ส่งออก ต.ค.66 ฟื้นตัว 3 เดือนติด ทำได้มูลค่า 23,578.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 8% ขยายตัวสูงสุดรอบ 13 เดือน คาดอีก 2 เดือนที่เหลือ การส่งออกจะเป็นบวกต่อเนื่อง ดันยอดทั้งปีติดลบเหลือ 1% จากช่วง 10 เดือน ติดลบ 2.7%
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ต.ค.2566 มีมูลค่า 23,578.8 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 8% เป็นบวกต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน และสูงสุดในรอบ 13 เดือน นับจากเดือนก.ย.2565 เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 841,365.8 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 24,411.1 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.2% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 881,124.2 ล้านบาท ขาดดุลการค้ามูลค่า 832.3 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 39,758.4 ล้านบาท รวมการส่งออก 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) มีมูลค่า 236,648.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 2.7% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 8,109,765.6 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 243,313.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.6% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 8,439267.8 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 6,665.0 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 329,502.1 ล้านบาท
สำหรับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น มาจากการเพิ่มขึ้นของสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร 9.3% โดยสินค้าเกษตร เพิ่ม 12.3% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เพิ่ม 5.9% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง อาหารสุนัขและแมว ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง สิ่งปรุงรสอาหาร ผักกระป๋องและผักแปรรูป ส่วนสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น ยางพารา อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไก่แปรรูป น้ำตาลทราย ทั้งนี้ 10 เดือนของปี 2566 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ลด 1%
ส่วนสินค้าอุตสาหกรรม เพิ่ม 5.4% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) เครื่องโทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์ และไดโอด หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าสำคัญที่ลดลง เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ ทั้งนี้ 10 เดือนของปี 2566 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ลด 2.8%
ทางด้านการส่งออกไปยังหลายตลาดสำคัญ ตลาดหลัก เพิ่ม 5.1% โดยสหรัฐฯ เพิ่ม 13.8% จีน เพิ่ม 3.4% และอาเซียน (5) เพิ่ม 16.5% ส่วนญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (27) และ CLMV ลด 1.1% 1.4% และ 9.7% ตามลำดับ ตลาดรอง เพิ่ม 10.6% โดยขยายตัวในตลาดเอเชียใต้ 7.2% ทวีปออสเตรเลีย 13.7% แอฟริกา 24.5% ลาตินอเมริกา 8.6% และรัสเซียและกลุ่ม CIS 77.2% ส่วนตะวันออกกลางและสหราชอาณาจักร ลด 3% และ 11.4% ขณะที่ตลาดอื่น ๆ เพิ่ม 109.6% เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 135.1%
นายกีรติกล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกในช่วงที่เหลืออีก 2 เดือน คือ พ.ย.-ธ.ค.2566 คาดว่าจะยังขยายตัวเป็นบวกได้ และจะทำให้การส่งออกของไทยในปีนี้ ติดลบน้อยลงจากปัจจุบันที่ 10 เดือน ติดลบ 2.7% โดยคาดว่าจะติดลบประมาณ 1% หรือ 1% นิด ๆ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าที่หลายสำนักได้คาดการณ์เอาไว้ แต่จะให้กลับมาเป็นบวก คงยาก เพราะได้ทำอย่างเต็มที่แล้ว โดยเฉพาะการร่วมมือกับภาคเอกชนในการบุกเจาะตลาด การแก้ไขปัญหาทางการค้า ทำให้การส่งออกฟื้นตัวดีขึ้นมาได้ต่อเนื่อง ส่วนเป้าปี 2567 เบื้องต้นประเมินไว้ที่ 2% แต่ตัวเลขที่แท้จริง ต้องรอผลการส่งออก 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ก่อน คาดว่าจะประกาศตัวเลขทางการได้เดือนม.ค.2567