GULF ตั้งเป้ารายได้ปี 67 โตขึ้นกว่า 30% จากปีนี้ ตามกำลังผลิตโรงไฟฟ้าหลายโครงการที่ทยอย COD เพิ่มราว 2,500 เมกะวัตต์ พร้อมอัดงบลงทุน 2 หมื่นล้านบาทเร่งลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเพื่อให้บรรลุเป้าหมายมีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้มากกว่า 30% ในปี 2578 จากปัจจุบันอยู่ที่ 8%
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) เปิดเผยว่า ในปี 2567 บริษัทตั้งเป้ารายได้เติบโตขึ้นมากกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีนี้ที่คาดว่าจะมีรายได้เติบโต 50% จากปี 2565 ที่มีรายได้รวม 95,076 ล้านบาท เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าหลายโครงการที่จ่ายไฟเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มขึ้นราว 2,500 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบด้วย โรงไฟฟ้า GPD หน่วยที่ 3 และ 4 กำลังผลิต 1,325 MW คาด COD มีนาคมและตุลาคม 2567 โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ยูนิต 1 กำลังผลิต 770 MW จะ COD เดือนมีนาคม 2567 โครงการโซลาร์รูฟท็อป 100 MW โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในไทย 160 MW เริ่ม COD ในปลายปี 2567 และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์พ่วงแบตเตอรี่ในไทย 135 MW เริ่ม COD สิ้นปี 2567
ส่วนผลดำเนินงานในไตรมาส 4/2566 บริษัทจะมีผลประกอบการเป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากโรงไฟฟ้า GPD ยูนิต 2 เริ่มจ่ายไฟเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2566 โครงการ BKR2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังลมในทะเลประเทศเยอรมนี จะมีผลประกอบการที่ดีขึ้น เนื่องจากไตรมาส 4 เป็นช่วงไฮซีซันของโรงไฟฟ้าพลังลมเช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังลมในไทยที่ GULF ร่วมทุนกับกันกุล
ขณะเดียวกันราคาก๊าซฯ เฮนรีฮับที่ปรับตัวสูงขึ้นในตลาดโลก ทำให้โรงไฟฟ้าก๊าซฯ Jackson ที่สหรัฐฯ มีกำไรเพิ่มขึ้น และโครงการโซลาร์รูฟท็อปจะดำเนินการเพิ่มอีก 30 เมกะวัตต์ด้วย ดังนั้น ค่าไฟฟ้าที่ปรับลดลงในช่วง ก.ย.-ธ.ค. 2566 ตามนโยบายรัฐอยู่ที่หน่วยละ 3.99 บาทนั้น บริษัทจึงจะไม่กระทบต่อผลดำเนินงานในไตรมาส 4 นี้ เนื่องจากต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติก็ปรับลดลงเช่นกันไม่เกิน 330 บาท/ล้านบีทียู เมื่อเทียบกับค่า Ft ที่ลดลง โดย GULF มีการขายไฟฟ้า SPP ให้กับภาคอุตสาหกรรมน้อยมากเพียง 8% ดังนั้นไตรมาส 4/2566 จึงมีผลประกอบการเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้
นางสาวยุพาพินกล่าวต่อไปว่า บริษัทมีนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้นบริษัทจึงเน้นการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น โดยตั้งเป้าหมายในปี 2576 จะมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 30% ของกำลังผลิตไฟฟ้ารวม จากปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเพียง 8% และในปี 2578 จะมีสัดส่วนกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 30% ดังนั้น บริษัทตั้งงบลงทุน 5 ปีข้างหน้า (2567-2571) อยู่ที่ 90,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนคิดเป็นสัดส่วน 80% ของงบลงทุน เน้นลงทุนทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำ โครงการโซลาร์ฟาร์ม โครงการโซลาร์พ่วงแบตเตอรี่ โรงไฟฟ้าพลังลมทั้งในไทย และต่างประเทศ
ส่วนในปี 2567 GULF กำหนดงบลงทุนไว้ที่ 20,000 ล้านบาท ใช้ลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 60% โครงการโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง เช่น โครงการโรงไฟฟ้า GPD ยูนิต 3-4 โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง ยูนิต 1 ราว 30% โครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่นมอเตอร์เวย์ ราว 3% และที่เหลือในโครงการดาต้า เซ็นเตอร์ คาดว่าจะเปิดดำเนินการในปี 2568
โครงการดาต้า เซ็นเตอร์ มีมูลค่าโครงการ 10,000 ล้านบาท GULF ถือหุ้น 40% โครงการดาตา เซ็นเตอร์ สร้างรายได้ปีละ 2,000-2,500 ล้านบาท ทำกำไรราว 400-500 ล้านบาท คาดว่าบริษัทจะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นราว 200 ล้านบาท
ส่วนความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว จำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 3,142 MW ได้แก่ โครงการหลวงพระบาง ขนาด 1,460 MW, โครงการปากลาย 770 MW และโครงการปากเบง 912 MW ปัจจุบันมีความคืบหน้าด้านการก่อสร้างตามแผน กำหนด COD ในปี 2573-2576 คาดว่าบริษัทจะรับรู้กำไรตามสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ที่ประมาณ 3,500-4,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนโครงการโซลาร์ฟาร์มพ่วงแบตเตอรี่ รวม 649 MW กำหนด COD ในปี 2567-2568 จะรับรู้กำไรประมาณ 950-1,000 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ในปลายปี 2566 บริษัทจะลงนามสัญญา PPA เพิ่มเติมอีก 700 MW ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมที่ชลบุรี รวม 16 MW กำหนด COD ปี 2569 คาดรับรู้กำไรประมาณ 100 ล้านบาทต่อปี
ดังนั้น ในปี 2567 บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นกู้จำนวน 3-3.5 หมื่นล้านบาท หลังจากปี 2566 บริษัทได้เสนอขายหุ้นกู้ไปแล้ว 2 ครั้งรวม 3.5 หมื่นล้านบาทเพื่อรีไฟแนนซ์หุ้นกู้ที่ครบกำหนด และใช้สำหรับการขยายธุรกิจต่อไป
นางสาวยุพาพินกล่าวต่อไปว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ของบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนของบริษัท กัลฟ์ อินโนวา จำกัด (Gulf Innova) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทถือหุ้นในสัดส่วน 100% นั้น บริษัทขอแจ้งให้ทราบว่า Gulf Binance ได้รับอนุญาตจากทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (สำนักงาน ก.ล.ต.) ให้สามารถเริ่มประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566
ทั้งนี้ แพลตฟอร์มสินทรัพย์ดิจิทัลของ Gulf Binance จะเปิดให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และนายหน้าสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Broker) ของทั้งคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) และโทเคนดิจิทัล (Digital Token) ซึ่งมุ่งเน้นความปลอดภัย และการปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเปิดให้ผู้ใช้งานที่ได้รับการเชิญเท่านั้น (by invitation only) ก่อน และมีกำหนดจะเปิดเป็นการทั่วไปในช่วงต้นปี 2567
ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ หรือโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) อภิเมกะโปรเจกต์ของรัฐ ทาง GULF สนใจที่จะร่วมลงทุนโดยอยู่ระหว่างการศึกษาติดตามดูอยู่ว่าภาครัฐมีนโยบายเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนเหมาะสมกับการลงทุนมากน้อยแค่ไหน ส่วนบริษัทจะเข้าลงทุนหรือไม่ขึ้นกับข้อกำหนดของภาครัฐ