xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” เล็งเทียบเชิญ 20 บริษัทเอกชนสหรัฐฯ โรดโชว์ร่วมลงทุน "แลนด์บริดจ์" ช่วงประชุมเอเปก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“สุริยะ” พร้อมบินร่วมคณะ "นายกฯ" ประชุมเอเปก 11 พ.ย.นี้ เล็งเทียบเชิญ 20 บริษัทเอกชนสหรัฐฯ หารือแผนลงทุน "แลนด์บริดจ์" ขณะที่ “เอกอัครราชทูตเยอรมนี”เข้าพบ ได้นำเสนอข้อมูล พร้อมสานต่อความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งระหว่างกัน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 11 พ.ย. 2566 ตนจะร่วมเดินทางกับคณะ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อไปในการประชุมสุดยอดกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปก (APEC) ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้เชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือแลนด์บริดจ์พร้อมสมบูรณ์แล้ว ซึ่งเชื่อว่านักลงทุนจะได้รับทราบถึงผลประโยชน์ที่จะได้จากโครงการนี้ และตอนนี้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็ช่วยกันที่จะชักชวนบริษัทในสหรัฐฯ เกือบ 20 บริษัท

“ที่ผ่านมาโครงการนี้มีนักลงทุนจากหลากหลายประเทศให้ความสนใจ ทั้งฝรั่งเศส, ตะวันออกกลาง, จีน ส่วนในอเมริกาเริ่มส่งข้อมูลไปแล้ว เชื่อว่าโครงการนี้นักลงทุนจะได้ผลตอบแทนที่ดีแน่นอน” นายสุริยะกล่าว


@"สุริยะ" หารือ “เอกอัครราชทูตเยอรมนี” สนใจแลนด์บริดจ์ และสานต่อความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง

นอกจากนี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ได้ให้ H.E. Mr. Ernst Wolfgang Reichel เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย และคณะเข้าพบ เพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่ง โดยมี นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายปัญญา ชูพานิชย์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ร่วมหารือ ที่กระทรวงคมนาคม

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ กล่าวว่า ไทยและเยอรมนีมีความร่วมมือด้านคมนาคมขนส่งที่สำคัญ ได้แก่ 1. ความร่วมมือด้านระบบรางภายใต้แถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนง (JDI) ว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงดิจิทัลและคมนาคมแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ซึ่งทั้งสองฝ่ายได้มีการดำเนินการร่วมกัน เช่น การจัดตั้งสมาคมระบบรางเยอรมัน-ไทย (German-Thai Railway Association: GTRA) เพื่อเป็นช่องทางในการแลกเปลี่ยนความรู้ การพัฒนาบุคลากรและการวิจัยต่างๆ รวมทั้งขับเคลื่อนความร่วมมือด้านระบบรางให้มีความยั่งยืนและเป็นรูปธรรม ความร่วมมือทางวิชาการ โดยมีการจัดตั้งหลักสูตรปริญญาโทร่วม ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน โดยความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัย RWTH-Aachen แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยมหิดลและ TU-Dresden ความร่วมมือระหว่างบริษัทสัญชาติเยอรมันในไทยและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการวิจัย การพัฒนาเทคโนโลยี รวมถึงการพัฒนาองค์ความรู้และบุคลากร โดยมีภาคอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัย ผู้ประกอบการด้านรถไฟฟ้า และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม


2. โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ด้านพลังงาน คมนาคม และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือเพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและการขนส่งอย่างยั่งยืนอีกหลายโครงการ ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีกรอบแนวทางพัฒนาด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น Green Transport เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์และ PM 2.5 โดยเน้นย้ำให้ดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการใช้พลังงานทางเลือกในระบบการเดินทางและขนส่งทั้งในรถโดยสารสาธารณะ รถไฟ เรือโดยสารและระบบการขนส่งต่างๆ รวมทั้งการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการจราจร

นอกจากนี้ ในการหารือได้มีการนำเสนอถึงโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (ชุมพร-ระนอง) หรือที่เรียกกันว่า โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) โครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการด้านคมนาคมขนส่งในทุกมิติ ทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลให้เกิดผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน มีประสิทธิภาพ มีความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม




กำลังโหลดความคิดเห็น