้สามารถสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายใน 2 ปี หรือปี 2568

ที่ผ่านมา สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) ได้ประเมินประโยชน์และผลกระทบเบื้องต้นของการจัดทำ FTA ไทย-อียู คาดว่าจะช่วยให้จีดีพีของไทยขยายตัว 1.28% ต่อปี การส่งออกเพิ่มขึ้น 2.83% ต่อปี การนำเข้าเพิ่มขึ้น 2.81% ต่อปี รวมทั้งจะช่วยสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ การจ้างงานของไทย และสร้างแต้มต่อทางการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการไทยในตลาดอียู ขณะเดียวกันจะช่วยยกระดับมาตรฐานกฎระเบียบในเรื่องที่เกี่ยวข้อง เช่น ทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ให้เป็นสากลมากขึ้น

เป้าปี 70 ทำ FTA ครอบคลุมการค้า 80%

ขณะที่แผนการเจรจา FTA กับประเทศใหม่ ๆ ของกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ขณะนี้มีทั้งที่อยู่ระหว่างการศึกษา และอยู่ระหว่างการเริ่มต้นกระบวนการเจรจา โดยมีเป้าหมายใหญ่ คือ การเพิ่มสัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่มี FTA เพิ่มขึ้นเป็น 80% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วน 60.9% และกำลังจะเพิ่มเป็น 66.7% หาก FTA 3 ฉบับที่อยู่ระหว่างการเจรจาประสบความสำเร็จ โดยได้สัดส่วนการค้าเพิ่มจากยูเออี 3.5% เอฟตา 2% และปากีสถาน 0.3%

ส่วนสัดส่วนการค้าที่เหลือ ที่จะไปสู่เป้าหมาย 80% มี FTA ที่อยู่ในแผนการเจรจา ได้แก่ ไทย-อียู มีสัดส่วนการค้า 7% อาเซียน-แคนาดา สัดส่วนการค้า 0.6% ไทย-ตุรกี สัดส่วนการค้า 0.3% ไทย-ปากีสถาน สัดส่วนการค้า 0.3% ไทย-กลุ่มพันธมิตรแปซิฟิก สัดส่วนการค้า 1.1% ไทย-กลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ (GCC) สัดส่วนการค้า 6.7% ไทย-เมอร์โคซูร์ สัดส่วนการค้า 1.3% ไทย-เกาหลีใต้ สัดส่วนการค้า 2.6% และไทย-ภูฏาน ที่มีสัดส่วนการค้าน้อยมาก แต่เป็นประเทศที่มีโอกาสขยายตลาดได้สูง

ทั้งนี้ เป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการค้าเป็น 80% ในปี 2570 ดูแล้วไม่น่าจะไกลเกินจริง เพราะขาดอีกเพียง 13.3% และไม่น่าจะใช้เรื่องยาก เพราะรวม FTA ที่อยู่ในแผนการเจรจาทั้งหมด บวก ลบ คูณ หาร กันแล้ว สัดส่วนการค้าน่าจะเกินกว่า 13.3% เผลอ ๆ หากทำสำเร็จได้ทั้งหมด สัดส่วนการค้าของไทยกับประเทศที่ไทยมี FTA ด้วย น่าจะทะลุ 80% เลยด้วยซ้ำ

นั่นหมายความว่า ในเรื่องการค้าขาย ไทยจะไม่แพ้ชาติใดในโลกอีกต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น