ภาคอุตสาหกรรมร่วมลดโลกร้อน จัดสัมมนาการใช้วัสดุโพลียูรีเทนโฟมอย่างยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หวังเดินตามสนธิสัญญามอนทรีออล ลดการใช้สารไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน (HFC) เริ่ม 1 ม.ค. 67 ห้ามใช้สาร HFC 141b ทั้งหมดในอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน
นายศุภกิจ บุญศิริ รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นประธานร่วมในพิธีเปิดสัมมนา Polyurethane Safety Handling for sustainability ว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในการดำเนินงานตามพันธกรณี ภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ในการลดและเลิกใช้สารที่ทำลายชั้นบรรยากาศ โอโซน เช่น สารไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (HCFCs) เป็นต้น โดยดำเนินการใน 2 ระยะแล้ว ซึ่งได้รับเงินช่วยเหลือแบบให้เปล่าจากกองทุนพหุภาคีภายใต้พิธีสารมอนทรีออล ผ่านธนาคารโลก ระยะแรกให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการไทย ในระยะแรกจำนวน 45 ราย ระยะที่ 2 ได้ดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดใหญ่ และกลาง จำนวน 5 ราย เพื่อปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตไปใช้สารทดแทนใหม่ ที่ไม่ทำลายชั้นบรรยากาศโอโซน และมีค่าศักยภาพที่ทำให้โลกร้อนต่ำ
นายศุภกิจกล่าวว่า กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ความสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยในภาคอุตสาหกรรมการผลิตโฟมทุกประเภทในการปรับเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีการผลิตให้ก้าวทันระดับสากลโดยคำนึงถึงความปลอดภัย สิ่งแวดล้อมและสังคม และเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีดังกล่าว จึงเห็นควรจัดสัมมนา Polyurethane Safety Handling for sustainability เพื่อส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาองค์ความรู้ การดำเนินงานด้านความปลอดภัยอย่างยั่งยืนสำหรับการใช้โพลียูรีเทนโฟม เพื่อนำไปใช้ประกอบในกระบวนการผลิตโฟมแบบฉีดพ่นต่อไป
นายชัยวัฒน์ นิยมการ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สืบเนื่องจากสนธิสัญญามอลทรีออล ฉบับแก้ไข ณ กรุงคิกาลี ประเทศไทยได้ให้คำมั่นสัญญาในการลดภาวะโลกร้อน และการลดการใช้สารไฮโดรฟลูโอโรคาร์บอน โดยตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไปจะห้ามใช้สาร HCFC 141b ทั้งหมดในอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีความมั่นใจและได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้ ทางธนาคารโลกร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมและธนาคารออมสินได้สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณและบุคลากร ผ่านทางกลุ่มย่อยอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผู้ผลิตสารโพลียูรีเทนได้พัฒนาสูตรใหม่ใช้สารชนิดใหม่ที่มีค่า ODP ต่ำลงหรือเป็นศูนย์ โดยได้รับการสนับสนุนในการพัฒนาสาร Blowing agent ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากผู้ผลิต อีกทั้งผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องฉีดก็ได้สนับสนุนการพัฒนาปรับแต่งเครื่องฉีดให้เหมาะสม
นายชัยวัฒน์กล่าวว่า ดังนั้น ทางกลุ่มย่อยอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้เห็นสมควรจัดให้มีการสัมมนาทางวิชาการเพื่อสื่อสารให้ผู้ประกอบการผลิตงานโพลียูรีเทน ทั้งสเปรย์โฟม, แผ่นผนังพียู แผ่นหลังคาพียู และอื่นๆ ได้รับข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ในการพัฒนาธุรกิจต่อไป และเพื่อให้เกิดการต่อยอดธุรกิจอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน ทางกลุ่มย่อยอุตสาหกรรมโพลียูรีเทนจึงได้เรียนเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านมาตรฐานอาคารสูง/อาคารขนาดใหญ่ เช่น โรงแรม โรงพยาบาล คอนโดมิเนียม มาให้ความรู้เรื่อง Construction material guidelines for sustainability; Green Building ซึ่งมีการเริ่มให้ในต้นปี 2566 และจะเป็นการยกระดับมาตรฐานอาคารซึ่งโพลียูรีเทนเป็นวัสดุที่สามารถขยายเข้าไปในตลาดนี้ได้
อนึ่ง ความปลอดภัยก็เป็นรากฐานสำคัญที่ละเลยมิได้ จึงเป็นหัวข้อสำคัญที่ต้องกล่าวถึงและเน้นย้ำ โดยนอกเหนือจากการนำเสนอเรื่อง PU Material Safety Handling in Construction Application : Spray Foam and Insulation Material Wall & Roof panels แล้ว ทางกลุ่มยังได้เพิ่มเติม Basic Safety or Good Practice for Safe work environment, including Occupational Health and Safety (OHS) for Petrochemical Material เพื่อให้เป็นประโยชน์สูงสุดแก่ผู้เข้าร่วมสัมมนาในครั้งนี้อีกด้วย
ขณะที่คุณวรรณวรางค์ แก้วเนียม ประธานกลุ่มย่อยอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน ภายใต้กลุ่มอุตสาหกรรมเคมี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เราได้กำหนดให้มีการจัดสัมมนา 2 ครั้ง ครั้งที่หนึ่ง วันที่ 31 ตุลาคม 2566 ณ โรงแรม Waldorf Astoria Bangkok และครั้งที่สองต้นเดือนธันวาคม, วันสัมมนาครั้งที่สองจะประชาสัมพันธ์ทาง website ของกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยโพลียูรีเทน http://polyurethanethai.com โดยจะจัด ณ โรงแรม Kantary Ayutthaya เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มผู้ประกอบการในจังหวัดภาคกลางตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ