xs
xsm
sm
md
lg

"คมนาคม" ตั้งคณะทำงานฯ หาทางออกปัญหาและลดผลกระทบลูกบ้าน "แอชตัน อโศก" ใน 2 สัปดาห์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"คมนาคม" แต่งตั้งคณะทำงานฯ เร่งแก้ปัญหาและลดผลกระทบให้ประชาชน กรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก ขีดเส้นเร่งศึกษาข้อมูล และข้อเสนอแนะเบื้องต้น ภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนดำเนินการให้แล้วเสร็จตามอำนาจหน้าที่ภายใน 30 วัน

วันที่ 24 ตุลาคม 2566 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนางสาวณภัทรา กมลรักษา ผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ร่วมแถลงข่าวถึงความคืบหน้ากรณีการดำเนินการหาแนวทางแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบให้ประชาชนจากกรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เนื่องจากมีกลุ่มประชาชนผู้พักอาศัยอาคารชุด แอชตัน อโศก ยื่นเรื่องมายังกระทรวงคมนาคมถึงผลกระทบจากกรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก ดังข้อมูลที่ปรากฏทางสื่อสารมวลชนมาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม กรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ให้ใช้พื้นที่สำหรับการดำเนินโครงการอาคารชุดดังกล่าว


นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้สั่งการให้กระทรวงคมนาคมเร่งดำเนินการ หาแนวทางและมาตรการลดผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกรณีอาคารชุดแอชตัน อโศก โดยมีคำสั่งกระทรวงคมนาคมแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาแนวทางในการแก้ไขปัญหาผู้ได้รับผลกระทบการอนุญาตใช้พื้นที่ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อให้เกิดการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงคมนาคม สามารถตอบสนองและแก้ไขปัญหา ลดผลกระทบ ให้แก่ประชาชนได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับคณะทำงานฯ มีนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) เป็นประธาน และเชิญผู้แทนหน่วยงานเข้าร่วมเป็นองค์ประกอบคณะทำงานฯ เช่น อธิบดีกรมการขนส่งทางราง ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ผู้บริหารกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย


โดยจะทำหน้าที่ศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวอย่างครบถ้วน รอบด้าน เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ พร้อมทั้งให้มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางและข้อเสนอแนะ สำหรับแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งคณะทำงานฯ จะเร่งศึกษาข้อมูล ผลกระทบและข้อเสนอแนะแนวทางต่างๆ ในเบื้องต้นภายใน 2 สัปดาห์ ก่อนดำเนินการให้แล้วเสร็จตามอำนาจหน้าที่ภายใน 30 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น