เงินเฟ้อ ต.ค.66 ติดลบ 0.31% ปรับลดครั้งแรกรอบ 25 เดือน เหตุสินค้ากลุ่มพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพรัฐ สินค้ากลุ่มอาหาร ทั้งเนื้อสุกร ผักสด ราคาถูกกว่าปีก่อน ย้ำไม่ต้องกังวล ไม่มีสัญญาณลบอะไร ยอดรวม 10 เดือน เพิ่ม 1.60% คาดเดือน พ.ย. ลดอีก หลังสินค้ามีแนวโน้มชะลอตัว
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ต.ค.2566 เท่ากับ 107.72 เทียบกับ ก.ย.2566 ลดลง 0.28% เทียบกับเดือน ต.ค.2565 ลดลง 0.31% เป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกในรอบ 25 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการลดลงของราคาสินค้ากลุ่มพลังงาน และสินค้าอุปโภคบริโภค เนื่องจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล และราคาสินค้ากลุ่มอาหาร เช่น เนื้อสุกร และผักสด ที่ราคาต่ำกว่าปีที่แล้ว ส่วนเงินเฟ้อเฉลี่ย 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) เพิ่มขึ้น 1.60%
“เงินเฟ้อเดือน ต.ค.2566 ที่กลับมาติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 25 เดือนนั้น ไม่ได้มีสัญญาณอะไร และไม่ต้องกังวล เพราะเป็นการลดลงจากสินค้าหมวดสำคัญ อย่างพลังงาน และสินค้าที่ปรับลดลงจากมาตรการลดค่าครองชีพของรัฐบาล ขณะที่ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก ฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และการคาดการณ์เศรษฐกิจของไทย ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ไม่มีปัญหาอะไร และเรื่องเงินฝืด ก็ยิ่งไม่ต้องกังวล ไม่มี”นายพูนพงษ์กล่าว
สำหรับรายละเอียดเงินเฟ้อเดือนต.ค.2566 ที่ลดลง 0.31% มาจากการลดลงของหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.65% ตามการลดลงของราคาเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อสุกร และไก่สด โดยเฉพาะเนื้อสุกรที่ผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก เนื่องจากเกษตรกรเร่งระบายสุกรในช่วงที่ขายได้ราคา แม้ว่ายังไม่ครบอายุการเลี้ยง ผักสด เช่น ต้นหอม ผักบุ้ง แตงกวา ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก เนื่องจากสภาพภูมิอากาศเอื้อต่อการเพาะปลูกมากกว่าปีที่ผ่านมา และน้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) และมะขามเปียก ราคาลดลงต่อเนื่องตามราคาต้นทุนวัตถุดิบ ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ไข่ไก่ นมถั่วเหลือง ผลไม้สด (แตงโม มะละกอสุก กล้วยน้ำว้า) รวมถึงกาแฟผงสำเร็จรูป กับข้าวสำเร็จรูป และอาหารกลางวัน
ส่วนหมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 0.09% ตามการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน (ค่ากระแสไฟฟ้า กลุ่มน้ำมันดีเซล) สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน น้ำยาปรับผ้านุ่ม) เครื่องใช้ไฟฟ้า (พัดลม เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า) ราคาลดลงต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ส่วนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น เช่น ค่าโดยสารเครื่องบิน กลุ่มน้ำมันเบนซิน กลุ่มแก๊สโซฮอล์ และค่าของใช้ส่วนบุคคล (แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน กระดาษชำระ) ราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากโปรโมชัน รวมถึงค่าแต่งผมชาย/สตรี ค่ายา (ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดลดไข้) บุหรี่ สุรา และไวน์ ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย
ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ต.ค.2566 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.08% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ย.2566 และเพิ่มขึ้น 0.66% เมื่อเทียบกับเดือน ต.ค.2565 รวม 10 เดือนเพิ่มขึ้น 1.41%
นายพูนพงษ์กล่าวว่า แนวโน้มเงินเฟ้อเดือน พ.ย.2566 คาดว่าจะปรับลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนพ.ย.2565 ตามราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น เนื้อสัตว์ เครื่องประกอบอาหาร ที่ปรับตัวลดลง และกลุ่มพลังงาน เช่น ไฟฟ้า น้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงสินค้าอุปโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพหลายรายการ ปรับลดลงตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล และต้นทุนการผลิตที่ปรับลดลง ส่งผลให้ต้นทุนสินค้าไม่เพิ่มขึ้น ประกอบกับฐานราคาในช่วงเดียวกันของปี 2565 อยู่ระดับสูง ทำให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลง
ทั้งนี้ เงินเฟ้ออาจจะได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของการท่องเที่ยว การส่งออก และราคาสินค้าเกษตรสำคัญ ทั้งข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และยางพารา ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้รายได้เกษตรกร และค่าจ้างเฉลี่ยอยู่ในระดับดี รวมทั้ง สถานการณ์อุปทานพลังงานที่ยังตึงตัว จากมาตรการจำกัดการผลิตและส่งออกน้ำมันของผู้ผลิตรายสำคัญของโลก และความขัดแย้งในต่างประเทศ โดยกระทรวงพาณิชย์ ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2566 อยู่ระหว่าง 1.0–1.7% ค่ากลาง 1.35% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน